สรุป 8 ตัวเลข ที่ควรใส่ใจ เมื่อต้องทำการตลาด บนโซเชียลมีเดีย

สรุป 8 ตัวเลข ที่ควรใส่ใจ เมื่อต้องทำการตลาด บนโซเชียลมีเดีย

16 ต.ค. 2023
รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้ คนเราใช้โซเชียลมีเดีย เฉลี่ยมากถึง 120 นาทีต่อวัน
จึงไม่แปลกเลยที่โซเชียลมีเดีย ได้กลายเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญ ที่หลายแบรนด์นิยมหยิบมาใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง
ทีนี้ ถ้าเราเลือกที่จะทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย
แล้วมีตัวเลขอะไรบ้าง ที่เราควรรู้จักเอาไว้ ?
บทความนี้ MarketThink เลยอยากหยิบยกตัวเลข ที่หลายแบรนด์นิยมใช้เพื่อวัดผลในเรื่องต่าง ๆ ของการทำตลาดบนโซเชียลมีเดีย มาสรุปให้ฟังแบบง่าย ๆ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ปกติแล้วการทำการตลาดออนไลน์ มักจะมีการกำหนดเป้าหมาย (Objective) ที่แตกต่างกันออกไป
บางแบรนด์อาจต้องการสร้าง Awareness หรือก็คือสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ โดยไม่ได้สนใจยอดขายมากนัก
บางแบรนด์อาจจะเน้นการขายของไปเลย ไม่ได้สนใจการสร้าง Awareness
หรือบางแบรนด์ อาจจะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ก็มี
ดังนั้น วิธีวัดผล ก็จะแตกต่างกันออกไปนั่นเอง
โดยเรามาเริ่มกันจากตัวเลขที่ใช้วัด “Brand Awareness”
1. Post Reach
ตัวเลขดังกล่าวจะบอกเราว่า มีคนเห็นโพสต์ของแบรนด์ มากแค่ไหน
โดยวิธีวัดผล ก็คือการนำจำนวน Post Reach ไปหารด้วยจำนวน Followers แล้วคูณด้วย 100
เพื่อหาว่าโพสต์ของแบรนด์นั้น เข้าถึงผู้ติดตามได้เป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด
(Post Reach / Total Followers) x 100
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ส่วนใหญ่แล้วก็จะนำมาเปรียบเทียบกับโพสต์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพื่อหาว่ามีสัดส่วนต่างจากเดิมแค่ไหน
ยกตัวอย่างก็เช่น คอนเทนต์ของแบรนด์ A สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ 100,000 คน จากผู้ติดตาม 1,000,000 คน
ก็จะเท่ากับว่า แบรนด์ A มี Post Reach 10% จากผู้ติดตามทั้งหมด
ในขณะที่คอนเทนต์ของแบรนด์ A ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว กลับมี Post Reach เพียง 5%
ซึ่งก็อาจตีความได้ว่า แคมเปญของแบรนด์มาถูกทางนั่นเอง..
