KBTG พาเจาะเบื้องหลัง โปรเจกต์พัฒนาหัวใจดวงที่ 2 ให้ระบบ Core Banking แข็งแกร่ง พร้อมรองรับธุรกรรมกว่า 60 ล้านบัญชี
5 ก.พ. 2025
ในวันที่โลกการเงินถูกย่ออยู่แค่ปลายนิ้ว หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเบื้องหลังความสะดวกสบายนี้
มีตัวแปรสำคัญที่เรียกว่า ระบบ Core Banking
ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมของทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฝาก ถอน โอน จ่าย ของสาขา รวมไปถึงการใช้ Mobile Banking
มีตัวแปรสำคัญที่เรียกว่า ระบบ Core Banking
ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมของทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฝาก ถอน โอน จ่าย ของสาขา รวมไปถึงการใช้ Mobile Banking
ดังนั้น คงไม่ผิด หากจะเปรียบเทียบว่า ระบบ Core Banking คือ หัวใจสำคัญของทุกธนาคาร ที่ต้องดูแลให้ทำงานได้ดีอยู่เสมอ
เพราะถ้าระบบ Core Banking มีปัญหา หรือเกิดล่ม แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบมหาศาล โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับธุรกิจยุคนี้ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคาร
คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล แม่ทัพใหญ่ของ KBTG ย้ำว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจาก Knowledge Economy เป็น Trust Economy และสิ่งที่สำคัญของธุรกิจการเงิน คือ Trust
“เพราะฉะนั้น ในขณะที่ถนนทุกเส้นมุ่งไปที่ AI ถ้าเรายังไม่สามารถทำเรื่องพื้นฐานให้ดี อย่างการทำให้ระบบของธนาคารเสถียร แอปธนาคารไม่ล่ม เราจะไปต่อในเรื่อง AI อย่างไร เพราะยิ่ง AI เข้ามา Digital Trust ยิ่งสำคัญ”
ดังนั้น เมื่อกลับมามองที่เม็ดเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท สำหรับโปรเจกต์ Core Banking Horizontal Project Scale เพื่อยกเครื่อง Core Banking ครั้งใหญ่ของ KBank คุณกระทิง จึงมองว่า เป็นเม็ดเงินที่น้อยมาก
เพราะการสร้างหัวใจของ Core Banking ขึ้นมาอีกดวงครั้งนี้ จะติดปีกให้ KBank มั่นใจว่า สามารถรองรับการทำธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นได้จนถึงปี 2031 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า พร้อมรองรับมากกว่า 60 ล้านบัญชี แบบไม่ต้องกังวลว่าระบบจะล่ม
“ด้วยแนวคิดการทำงานของ KBTG เราต้องคิดไปข้างหน้า 1 ก้าวเสมอ เพราะฉะนั้น ในเมื่อวันนี้เราเตรียมระบบไว้พร้อมสำหรับอีก 6 ปีข้างหน้า เท่ากับว่าตอนนี้ ทีมงานสามารถเตรียมพร้อมว่าอีก 6 ปี เราจะทำอะไรเพื่อเพิ่ม Trust
ผมเชื่อว่า AI ที่ไม่มี Trust จากลูกค้า เป็น AI ที่ไม่มีวันสำเร็จ ดังนั้น ถึงที่ผ่านมา เราจะทำโปรเจกต์ระดับพันล้านบาทมาตลอด แต่โปรเจกต์นี้ถือเป็นโปกเจกต์ใหญ่ที่สุดของ KBTG ไม่ใช่แค่ในเรื่องเม็ดเงินลงทุน แต่คือความสำเร็จ เราเลือกเส้นทางที่ยาก เพื่อไม่ให้ระบบมีปัญหา จนการทำงานครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่ Manday แต่เป็น Man Night ของทีมงานทุกคน”
ด้านคุณวรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman, KBTG เสริมว่า โครงการนี้ใช้เวลาเกือบ 2 ปี เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฝั่งของการให้บริการทางสาขา, แอป K PLUS และ แอป MAKE by KBank
โดยปัจจุบัน (9 เดือนแรกของปี 2024) KBank มีลูกค้าราว 24.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 37% จากเมื่อปี 2020
ขณะที่ ตัวเลขผู้ใช้งาน K PLUS ในปี 2024 อยู่ที่ 23 ล้านบัญชี มีจำนวน Financial Transactions ทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนแอป K PLUS มากกว่า 11.6 พันล้านรายการ ส่วนแอป MAKE by KBank มีผู้ใช้งาน 2.95 ล้านบัญชี
“หลังจาก KBank ได้ประกาศเป้าหมายว่าจะผลักดันอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เป็นเลข 2 หลัก ให้ได้ภายในปี 2026 ภารกิจของ KBTG คือ ตอบโจทย์เรื่องการเติบโต ธุรกิจต้องโตแบบไม่สะดุด เพื่อสร้างความไว้วางใจให้ลูกค้า ช่วยลดต้นทุน เราจะนำ AI เข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่ม Speed ในการทำงาน ซึ่งโปรเจกต์ Core Banking ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะพอมีระบบใหญ่ที่พอรองรับทรานแซกชัน ไม่ตีบตัน ฝั่งธุรกิจ ก็มาเพิ่มฟีเชอร์ใหม่ ๆ ได้”
