คุยกับ ดร.พัทน์ (พีพี) X ดร.มนต์ชัย (กวง) ว่า KBTG กับ MIT Media Lab จะพาวงการ AI ไทยไปทางไหนต่อ ?

คุยกับ ดร.พัทน์ (พีพี) X ดร.มนต์ชัย (กวง) ว่า KBTG กับ MIT Media Lab จะพาวงการ AI ไทยไปทางไหนต่อ ?

15 ส.ค. 2024
รู้ไหมว่า หน้าจอสัมผัส (Touch Screen) ที่เราใช้กันอยู่ทั้งโลก ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า “MIT Media Lab” ห้องปฏิบัติการวิจัยของมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT)
และเชื่อไหมว่าตอนนี้.. หน่วยงานที่ว่ากำลังร่วมมือกับ KBTG หน่วยงานเทคโนโลยีเบอร์ต้น ๆ ของไทย เจ้าของแอปพลิเคชัน K PLUS ในการพัฒนา AI ร่วมกันอยู่ 
เรื่องราวนี้จะเป็นอย่างไร ?
แล้วทำไมหน่วยงานระดับโลก ถึงมาร่วมงานพัฒนา AI กับหน่วยงานของคนไทย ? 
บทความนี้ MarketThink ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร (พีพี) นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยหนึ่งเดียวแห่ง MIT Media Lab และ ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ (พี่กวง) ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ KBTG Labs
ถึงเบื้องหลังของการร่วมงานกันระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab ว่าคนไทยจะได้อะไรจากสิ่งนี้บ้าง ? 
เริ่มกันจากมารู้จัก KBTG กันก่อน.. บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ “KBTG” เป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย รับหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ 
ก่อนนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับธนาคารกสิกรไทย และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่คนไทยใช้ เช่น K PLUS, MAKE by KBank และอีก 500 กว่าแอป ที่หลายคนน่าจะรู้จัก

โดยที่ผ่านมา KBTG ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ AI ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เหมือนกับที่สมาร์ตโฟนเคยทำได้ 
ทำให้ KBTG ได้มีการเปลี่ยนทิศทางของบริษัทจาก “Mobile First” มาเป็น “AI First” 
และนำ AI มาช่วยขับเคลื่อนองค์กรตั้งแต่ช่วงปี 2019 ผ่านคีย์เวิร์ดสำคัญเรียกว่า “M.A.D.” ที่ย่อมาจาก 
- M ย่อมาจาก “Machine Learning” เครื่องจักรที่เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ 
- A ย่อมาจาก “Artificial Intelligence” ปัญญาประดิษฐ์
- D ย่อมาจาก “Data” ข้อมูล
ด้วยแนวทางนี้ อธิบายให้เห็นภาพคือ สมมติว่า ถ้าผู้ใช้ K PLUS อนุญาตให้บริษัทเอาข้อมูล (Data) มาใช้ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อได้ 
ทางบริษัทก็จะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาป้อนให้กับ (Machine Learning) หรือเครื่องจักร ที่เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ทำให้บริการต่าง ๆ ของ KBTG จะดีขึ้นในทุก ๆ วัน 
ซึ่งพอนำเรื่องนี้มารวมกับ AI หรือ “Artificial Intelligence” แล้ว ความอัจฉริยะของ AI ก็เข้ามาช่วยเติมเต็มในเรื่องของการพัฒนาเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี 
เช่น การคิดค้น AI Chatbot ตอบคำถามลูกค้า ซึ่งถ้าป้อนข้อมูลเข้าไปมากพอ และประมวลผลจนใกล้เคียงภาษามนุษย์ได้ (Natural Language Processing) ลูกค้าอาจไม่รู้ว่า คุยกับคนหรือคุยกับ AI อยู่เลยก็ได้.. 