2. Audience Growth Rate
ตัวเลขนี้จะบอกว่า อัตราผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียของแบรนด์ เพิ่มขึ้นเป็นอัตราส่วนกี่เปอร์เซ็นต์
วิธีการคำนวณก็คือ นำจำนวนผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (อาจจะเป็นระยะเวลาในการทำแคมเปญ) มาหารกับฐานผู้ติดตามทั้งหมด แล้วคูณด้วย 100
(Net New Followers in Period / Total Audience on Platform) x 100
โดยตัวเลขที่ได้จะบอกว่า โซเชียลมีเดียของแบรนด์ มีผู้ติดตามมากขึ้นเท่าไรในช่วงเวลานั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ A มีคนติดตามมากขึ้น 2,000 คน ในเดือนกรกฎาคม จากผู้ติดตามทั้งหมด 100,000 คน
ก็จะเท่ากับว่า แบรนด์ A มี Audience Growth Rate อยู่ที่ 2%
3. Share of Voice
ตัวเลขที่บอกว่า แบรนด์ของเราถูกพูดถึงมากแค่ไหน ถ้าเทียบกับคู่แข่ง
ตัวเลขนี้สามารถหาได้ โดยการนำยอดรวมของการ Mention ถึงแบรนด์ของเรา
(ขั้นตอนนี้อาจจะต้องมีการใช้เครื่องมือ Social Listening เข้ามาช่วยด้วย)
มาหารกับการ Mention ของแบรนด์คู่แข่งทั้งหมด ก่อนจะคูณด้วย 100
(Brand Mentions / Total Mentions) x 100
เพื่อหาว่าแบรนด์ของเรา ถูกพูดถึงในอัตราส่วนมากแค่ไหน ถ้าเทียบกับคู่แข่งทั้งหมดนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น เดือนมกราคม มีคน Mention ถึงแบรนด์ A 500 คน
ในขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ถูก Mention รวมกัน 2,500 ครั้ง
ก็หมายความว่า แบรนด์ A มี Share of Voice ที่เท่ากับ (500 / 2,500) * 100 = 20% นั่นเอง
ทีนี้มาถึงคราว ตัวเลขที่ใช้บอก “Engagement” หรือการมีส่วนร่วมกับแบรนด์
โดยส่วนใหญ่แล้ว ตัวเลขตรงนี้ จะเป็นการนำยอดของ Action ต่าง ๆ ที่ผู้คนสามารถมีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้บนโลกโซเชียลมีเดีย เช่น Like, Comment, Share
มาคำนวณกับฐานผู้ติดตาม เพื่อหาว่าแคมเปญสามารถเรียก Engagement ได้มากแค่ไหน
เริ่มจาก..
4. Amplification Rate
ตัวเลขที่บอกความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ที่มีต่อโพสต์ของแบรนด์
หาได้โดยนำจำนวนแชร์ มาหารกับจำนวนผู้ติดตาม แล้วคูณด้วย 100
เพื่อหาอัตราส่วนผู้ติดตามของแบรนด์ที่แชร์โพสต์
(Total Post Shares / Total Followers) x 100
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ B ทำแคมเปญประเภทที่กระตุ้นให้คนมาแชร์โพสต์ เพื่อลุ้นรับรางวัลต่าง ๆ
ก่อนจะได้ยอดแชร์มา 2,000 แชร์ จากผู้ติดตาม 100,000 คน
ก็หมายความว่า แบรนด์ B มี Amplification Rate ที่ 2% นั่นเอง
5. Virality Rate
ตัวเลขที่บอกว่า มีคนที่แชร์คอนเทนต์ของแบรนด์กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนการเห็นโพสต์
หาได้โดยนำจำนวนแชร์ มาหารกับตัวเลข Impression หรือคนที่มีโอกาสเห็นโพสต์ของแบรนด์ผ่านตา (อาจจะเป็นหรือไม่เป็นผู้ติดตามของแบรนด์ก็ได้) มาคูณกับ 100
(Number of Shares / Number of Impressions) x 100
วิธีนี้น่าจะเหมาะกับโซเชียลมีเดียในยุคหลัง ๆ ที่หลายแพลตฟอร์ม
เริ่มปิดกั้นคอนเทนต์ ทำให้โพสต์เข้าถึงผู้ติดตามได้น้อยลง
ยกตัวอย่างเช่น โพสต์ของแบรนด์ B มี 2,000 แชร์ จากยอด Impressions 200,000 คน
ก็หมายความว่า Virality Rate จะเท่ากับ 1% นั่นเอง
6. Average Engagement Rate
เป็นตัวเลขที่จะบอกเราคร่าว ๆ ว่า ภาพรวมของแคมเปญนั้น สามารถเรียก Engagement ได้มากแค่ไหน
วิธีการหาก็คือ นำจำนวน Like, Comment, Share มารวมกัน แล้วหารด้วยฐานผู้ติดตาม และคูณด้วย 100
(Total Engagement Actions / Total Followers) x 100
เช่น โพสต์ของแบรนด์ B มี 500 ไลก์ + 100 คอมเมนต์ + 200 แชร์ = 800
จากผู้ติดตาม 100,000 คน เท่ากับว่ามี Average Engagement Rate ที่ 0.8%
