กรณีศึกษา WESERVE แอปดิลิเวอรี คนไทยที่กำลังโตก้าวกระโดด

กรณีศึกษา WESERVE แอปดิลิเวอรี คนไทยที่กำลังโตก้าวกระโดด

2 มิ.ย. 2020
“เราขอเป็นแจ็คที่เดินเคียงคู่ยักษ์ ไม่ใช่แจ็คผู้ฆ่ายักษ์”
คุณณัฐชยา สืบศักดิ์ เจ้าของ App Delivery สัญชาติไทยที่ชื่อ WESERVE 
ที่เธอกำลังบอกถึงสถานะธุรกิจตัวเอง ที่เวลานี้มีคู่แข่งเป็นยักษ์ใหญ่ต่างชาติอย่าง GrabFood, LINEMAN
และรู้หรือไม่ว่า WESERVE ถือเป็นรายแรกๆ ที่ทำธุรกิจ Delivery ออนไลน์ในเมืองไทย
ซึ่งเกิดจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คุณ ณัฐชยา เห็นว่าในจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง
มีจำนวนร้านอาหารเยอะมาก แต่หลายร้านกลับมีที่จอดรถให้ลูกค้าไม่เพียงพอ
เธอจึงมีความคิดที่จะทำธุรกิจ Food Delivery ผ่านช่องทางเว็บไซต์ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการมานั่งรอทานอาหารที่ร้าน แต่มีคนไปยืนรอคิวแล้วส่งอาหารถึงบ้าน
โดยเธอว่าจ้างผู้พัฒนาเว็บไซต์เป็นบริษัทแห่งหนึ่ง
แต่ด้วยแต่ด้วยในขณะนั้นขาดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและด้วยความไว้ใจบริษัทดังกล่าว ในที่สุดก็พบกับความ ล้มเหลว
แทนที่จะล้มเจ็บตัวแล้วเลิก กลับกลายเป็นว่านี่คือการล้มเพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาด
เมื่อเธอเลือกจะไม่ยอมแพ้ พร้อมกับรู้ว่าที่ผ่านมาเธอผิดพลาดอะไร
นั่นคือธุรกิจนี้จำเป็นจะต้องมีพนักงานฝ่ายเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ต้องมีความหลากหลาย 
และที่สำคัญต้องเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าให้ได้แบบลึกซึ้ง
จากนั้นเธอก็ทำเว็บไซต์ Food Delivery อีกครั้งซึ่งได้รับความนิยมในระดับหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต 
แล้วก็พัฒนาต่อยอดมาเป็น App ที่ชื่อว่า WESERVE ซึ่งตอนนี้มีอายุครบ 1 ปี
สามารถขยายพื้นที่บริการครอบคลุมภาคใต้ 8 จังหวัด และมียอดดาวน์โหลดกว่า 1 แสนราย 
ออเดอร์เฉลี่ย 40,000 ครั้งต่อเดือน และมีคนขับกว่า 200 คน
ส่วนเรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือแม้ WESERVE มีบริการใน App ถึง 5 บริการคือ ส่งอาหาร, จ่ายบิล, ส่งไปรษณีย์, ฝากซื้อ และขับส่งของ แต่บริการที่คิดเป็นรายได้หลักของบริษัทถึง 80% ก็คือ ส่งอาหาร
ซึ่งการเติบโตนี้ก็ได้ถูกท้าทายจาก App Food Delivery ยักษ์ใหญ่จากต่างชาติทั้ง GrabFood, LINEMAN ที่ขยายธุรกิจมาในภาคใต้
พอเรื่องเป็นแบบนี้หลายคนอาจจะคิดว่า WESERVE คงต้องมีรายได้น้อยลง แต่เรื่องนี้กลับตรงกันข้าม
บริษัท วีเสิร์ฟ ไลฟ์สไตล์ จำกัด
ปี 2561 รายได้ 8.1 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 35 ล้านบาท
ซึ่งเธอบอกว่าถึงรายได้จะเติบโตก้าวกระโดดแต่กำไร ณ วันนี้แค่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจให้พอไปได้
แต่...หากมองไปที่งบลงทุนทั้งหมดที่ลงไปแล้วในธุรกิจนี้ 70 ล้านบาท ไม่ว่าจะมองมุมไหน ธุรกิจก็ยังขาดทุน
แต่ที่เธอเลือกจะเดินหน้าสู้ต่อ ก็เพื่อให้คนภูเก็ตภูมิใจในความเป็นคนภูเก็ตและเป็นคนไทย ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี มีแบรนด์เป็นของตัวเอง