ด้านคุณจรุง เกียรติสุภาพงศ์ Vice Chairman, KBTG เสริมว่า ระบบแรกที่ทุกธนาคารต้องมีคือ Core Banking ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2015 ธนาคารต้องแจ้งปิดระบบตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17-19 กรกฎาคม รวมเวลา 48 ชั่วโมง เพื่ออัปเกรด Core Banking ที่ใช้มานาน ให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่นพร้อมรองรับการใช้งาน
ต่อมาในปี 2018 เกิดการโอนเงินแบบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่งผลให้การทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการอัปเกรด Core Banking เพื่อรองรับการเติบโตที่มาแบบก้าวกระโดด
“ถ้าไปดูจำนวนการทำธุรกรรมตั้งแต่ปี 2019 จะเห็นว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท เมื่อไปดูจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ประมาณปีละ 5 ล้านบัญชี ลูกค้าเก่าเปิดบัญชีเพิ่ม 2 ล้านบัญชี ลูกค้าใหม่ 3 ล้านบัญชี
ดังนั้น การอัปเกรด Core Banking ใหม่ครั้งนี้ จึงออกแบบให้มีความสามารถในการรองรับการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า พร้อมรองรับธุรกรรมกว่า 60 ล้านบัญชี ได้ถึงปี 2031”
ความยากในการบรรลุเป้าหมาย คือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านระบบครั้งนี้เสถียร
เพราะตัว Core Banking ทำงานร่วมกับอีก 183 ระบบที่อยู่รอบ ๆ ต้องใช้คนทำงานมากกว่า 1,000 คน
นอกจากนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าพอขึ้นระบบ จะไม่มี Downtime เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง เราทุ่มเทกับการทำโปรเจกต์นี้นานถึง 22 เดือน มีการซ้อมก่อนขึ้นระบบ 21 ครั้ง
ด้านคุณนพวรรณ ปฏิภาณจำรัส Managing Director, KBTG เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “โครงการนี้ เหมือนเราสวมหัวใจไปอีกดวง แต่การเปลี่ยนหัวใจนี้ เราต้องตัดต่อเส้นเลือดที่เชื่อมระบบต่าง ๆ เข้ากับอวัยวะรอบ ๆ อีกกว่า 183 ระบบ และตัดต่อเส้นเลือด ที่เลี้ยงแค่หัวใจดวงที่หนึ่ง ต้องเอามาเลี้ยงหัวใจดวงที่สอง ให้ทำงานเชื่อมโยงกัน
จากนั้น ก็พัฒนา Core Banking Gateway ซึ่งเปรียบเหมือนส่วนสมองสั่งการ เพื่อให้เวลาที่มีคำสั่งเข้ามา จะได้รู้ว่าต้องส่งไปให้ Core Banking ตัวไหนทำงาน”
ถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้บิ๊กโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้า คุณนพวรรณ เฉลยว่าหัวใจสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือร่วมใจ ทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน
“แม้จะต้องทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 1,000 คน ทั้งฝั่งไอทีและฝั่งธุรกิจ
เพื่อให้การทำงานราบรื่น ทางทีมได้ตั้ง Business Deployment Team ซึ่งมีทั้งคนที่มาจาก KBank และ KBTG เพื่อเชื่อมระหว่างทีมไอทีกับทีมธุรกิจ คอยอัปเดตและย่อยข้อมูลให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน”
ในฝั่ง 183 ระบบ แม้จะเป็นคนไอทีด้วยกัน แต่ต้องเข้าใจว่าแต่ละคนก็มีภาระงานที่ต้องดูแล เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน จึงได้ตั้งทีม Core Team Agent แบ่งกันดู 183 ระบบ เพื่อให้สุดท้ายแล้วแผนงานของทุกฝ่ายซิงก์เข้าด้วยกัน
“กลุ่มนี้เขาเข้าใจความซับซ้อนของระบบอยู่แล้ว แต่อยากสร้างความเข้าใจร่วมกัน กลุ่มนี้จะ Track Manage ว่าเขาเกี่ยวข้องและกระทบกับ Core Banking อย่างไร เพื่อให้การทำงานที่มาเทสต์ด้วยกัน ตรงตามเวลา”
ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจว่า ธุรกิจหยุดไม่ได้ ถ้าธุรกิจมีเป้าหมายแบบนี้ หน้าที่คนทำงานเบื้องหลัง คือ ต้องบาลานซ์ธุรกิจและโครงการที่ต้องทำ เราขอคนรันธุรกิจ มาอยู่ที่ Change Control Board เขาเห็นอยู่แล้วว่า ธุรกิจต้องการระบบอะไรที่มาตอบโจทย์ธุรกิจ
อีกส่วนสำคัญ คือ การทำ Test Strategy
“เราใช้เวลาทดสอบร่วมปี ด้วยการเขียน Tool ขึ้นมาเพื่อทดสอบ เพราะถ้าเราเทสต์ทั่วไป เราให้คนนั่งผ่าตัด เราจะไม่เห็นเลยว่า เส้นเลือดผิดปกติอย่างไร เราเลยเขียน Tool ขึ้นมาจับเลยว่า สิ่งที่หัวใจดวงที่หนึ่งเคยทำ ถ้าปล่อยให้หัวใจดวงที่สองทำ จะทำได้เหมือนกันไหม
