7 เทคนิค ทำ SEO ให้เว็บไซต์เรา เป็นตัวท็อปในหน้าค้นหา เก็บตกจากงาน MITCON 2024

7 เทคนิค ทำ SEO ให้เว็บไซต์เรา เป็นตัวท็อปในหน้าค้นหา เก็บตกจากงาน MITCON 2024

2 ต.ค. 2024
ในงาน MITCON 2024 ที่ผ่านมาไม่นาน คุณรัชวิทย์ หวังพัฒนธน จาก ANGA Bangkok Agency ได้มาแชร์ 7 วิธีทำ SEO ให้ติดหน้าแรกในทุก Search Platforms ไม่ว่าจะเป็น Google, SearchGPT, Gemini AI Overview หรืออื่น ๆ
MarketThink สรุปเทคนิคการทำ SEO ให้เว็บไซต์เรา เป็นตัวท็อปในหน้าค้นหา ให้ทุกคนเอาไปใช้ได้ง่าย ๆ
- เครื่องมือที่คุณรัชวิทย์นำเสนอคือ พีระมิด ASEO (Adaptive Search Engine Optimization) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีไซน์มาให้เว็บไซต์มีการค้นหาแบบออร์แกนิก และการมองเห็นของแพลตฟอร์มที่ดีขึ้น
โดยพีระมิดนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1: คุณภาพของประสบการณ์การใช้งาน (Site Experience Quality)
ประกอบด้วย Technical Issues และ Search Experience Optimization (SXO)
ขั้นที่ 2: ความน่าเชื่อถือ (Site Trustworthiness)
ประกอบด้วย External Signals และ Link Building (Backlink)
ขั้นที่ 3: กลยุทธ์การทำคอนเทนต์ (Content Strategy)
ประกอบด้วย SILO-Based Structure, High-Quality Content (EEAT Principle) และ Keyword Research & Intent
- การทำ SEO ที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 7 องค์ประกอบ ได้แก่
1. ปัญหาทางเทคนิค (Technical Issues)
คือการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเว็บไซต์ให้กลับมาเป็นปกติ
ซึ่งขั้นตอนนี้นักการตลาดอาจจะต้องขอความร่วมมือกับฝ่าย Developer หรือนักพัฒนาเว็บไซต์ด้วย
ตัวอย่างปัญหาที่ทำให้เว็บไซต์ไม่ติดผลการค้นหาอันดับแรก ๆ เช่น
-Search Engine ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงหน้าเว็บไซต์หรืออ่านหน้าเพจเว็บไซต์
-หน้าเว็บไซต์มีโครงสร้างเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานเข้าใจได้ยาก
-หน้าเว็บโหลดยาก มีปัญหาการดาวน์โหลดบ่อย ๆ
2. ประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ (Search Experience Optimization)
คือ การทำให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์การใช้งานที่ดี อยู่ในหน้าเว็บไซต์นาน ๆ ซึ่งมีวิธีการคือ
เข้าใจผู้ใช้งาน (Understand Search Intent) ว่าต้องการคอนเทนต์แบบไหน แล้วสร้างคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการนั้น
ทำให้กิจกรรมในหน้าเว็บไซต์เพิ่มขึ้น (Maximize Conversions) เช่น จำนวนการคลิก การตอบแบบสอบถาม
ปรับดีไซน์ UX/UI ของเว็บไซต์ให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน และออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ให้ง่ายต่อการนำทาง
3. สัญญาณจากภายนอก (External Signals)
หมายถึงสัญญาณบางอย่างจากภายนอกที่สื่อว่า แบรนด์กำลังเป็นกระแส ได้รับความนิยมจากลูกค้าในการเสิร์ชค้นหา และมีการพูดถึงมากบนโลกออนไลน์
ซึ่งยิ่งมีมาก การจัดอันดับจะยิ่งดีขึ้นในการพูดถึงแบรนด์นั้น
ซึ่งวิธีการทำให้องค์ประกอบข้อนี้สำเร็จก็คือ การทำให้ลูกค้าพูดถึงแบรนด์ และสร้างการมีปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์
ไม่ว่าจะเป็น การรีวิวในแง่บวก การให้ดาว และกระตุ้นให้เกิดคอนเทนต์ประเภท User-generated content (UGC)
4. สร้าง Link Building (Backlink)
คือ การทำให้เว็บไซต์ของเราได้รับลิงก์กลับมาจากเว็บไซต์อื่น ๆ