อย่างไรก็ตาม การจะคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ และต่อยอดไปสู่การนำมาใช้จริงได้นั้น จำเป็นจะต้องใช้ “คนเก่ง” จริง ๆ มาช่วย และคนเก่งคนนั้นต้องเป็นคนที่มี “วิสัยทัศน์” คล้าย ๆ กันด้วย 
ซึ่งคนเก่งที่ KBTG เลือกนั่นก็คือ “MIT Media Lab” 
เรื่องนี้ ดร.มนต์ชัย ได้บอกไว้ว่า MIT Media Lab มีวิธีคิดที่เหมือนกับ KBTG คือไม่ได้มองผลระยะสั้น แต่มองไปถึงอนาคตระยะยาวระดับ 10 ปี 20 ปี ไปจนถึง 100 ปีต่อจากนี้ 
และทั้งคู่ยังมีแนวทางการทำงานที่เหมือนกันคือ คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยการเอาคนเก่งในแต่ละเรื่องมาทำงานร่วมกัน เช่น คนเก่งศิลปะสามารถมาทำงานร่วมกับคนเก่งวิทยาศาสตร์ เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่
ก่อนจะนำผลลัพธ์ของการทำงานมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้ เหมือนกับที่ MIT Media Lab เคยคิดค้นหน้าจอ Touch Screen หรือแม้แต่ Google Maps ที่คนทั้งโลกใช้มาจนถึงตอนนี้ 
สำหรับการร่วมงานกันในเบื้องต้น ทั้งคู่จะเน้นไปที่การทำวิจัยร่วมกัน ผ่านการส่งนักวิจัยไปทำงานร่วมกันที่ MIT Media Lab ที่สหรัฐอเมริกา 
ซึ่งคุณพีพี (ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร) นักศึกษาปริญญาเอกของ MIT ก็คือคนที่ KBTG เลือกให้ทุนในการวิจัยผ่านโครงการที่ชื่อว่า KBTG Fellowship นั่นเอง 
โดยที่ผ่านมา KBTG และ MIT Media Lab ได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2022 แล้ว และได้กลับมาจัดอิเวนต์ต่าง ๆ ในไทยอยู่บ่อยครั้ง เพื่อสร้างเครือข่ายคนเก่งในวงการวิทยาศาสตร์ของไทยเข้าด้วยกัน 
อย่างเช่น งาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future ที่เพิ่งจบไป ตัวคุณพีพีเอง ก็ได้กลับมาร่วมเพื่อพูดคุยในเรื่องของ AI ภายในงานนี้ด้วย
ซึ่งสิ่งนี้ละ เป็นสิ่งที่ KBTG เชื่อว่าจะกลายเป็นรากฐานสำคัญให้คนไทยมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ในอนาคต
ทีนี้นวัตกรรมเจ๋ง ๆ ที่เกิดจากการร่วมมือกันของทั้งคู่มีอะไรบ้าง ? 
- “Future You” แพลตฟอร์มที่ให้เราสามารถคุยกับตัวเองในอนาคตได้ 
คอนเซปต์หลัก ๆ ของ Future You ก็คือจะเปรียบเสมือนกับว่าเรามีเครื่องไทม์มาชีน ให้เราข้ามเวลาไปปรึกษาตัวเองในอนาคตตอนอายุ 60 ปี
ผ่านการใช้ AI มาช่วยจำลองตัวตน โดยเราสามารถปรับแต่งนิสัย เป้าหมาย และความฝันให้เข้ากับเราได้ด้วย 
ซึ่งคุณพีพีบอกว่า Future You จะแตกต่างจาก Generative AI ที่หลายคนรู้จักกัน 
เพราะจะไม่ได้เน้นแค่ถาม-ตอบทั่ว ๆ ไป แต่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถ “ต่อยอด” คำตอบนั้นแล้วเอามาใช้วางแผนอนาคตของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
เช่น ถ้าเราอยากเป็นวิศวกร เราอาจถามตัวเองในอนาคตได้ว่าต้องวางแผนชีวิตอย่างไร ถึงจะทำได้ตามฝันนั่นเอง

ที่น่าสนใจคือ มีผลการทดลองว่าผู้ใช้ Future You ถึง 70% บอกว่า เหมือนกับได้คุยกับตัวเองในอนาคตจริง ๆ แถมยังช่วยลดความวิตกกังวล เพิ่มแรงจูงใจ และสร้างพลังบวกให้ชีวิตอีกด้วย
