กรณีศึกษา การปรับตัวของ ไปรษณีย์ไทย

กรณีศึกษา การปรับตัวของ ไปรษณีย์ไทย

20 ก.ค. 2019
ข้อมูลจาก International Post Corporation เผยว่า ปริมาณการส่งเอกสารทั่วโลกปี 2560 ลดลง 4% เหตุผลมาจากข้อมูลเอกสารหลายประเภทถูกทดแทนด้วยการส่งผ่านบนโลกออนไลน์ โดยมี Smartphone เป็นตัวแปร
แต่ทุกอย่างย่อมมีสองด้าน แม้ Smartphone จะทำให้เค้กก้อนหนึ่งเล็กลง แต่ก็ทำให้เค้กอีกก้อนใหญ่ขึ้นเช่นกัน เมื่อปริมาณการจัดส่งสิ่งของ และสินค้าต่างๆ เติบโตทั่วโลกถึง 14.3%
หนึ่งในเหตุผลการเติบโตนั้น มาจากความร้อนแรงของ E- commerce
สถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต่างจากประเทศไทย โดยข้อมูลจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ระบุว่า อัตราการส่งพัสดุธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งเอกสารและสิ่งของหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม กำลังมีอัตราการใช้บริการน้อยลง (เป็นการส่งราคาถูกสุด ใช้เวลา 4-7 วัน)
ปี 2559 มีจำนวน 2,027 ล้านชิ้น 
ปี 2561 มีจำนวน 2,004 ล้านชิ้น
ขณะเดียวกันปริมาณการส่ง EMS กลับเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยพลังการค้าของโลกออนไลน์ (เป็นการส่งราคาแพง ใช้เวลา 1-2 วัน)
ปี 2559 มีจำนวนการส่ง EMS 313 ล้านชิ้น 
ปี 2561 มีจำนวนการส่ง EMS 407 ล้านชิ้น
รวมไปถึงการส่งพัสดุลงทะเบียนเองก็เติบโตเช่นกัน (ใช้เวลาส่ง 2-5 วัน)
ปี 2559 มีจำนวนการส่งพัสดุลงทะเบียน 12.8 ล้านชิ้น 
ปี 2561 มีจำนวนการส่งพัสดุลงทะเบียน 13.4 ล้านชิ้น
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมอัตราการใช้บริการ ไปรษณีย์ไทย ยังเติบโตได้อีก ทั้งๆ ที่ในช่วงที่ผ่านมา เกิดคู่แข่งหน้าใหม่ขึ้นมากมายทั้ง Flash Express, SCG Express, Best Express จนถึงคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Kerry Express
คำตอบคือ เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองไทยมาไกลอย่างน่าเหลือเชื่อ จากข้อมูลของ ETDA ระบุว่าปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 2561 มีมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท
เพียงแค่ 3 ปี ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านบาท 
นั่นแปลว่าถึงแม้ ไปรษณีย์ไทย จะมีคู่แข่งมาแย่งรายได้มากขึ้นก็ตาม แต่ด้วยเค้กที่ก้อนใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมากมาย จำนวนการใช้บริการและรายได้ ไปรษณีย์ไทย ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รายได้ปี 2560 อยู่ที่ 28,293 ล้านบาท กำไร 4,212 ล้านบาท 
รายได้ปี 2561 อยู่ที่ 29,728 ล้านบาท กำไร 3,827 ล้านบาท
เหตุผลที่ ไปรษณีย์ไทย กำไรน้อยลง เพราะหากเรามองย้อน ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจในแต่ละปีของ ไปรษณีย์ไทย กำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
ปี 2559 ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 21,431 ล้านบาท 
ปี 2560 ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 22,922 ล้านบาท
ปี 2561 ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 24,828 ล้านบาท
ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายในการบริหารและบริการลูกค้าแล้วนั้น ไปรษณีย์ไทย ยังมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย
อาทิเช่น ตู้รับฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ, ติดตั้งเครื่องคัดแยกสิ่งของแบบ Cross Belt Sorter, ลงทุนพัฒนาบริการกระเป๋าเงินไปรษณีย์ และระบบแบงกิ้ง เอเย่นต์ รวมถึงการลงทุนอื่นๆ
ขณะเดียวกันช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็น ไปรษณีย์ไทย ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในอดีตมากมาย ทั้งการส่ง EMS ในกรุงเทพฯ ส่งเช้าถึงมือผู้รับตอนเย็น, การลดอัตราค่าบริการ, บางสาขาเปิดบริการ 24 ชั่วโมง, จนถึงการเป็นแบงกิ้ง เอเย่นต์ ให้กับธนาคาร
เรื่องทั้งหมดนี้นับเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของบริษัทที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุ 136 ปี
เพราะ ณ วันนี้ ไปรษณีย์ไทย รู้ดีว่าในสนามแข่งขันตลาดส่งพัสดุเมืองไทยตัวเองไม่ได้ “กินนิ่ม” เหมือนในอดีต ที่ลูกค้ามีตัวเลือกจำกัด
แต่เวลานี้ ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้นกว่าเดิม และพร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งได้เสมอ หากรู้สึกว่าบริการนั้นดีกว่า
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ ไปรษณีย์ไทย ต้องเอาชนะในวันนี้ ไม่ใช่คู่แข่งเบอร์ 1 สัญชาติฮ่องกง อย่าง Kerry Express
แต่คือ “ชนะใจ” ลูกค้าตัวเองต่างหาก…
-----------------------------------------
References : รายงานประจำปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ปี 2561 - ETDA
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.