ยิ่งเว็บไซต์ที่ลิงก์กลับมาเป็นเว็บไซต์ขนาดใหญ่ มีทราฟิกการเข้ารับชมสูง และมีความน่าเชื่อถือมากเท่าไร เว็บไซต์ของเราก็จะยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือจาก Search Engines และถูกจัดอันดับดีขึ้นมากตามไปด้วย
5. สร้างโครงสร้างเว็บไซต์แบบ SILO-Based Structure
คือ การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ด้วยการจัดกลุ่มเนื้อหาที่เป็นประเภทเดียวกันเข้าด้วยกันผ่าน Internal Link และไม่โยงเนื้อหาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จัดประเภทไว้เข้าด้วยกัน
ซึ่งการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ในลักษณะนี้จะทำให้ Search Engine หาข้อมูลในเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้น
ทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์มีประสบการณ์ที่ดี อยากอ่านคอนเทนต์ต่อ และช่วยเรื่องการจัดอันดับเว็บไซต์ได้
ตัวอย่างการออกแบบเว็บไซต์แบบ SILO-Based Structure เช่น
Homepage > Main Topics > Subtopics > Articles
เช่น ในหน้าโฮมเพจเว็บไซต์หนึ่งของโรงพยาบาลศัลยกรรมแห่งหนึ่ง มีลิงก์ที่เชื่อมไป Main Topics คือ
- ปรับโครงหน้า
- ตาสองชั้น
- เสริมจมูก
- เสริมหน้าอก
- ดูดไขมัน
ต่อมาในหน้าเว็บไซต์เพจเรื่อง “เสริมจมูก” มีลิงก์ที่เชื่อมไป Subtopics คือ
- ทำจมูกโอเพ่น
- ทำจมูก ไม่ใช้ซิลิโคน
- ทำจมูก ผู้ชาย
และในหน้าเว็บไซต์เพจเรื่อง “ทำจมูก ไม่ใช้ซิลิโคน” ก็จะมีลิงก์ที่เชื่อมไป Articles คือ
- ทำจมูกที่ไหนดี
- เสริมจมูกไร้ซิลิโคน ราคา
- วิธีดูแลหลังเสริมจมูก
- อาการแพ้ซิลิโคนจมูก
6. คอนเทนต์มีคุณภาพสูง (High-Quality Content)
องค์ประกอบข้อนี้คือการสร้างคอนเทนต์คุณภาพสูงตามหลักการ E-E-A-T คือ
- Experience คอนเทนต์นั้นสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน
- Expertise คอนเทนต์ได้รับการเขียนจากผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริง
- Authoritativeness เว็บไซต์มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลในวงการนั้น ๆ ผ่านการอ้างอิงจากผู้อื่น
- Trustworthiness คอนเทนต์ต้องถูกต้อง น่าเชื่อถือ เว็บไซต์มีความปลอดภัย และแหล่งอ้างอิงที่มีคุณภาพ
7. การทำ Keyword Research และทำความเข้าใจจุดประสงค์การค้นหา (Search Intent)
คีย์เวิร์ดสำหรับการค้นหาแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- Informational หรือให้ข้อมูล เช่น เปรียบเทียบ รถยนต์ไฟฟ้า, รถไฟฟ้า มีข้อเสียอะไร
- Navigational หรือนำทางไปหาแบรนด์ เช่น BYD รถยนต์ไฟฟ้า, Tesla EV
- Commercial หรือสร้างการตัดสินใจซื้อ เช่น รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นไหนดี, รีวิวรถยนต์ไฟฟ้า 2024
- Transactional หรือสร้างธุรกรรม เช่น เช่ารถยนต์ไฟฟ้า, ชื้อ BYD
- Local หรือค้นหาบางอย่างในพื้นที่จำกัด เช่น โชว์รูม BYD สุราษฎร์, สถานีชาร์จรถ EV ใกล้ฉัน
ซึ่งการเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่มีการค้นหาสูงสุดเพียงอย่างเดียวอย่าง “รถยนต์ไฟฟ้า” อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด
เพราะเราอาจพลาดคีย์เวิร์ดดี ๆ คำอื่น ที่อาจมีผลการค้นหาน้อยกว่า แต่จำเพาะเจาะจงกับคอนเทนต์และกลุ่มเป้าหมายในแต่ละขั้นของ Customer Journey ก็ได้
ดังนั้น การทำ Keyword Research และเข้าใจจุดประสงค์การค้นหาของลูกค้าจึงมีความสำคัญมาก
#MITCON2024
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.