ซึ่งเราคาดหวังว่าจะเหมือนกัน เพราะเราโคลนนิงหัวใจสองดวงที่ทำงานเดียวกัน
ดังนั้น ถ้าผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน มีระบบไหนอ่อนแรง เราจัดการได้เลย”
ดังนั้น ถ้าผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน มีระบบไหนอ่อนแรง เราจัดการได้เลย”
ด้านคุณแก้วกานต์ ปิ่นจินดา Deputy Managing Director - IT Service Availability, KBTG กล่าวว่า ด้วยความเชื่อของ KBTG ที่บอกว่า เราจะทำสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น จึงเตรียมการสิ่งที่คาดว่าร้ายแรงที่สุด ที่จะเกิดขึ้น และใช้หลัก “ซ้อมให้เหมือนจริง ทำจริงให้เหมือนซ้อม”
ทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสการเกิดข้อผิดพลาดและรองรับทุกความเป็นไปได้ ทางทีมมีการทดสอบทุกมิติ ด้วย 30,000+ Test Cases มีการ Mock Run ถึง 21 ครั้ง และ Production Deploy อีก 8 ครั้ง โดยเริ่มต้นทำมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024
คุณแก้วกานต์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ นักผจญเพลิงจะทำหน้าที่เร่งเข้าไปดับไฟ เพื่อแก้สถานการณ์ตรงหน้า หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เข้าไปตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดไฟไหม้เพราะอะไร เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไฟไหม้อีก
เช่นเดียวกับการทำงานของทีมงาน ที่เวลาเกิดปัญหาขึ้น นอกจากจะพยายามแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ยังพยายามหาสาเหตุ หรือต้นตอของปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ
“นอกจากนี้ เรายังมีการเตรียมการล่วงหน้า โดยจะคอยมอนิเตอร์ระบบ ตลอด 24 ชั่วโมง มีหมอเวรกู้ชีพระบบ ทำให้บางครั้งเราเห็นปัญหา และแก้ปัญหาได้ก่อนลูกค้าใช้บริการหรือสาขาจะเปิดด้วย
แต่การจะทำให้ Core และระบบรอบ ๆ อยู่ใน Incident and Problem Management ได้ ต้องมีการพูดคุย ซิงก์แผน ทีมเราเข้าไปร่วมตั้งแต่การซ้อม 21 ครั้ง ทำให้เราได้เห็นปัญหา และร่วมแก้ปัญหา
พูดง่าย ๆ ว่า Prepare for the Worst Work for the Best ทำให้สุดท้ายพอขึ้นระบบ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่มี Downtime หรือต้องขอปิดระบบ จนลูกค้าที่ใช้บริการไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่ามีการเปลี่ยนแปลง”
อีกหัวใจสำคัญคือ ด้วยความที่โปรเจกต์นี้ เป็นโปรเจกต์ใหญ่ และต้องทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพตรงกัน จึงมีการทำ Change Management เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมและวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ร่วมกัน
ปิดท้ายด้วยคุณภูวดล ทรงวุฒิชโลธร Assistant Managing Director - Project Management, KBTG บอกเล่าถึง ความท้าทายในการบริหารโครงการใหญ่ให้บรรลุเป้าหมายว่า ใช้กลยุทธ์ 3 C ได้แก่ Communication, Collaboration และ Commitment
“ความยากคือ จะบาลานซ์อย่างไร ให้ทุกส่วนช่วยกันทำทุกอย่าง เห็นภาพเดียวกัน
เราต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน และอาศัยการร่วมมือ เพราะคนที่ต้องดีล ไม่ใช่แค่หน่วยงานภายในบริษัท แต่รวมถึงหน่วยงานภายนอก
ดังนั้น เราจึงเน้นการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อให้ความเชื่อมั่น และสร้างการร่วมมือที่แข็งแกร่ง เพื่อผลักดันให้เกิดการลงมือทำ พร้อมทำให้ทีมงานมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดผลลัพธ์”
จากความมุ่งมั่นนี้เอง จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม Core Banking Horizontal Project Scale ถึงเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซโปรเจกต์ของ KBTG ที่ทุกคนภาคภูมิใจ และทำให้ KBTG ก้าวนำไปอีกหนึ่งก้าว
“วันนี้เราอัปเกรด Core Banking สำเร็จแล้ว ในขณะที่โปรเจกต์นี้อาจยังเป็น Future หรืออนาคตของคนอื่น แต่สำหรับเราทำเป็น Past (อดีต) จบไปแล้ว” คุณกระทิงกล่าวทิ้งท้าย
#KBank #KBTG #HorizontalCoreBanking #CoreBanking
Tag:KBTG