การเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจ ด้วย “กลยุทธ์ทะเลสีน้ำเงิน”

การเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจ ด้วย “กลยุทธ์ทะเลสีน้ำเงิน”

23 พ.ย. 2020
คนทำธุรกิจ ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าตลาดแต่เพียงผู้เดียว
เพราะนั่นหมายถึงการไม่มีคู่แข่ง ไม่มีแรงกดดัน และไม่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น
ดังนั้นกำไรจึงตกอยู่ในกำมือของธุรกิจ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่ในโลกความเป็นจริง เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำธุรกิจโดยปราศจากคู่แข่ง ?
เรากำลังพูดถึง กลยุทธ์ทะเลสีน้ำเงิน หรือ Blue Ocean Strategy
ซึ่งผู้คิดค้นแนวคิดนี้ คือ นักวิชาการสองคน ชื่อ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne
โดยทั้งคู่เป็นอาจารย์จากสถาบันด้านการบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส
หลักแนวคิดของ Blue Ocean จะไม่มุ่งเน้นความต้องการที่มีอยู่ในตลาด
แต่จะเน้นในการสร้างความต้องการ หรืออุปสงค์ขึ้นใหม่
พูดง่ายๆ คือ เน้นการหาตลาดใหม่ ผ่านความต้องการใหม่ ที่ซ่อนอยู่ในตัวของผู้บริโภค
ซึ่งตรงกันข้ามกับ Red Ocean ที่จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดเดิม
เป็นการแข่งขันด้วยสงครามราคาที่ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าคู่แข่งอีกรายจะยอมแพ้ และออกจากตลาดไป
อุตสาหกรรมที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็น Red Ocean อย่างที่เรารู้กันก็คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซ
ที่กำลังแข่งขันแย่งชิงการเป็นเจ้าตลาด ระหว่าง Shopee, Lazada และ JD Central
หรือตลาดขนส่งและโลจิสติกส์ อย่าง ไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, Flash Express, DHL, SCG Experess และ GrabExpress ก็เป็นอีกตลาด ที่แข่งขันกันด้วยสงครามราคา เช่นกัน
ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากตลาด Red Ocean ก็คือ “ผู้บริโภค”
จากการที่ผู้เล่นในตลาด ต่างต้องส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค ทั้งในแง่ของประสบการณ์และความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป
ดังนั้นผู้บริโภค ก็จะได้ของที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล
ข้อเสียของตลาดแบบ Red Ocean คือการแข่งขันที่รุนแรง
ผู้เล่นต้องมีวิสัยทัศน์ เก่งทั้งการวางกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว
มีความยืดหยุ่น และปรับตัวไวต่อการเปลี่ยนแปลง
ส่วนในมุมของตลาด Blue Ocean
อาจยกตัวอย่างสถานการณ์จริง ที่ใกล้เคียงแนวคิดดังกล่าว ด้วยตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน
ซึ่งผู้บุกเบิกตลาดนี้ คือ บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ที่เปิดตัว เครื่องดื่มวิตามินซี 200% “ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์” ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นการสร้างความต้องการ หรืออุปสงค์ใหม่ขึ้น
ด้วยการสร้างทางเลือกให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และยังคงอยากดื่มน้ำเปล่าอยู่
อย่างไรก็ดี ยันฮี มีความสุขกับทะเลสีน้ำเงินได้ไม่นาน
ก็มีผู้เล่นรายที่ 2 เข้ามาในตลาด นั่นคือ แบรนด์วิตอะเดย์ ภายใต้บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด
และหลังจากนั้น ตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน ก็ได้กลายเป็น Red Ocean โดยสมบูรณ์ จากการเข้ามาของ แบรนด์ พีเฮช พลัส 8.5 ของเครืออิชิตัน กรุ๊ป และแบรนด์บูล ในเครือบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)
สรุปแล้วในโลกของความเป็นจริง ตลาด Blue Ocean สามารถเกิดขึ้นได้จริง
แต่อาจเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
เพราะเมื่อเชนธุรกิจใหญ่ เห็นศักยภาพของตลาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะไม่เข้ามาลงเล่นในตลาด ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตลาด Blue Ocean ยังคงความสวยงามอยู่ได้ ก็คือ “นวัตกรรม”
ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จในตลาด Blue Ocean ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ สตีฟ จอบส์ ผู้ซึ่งคิดค้นนวัตกรรม
ที่ทำให้ทุกอย่างสามารถสั่งการ และควบคุม ได้เพียงปลายนิ้ว
โดยในช่วงยุคบุกเบิกของสมาร์ตโฟน จอบส์ คือผู้ที่ทำให้ iPhone และ ระบบปฏิบัติการ iOS
ไม่สามารถมีใครแข่งขัน และเลียนแบบได้
ก่อนที่หลังจากนั้น คู่แข่งจำนวนมาก จะพากันทุ่มทุนไปกับการวิจัยและพัฒนา และการตลาด
จนตลาดสมาร์ตโฟน กลายเป็นตลาด Red Ocean ในที่สุด
สรุปแล้ว แนวคิดของ Blue Ocean คือ การสร้างนวัตกรรม หรือโมเดลธุรกิจที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวของผู้บริโภค
แต่หากคู่แข่ง เริ่มตามนวัตกรรมทันเมื่อไร
ตอนนั้นตลาดก็จะกลายเป็น Red Ocean อย่างเลี่ยงไม่ได้
และธุรกิจ ก็ต้องมองหาความต้องการใหม่ๆ อุปสงค์ใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาด Blue Ocean ใหม่ต่อไป..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.