ส่วนคำถามที่น่าสนใจก็คือแล้ว WESERVE ทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้มีกำไร
เพราะอย่างที่รู้กันดี Food Delivery ต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย
วันนี้แทบจะไม่มีใครได้กำไร เพราะเกมธุรกิจนี้หากใครไม่อยากเสียลูกค้าไปอยู่ในมือคู่แข่ง
สิ่งที่ต้องทำก็คือ ลดราคาค่าบริการบ่อยๆ และมีอยู่หลายครั้งต้องลดราคาต่ำกว่าต้นทุนตัวเอง 
แต่ทุกรายก็พร้อมที่จะเจ็บตัว เพื่อให้ได้ลูกค้ามากที่สุด
ซึ่งเธอบอกว่า WESERVE เป็นแค่ App เล็กๆ จะให้ลดค่าบริการรุนแรงเหมือนยักษ์ใหญ่คงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แต่สิ่งที่ “ทำได้” ก็คือ การมีบริการที่เหนือชั้นกว่า
เธอบอกว่าคนขับ 200 กว่าคนถูกคัดเลือกและเทรนด์มาอย่างดีเพื่อมอบบริการที่ใส่ใจทุกรายละเอียดของลูกค้า ซึ่งทำให้ทุกออเดอร์การส่งอาหารแทบไม่มีข้อผิดพลาด 
ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สามารถรักษาฐานลูกค้าอย่างเหนียวแน่น
และเมื่อมีบริการที่ดีกว่า ก็ย่อมมีค่าบริการที่แพงกว่านิดหน่อยหากเทียบกับคู่แข่ง
จึงทำให้ลูกค้าของ WESERVE เป็นลูกค้าที่ค่อนข้างมีกำลังซื้อ เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)แตกต่างจากคู่แข่งที่มีลูกค้าในกลุ่มตลาดมวลชน คนจำนวนมาก
ขณะเดียวกันวิธีการขยายพื้นที่บริการก็ยังแตกต่างกับคู่แข่ง
รู้หรือไม่ว่าแนวคิดของ WESERVE คือตัวเองไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว
ทำให้ใน 8 จังหวัดในภาคใต้นั้นมีถึง 6 จังหวัดเป็นการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น
แม้วิธีนี้ WESERVE จะต้องแบ่งรายได้ให้กับผู้ร่วมทุน 
แต่ข้อดีก็คือตัวเองไม่ต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่คนเดียว 
อีกทั้งการมีนักธุรกิจท้องถิ่นร่วมทุน ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับร้านอาหารในจังหวัดนั้นๆ 
ก็จะทำให้การรวมร้านอาหารเข้ากับ App เป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว
และวิธีนี้ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์หลัก เตรียมจะขยายพื้นที่บริการไปถึง 32 จังหวัดเมื่อถึงกลางปี 2564
พร้อมกับรวบรวมเทรนด์ใหม่ๆ ไว้ใน WESERVE เพื่อให้คนไทยปรับตัว
เป็น Digital Provider อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน
ส่วนเป้าหมายต่อไปของบริษัท เธอบอกว่าภายใน 5 ปี ต้องทะยานเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
เรื่องนี้ถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะใครจะคิดว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
กล้าทำความฝันของตัวเองให้มีชีวิตขึ้นมา
เธอกล่าวปิดท้ายโดยนิยามความฝันนี้ ไว้อย่างน่าสนใจ
เรากำลังสร้างสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ให้กลายเป็นสินทรัพย์ ที่มีค่า สร้างรายได้
เพราะในอนาคต สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดอาจไม่ใช่ เงินทองมหาศาล 
แต่มันคือ “ความรู้ + เทคโนโลยี” ที่เราสามารถใช้ได้ไม่มีวันหมด
References
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
https://www.weserve.co.th/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.