อย่างสุดท้ายคือ ตัวเลขที่ไว้ใช้วัด “Conversion” หรืออัตราของการ Action เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของแบรนด์
โดยการ Action ในที่นี้ ก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแบรนด์ ว่าต้องการให้คนที่เห็นโพสต์ มี Action อะไรกลับมา เช่น ปิดการขาย, สมัครสมาชิก หรืออาจจะเป็นการดาวน์โหลดแอปก็ได้
7. Conversion Rate
ตัวเลขที่บอกว่า จากคนที่คลิกเข้าไปดูคอนเทนต์/โพสต์ของแบรนด์ สามารถเปลี่ยนเป็น Action ที่แบรนด์ต้องการได้กี่เปอร์เซ็นต์
วิธีหาก็คือ นำจำนวน Conversions (Action ที่แบรนด์ต้องการ) มาหารกับจำนวนคลิก
(Conversions / Total Clicks) x 100
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ C เรียกคนให้มาดาวน์โหลดแอปได้ 200 ครั้ง
จากคนที่คลิกเข้ามาดูคอนเทนต์ทั้งหมด 2,000 ครั้ง
หรือก็คือ แบรนด์ C มี Conversion Rate อยู่ที่ 10% นั่นเอง
8. Click-through Rate
ตัวเลขที่สรุปว่า คนที่เห็นโพสต์ของแบรนด์ จะคลิกเข้ามาดูคอนเทนต์ ของแบรนด์ได้มากแค่ไหน ?
หาได้โดย นำจำนวนคลิก มาหารกับ ตัวเลข Impression หรือคนที่มีโอกาสเห็นโพสต์ของแบรนด์ผ่านตา (อาจจะเป็นหรือไม่เป็นผู้ติดตามของแบรนด์ก็ได้) มาคูณกับ 100
(Total Clicks / Total Impressions) x 100
เช่น แบรนด์ C โพสต์คอนเทนต์ไป แล้วมีจำนวน Impressions ที่ 200,000 ครั้ง
แต่มีคนคลิกโพสต์นั้นอยู่ที่ 40,000 ครั้ง
นั่นก็หมายความว่า คอนเทนต์ของแบรนด์ C สามารถกระตุ้นให้คนคลิกได้ 20%
สรุปแล้ว หากแบรนด์ต้องการวัดเรื่อง “Brand Awareness” ควรใช้
- Post Reach : (Post Reach / Total Followers) x 100
- Audience Growth Rate : (Net New Followers in Period / Total Audience on Platform) x 100
- Share of Voice : (Brand Mentions / Total Mentions) x 100
หากต้องการวัดเรื่องของ “Engagement” หรือการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ควรใช้
- Amplification Rate : (Total Post Shares / Total Followers) x 100
- Virality Rate : (Number of Shares / Number of Impressions) x 100
- Average Engagement Rate : (Total Engagement Actions / Total Followers) x 100
และหากจะหา “Conversion” หรืออัตราของการ Action สำหรับการกระทำบางอย่าง ก็ต้องใช้
- Conversion Rate : (Conversions / Total Clicks) x 100
- Click-through Rate : (Total Clicks / Total Impressions) x 100
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็หวังว่า ตัวชี้วัดทั้งหลายที่รวมมา
จะช่วยให้แคมเปญ และการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย ของหลาย ๆ คน สามารถวัดผลได้ง่ายขี้น
เพราะบ่อยครั้ง คนทำแบรนด์ โดยเฉพาะกับคนที่เริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ก็อาจประสบปัญหา ไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพของแคมเปญตัวเองได้..
—------------------------------------------------
ร่วมวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจของคุณรับปี 2567 ก่อนใคร กับหลักสูตร "????????? ?????? ????? ???????? ??? ?????????" หลักสูตรที่จะทำให้คุณได้วางรากฐาน พร้อมฝึกแนวคิดการวางกลยุทธ์การทำการตลาดบน Social Media กับการเรียนรู้เทคนิคสุด Exclusive จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารจากแพลตฟอร์ม และเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแบบใกล้ชิด อัดแน่น 4 วันเต็ม 27-28 ต.ค. และ 3-4 พ.ย. นี้ (รับจำนวนจำกัด) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/2iWF7XX
—------------------------------------------------
อ้างอิง :
-https://www.g2.com/articles/social-media-metrics
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.