- “คู่คิด” Generative AI ที่ให้คำตอบได้ 2 มุมมอง
คู่คิดเป็น AI ที่จะให้เราแช็ตคุยกับ “คะน้า” และ “คชา” โดยทั้งคู่จะให้คำตอบที่ถูกต้องเหมือนกัน
แต่จะนำเสนอคำตอบ ในมุมมองที่ต่างกัน ถูกพัฒนามาโดย K-GPT หรือ Knowledge-GPT
สาเหตุที่คู่คิดต้องให้คำตอบใน 2 มุมมอง ก็เพราะว่าต้องการให้ผู้ใช้ได้คำแนะนำที่หลากหลาย และรอบด้านมากขึ้น 
ช่วยให้ผู้ใช้ได้ตัดสินใจดีขึ้นว่าจะเลือกคำตอบแบบไหน 
โดยสิ่งที่ทำให้คะน้าและคชาโดดเด่นคือ จะถูกพัฒนามาด้วยข้อมูลด้านวัฒนธรรมและบริบทต่าง ๆ ของคนไทย ทำให้ตัวคะน้าและคชา สามารถเข้าใจคำถามของคนไทยได้ดีมาก ๆ 
และในส่วนของข้อมูลและคำแนะนำที่ทั้งคู่ให้มานั้น ก็จะผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเชื่อถือได้ มีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน 
ถ้าผู้ใช้งานต้องการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถเข้าถึงแหล่งที่มาของข้อมูลได้ทันทีอีกด้วย
- “Finly by KBTG” แอปพลิเคชันผู้ช่วยการเงินที่มีการใส่ AI เข้าไปด้วย  
Finly เป็นแอปพลิเคชันที่อยู่ในช่วงการพัฒนา ให้เราจัดระเบียบเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วยการเอา AI มาช่วยวิเคราะห์ รายรับ-รายจ่าย และจัดหมวดหมู่ให้แบบอัตโนมัติ 
นอกจากนี้เรายังสามารถใส่เป้าหมายทางการเงินของเราไปได้ด้วยว่าต้องการแบบไหน ไม่ว่าจะซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือวางแผนเกษียณ 
โดยจะมี AI มาคอยช่วยวางแผนการเงินให้เราว่าเราควรออมเงินเยอะแค่ไหน หรือลดค่าใช้จ่ายตรงไหนลงได้บ้าง เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 
รู้ไหมว่าทั้ง 3 นวัตกรรมล้ำ ๆ ที่พูดมานั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งจากอีกหลายนวัตกรรมที่ KBTG และ MIT Media Lab ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาเท่านั้น 
ซึ่งก็น่าจับตาดูจริง ๆ ว่าหลังจากนี้ทั้งคู่จะยังมีไม้เด็ดอะไรมาเซอร์ไพรส์พวกเราอีก..
สุดท้ายนี้.. ดร.มนต์ชัย ได้เผยว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการเดินทางครั้งใหญ่ ที่จะนำพา AI ไทยไปสู่ระดับโลก เท่านั้น 
และ KBTG จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของมนุษย์ และจะยังคงส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง AI ให้กับคนไทยเหมือนที่ผ่าน ๆ มาต่อไป
ส่วนคุณพีพีได้บอกว่า ตอนนี้มีแผนจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Harvard ในเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI ให้ลึกซึ้งมากกว่านี้อีก
และบอกว่าจะนำสิ่งที่ได้กลับมาต่อยอดทำงานที่ MIT 
และ KBTG เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างแน่นอน..
อ้างอิง: 
- สัมภาษณ์พิเศษ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร (พีพี) และ ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ (พี่กวง) 
#KBTG #MITMediaLab
#KBTGFellow 
#Technology 
#GenerativeAI 
#BeyondBanking 
#FutureYou 
#Coinnovation
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.