Food Factors อีกก้าวสำคัญ สู่ธุรกิจอาหาร ของ "ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี

Food Factors อีกก้าวสำคัญ สู่ธุรกิจอาหาร ของ "ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี

31 พ.ค. 2019
ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว
เราจะเลือกข้อไหนระหว่าง
การเก็บเกี่ยวผลกำไรจากธุรกิจเดิม
หรือขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่
สำหรับคุณ "ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี"
กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน และกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
เลือกที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่
หากพูดถึงเครือบุญรอด 
เราอาจจะนึกถึงธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แต่จริงๆ แล้ว เครือบุญรอดทำหลายอย่างมาก ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ นั่นก็คือ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำดื่ม
ธุรกิจขวดแก้ว
ธุรกิจส่งออก
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ธุรกิจซัพพลายเชน
และในตอนนี้คุณต๊อด ได้รับมอบหมายตำแหน่งใหม่ให้เข้ามาดูแลธุรกิจอาหาร
ซึ่งถือว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจน้องใหม่สำหรับเครือบุญรอด ที่มีชื่อว่า Food Factors
อย่างที่หลายคนรู้ว่า ปัจจุบันธุรกิจอาหาร มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด
แต่เป้าหมายของคุณต๊อด คือ การสร้างธุรกิจนี้ให้เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเครือบริษัทบุญรอด
บริษัท Food Factors ก่อตั้งมาได้ประมาณปีกว่าแล้ว
ปัจจุบัน Food Factors ประกอบด้วยธุรกิจ 2 ส่วนหลัก
Food Retails มีบริษัท เอสคอมพานี จำกัด ดูแลรับผิดชอบ
ปัจจุบันมีแบรนด์ร้านอาหารอย่าง Est.33, Farm Design, และ ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji
Product & Production มีบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด ดูแลรับผิดชอบโรงงานผลิตสินค้า และบริษัท ข้าวพันดี จำกัด จำหน่ายข้าว และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากข้าว
นอกจากนั้นยังมีการตั้ง Food Innovation Center เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าด้านอาหารควบคู่กันไปด้วย
โดยในอนาคตก็มีแผนที่จะสร้างโครงการ Food Valley 
ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของไทย และภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในจังหวัดอ่างทอง
เป็นที่น่าจับตาว่าบริษัท Food Factors จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างไร
Food Factors ในตอนนี้อาจเปรียบได้กับเครื่องบินที่เตรียมบินขึ้นสู่ท้องฟ้า
และคุณต๊อดก็ได้รับโจทย์ว่าเครื่องบินลำนี้จะต้อง Take off ให้ได้ภายใน 3 ปี
แล้วคุณต๊อดจะใช้กลยุทธ์อะไรเพื่อนำ Food Factors ไปสู่เป้าหมาย?
สิ่งที่น่าสนใจคือ จริงๆ แล้วเครือบริษัทใหญ่อย่างบุญรอดย่อมสามารถเลือกวิธีการควบรวมบริษัทได้
แต่คุณต๊อดกลับไม่เลือกวิธีนั้น
คุณต๊อดไม่อยากเป็นเพียงนักลงทุนที่ต้องการเฉพาะผลกำไร
เขาต้องการจะเป็นผู้พัฒนาธุรกิจอาหาร
ดังนั้นสิ่งที่ Food Factors ให้ความสำคัญมากสุดจึงเป็นเรื่องของ “ผลิตภัณฑ์”
เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลก
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ สิ่งที่คุณต๊อดทำก็คือการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่
เขาเริ่มต้นจากการวางผังองค์กรของบุญรอดใหม่ จัดให้เป็นหมวดหมู่มากขึ้น
โดยรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารไว้ด้วยกัน
เริ่มจากดูว่ามีอะไรบ้าง และสามารถต่อยอดอะไรได้อีกบ้าง
นำประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการทำธุรกิจอื่นมาปรับใช้
เพื่อให้เกิดเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ Food Factors
นอกจากนั้นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Food Factors เลือกใช้ก็คือ การสร้างพาร์ตเนอร์
คุณต๊อดกลับมองว่าจริงๆ แล้วธุรกิจอาหารไม่ได้มีคู่แข่งทางตรง
เพราะผู้เล่นแต่ละรายก็มีจุดเด่นที่ต่างกัน
ดังนั้นการร่วมมือกันเป็นพาร์ตเนอร์จึงเป็นการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
และเกิดเป็นเครือข่ายธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ได้
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า
คุณต๊อดเห็นศักยภาพอะไรในอาหารไทย?
คำตอบของคุณต๊อดคือ “ความหลงใหล”
เรื่องนี้อาจจะต้องย้อนกลับไปในสมัยที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ
ร้านอาหารไทยที่เขาเจอบางร้านไม่ได้มีเจ้าของเป็นคนไทยด้วยซ้ำ
ทำให้รสชาติที่ได้ไม่เหมือนอาหารไทยจริงๆ
คุณต๊อดมองว่าในปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และแน่นอนว่าคนเหล่านี้ย่อมเคยลิ้มรสชาติของอาหารไทย
เมื่อพวกเขากลับไปและคิดถึงอาหารไทย
ก็คงอยากกินสิ่งที่รสชาติเหมือนอาหารไทยที่เคยลองมาก่อน
นอกจากนั้นอาหารไทยยังเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากวิถีชีวิตของคนไทย
ที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น
คุณต๊อดจึงมีความต้องการที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้
และทำให้ทั่วโลกรู้ว่าอาหารไทยไม่ได้มีแค่ผัดไทย หรือต้มยำ..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.