กรณีศึกษา Android ระบบปฏิบัติการแจกฟรี แต่สร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท ให้ Google
16 ส.ค. 2023
Android คือระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ตโฟน ของ Google ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยครองส่วนแบ่งการตลาด ไปได้กว่า 78%
ทิ้งห่าง iOS ของ Apple ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด 20%
ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่มากขนาดนี้ ทำให้อาจเรียกได้ว่า ทุกวันนี้ Android แทบจะ “ผูกขาด” ตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลก ไปโดยปริยาย
เพราะไม่ว่าเราจะซื้อสมาร์ตโฟนจากแบรนด์ใด ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Xiaomi, Oppo หรือ Vivo
สมาร์ตโฟนจากแบรนด์ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของ Google ทั้งสิ้น
แม้ว่าที่ผ่านมา Google จะไม่ได้มีการรายงานอย่างเป็นทางการว่า Android สร้างรายได้ให้ Google มากน้อยเพียงใดในแต่ละปี
เพราะหากเปิดงบการเงินของบริษัท จะพบว่ารายได้ที่เกิดจาก Android นั้น ถูกนำไปรวมอยู่กับรายได้ในส่วนของ “บริการอื่น ๆ ของ Google” ทั้งหมด
แต่จากเอกสารการฟ้องร้องคดีความ ระหว่าง Google กับ Oracle ในปี 2016 รายงานว่า
Google สร้างรายได้จาก Android ได้ปีละกว่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท)
และคิดเป็นผลกำไร 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.6 แสนล้านบาท)
แม้ว่าในความจริงแล้ว Android จะเป็นระบบปฏิบัติการแบบ Open-Source ที่เปิดให้ใคร ๆ สามารถนำไปใช้งานได้แบบฟรี ๆ ก็ตาม
คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากจะบอกว่า Android เป็นระบบปฏิบัติการ “แจกฟรี” จริง
แล้วทำไม Google จึงมีรายได้จาก Android ปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท ?
เรื่องนี้ต้องอธิบายว่า แม้ Android จะเป็นระบบปฏิบัติการที่แจกฟรีก็จริง แต่สิ่งที่ฟรี และสามารถนำไปใช้งานได้ คือระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน “พื้นฐาน” ที่ไม่มีบริการใด ๆ ของ Google ติดตั้งอยู่เลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google Play Store ที่เป็นเหมือนศูนย์รวมแอปพลิเคชัน “นับล้าน” ที่ผู้ใช้สมาร์ตโฟน จำเป็นต้องใช้ในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอื่น ๆ เพิ่มเติม
ทำให้แบรนด์สมาร์ตโฟนต่าง ๆ จะไม่สามารถดึงดูดให้คนทั่วไป ซื้อสมาร์ตโฟนของตัวเองได้เลย หากสมาร์ตโฟนเครื่องนั้น ไม่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใด ๆ เพิ่มเติมได้
ด้วยจุดนี้เอง ที่ทำให้ Google เลือกที่จะให้แบรนด์สมาร์ตโฟนต่าง ๆ นำ Android ไปใช้งานได้ฟรี แต่หากต้องการติดตั้งบริการอื่น ๆ ของ Google เพิ่มเติม ก็จะต้องมีเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นการแลกเปลี่ยน
ซึ่งเงื่อนไขที่แบรนด์สมาร์ตโฟนต้องทำตาม หากต้องการใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่มีบริการต่าง ๆ ของ Google ฝังมาด้วย ได้แก่
- ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของ Google เช่น YouTube, Gmail, Maps, Photos, Chrome และ Google Search
- ต้องใช้ Google เป็น Search Engine พื้นฐาน ในสมาร์ตโฟนเครื่องนั้น
- ต้องติดตั้ง Shortcut (ทางลัด) เข้าสู่แอปพลิเคชันต่าง ๆ ของ Google ในตำแหน่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในหน้าจอโฮม
ซึ่งจากเงื่อนไขเหล่านี้ หากลองสังเกตกันดี ๆ จะพบว่า สมาร์ตโฟนในท้องตลาด ล้วนแล้วแต่ทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ทั้งสิ้น
และเมื่อเปิดสมาร์ตโฟนครั้งแรก ก็จะพบว่ามีการติดตั้งแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของ Google มาให้อย่างครบถ้วน และพร้อมใช้งานทันทีตั้งแต่แกะกล่อง
อย่างไรก็ตาม หากแบรนด์สมาร์ตโฟน ไม่อยากทำตามเงื่อนไขข้างต้นของ Google แต่ยังอยากให้สมาร์ตโฟนของตัวเอง เข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ Google ได้เช่นเดิม
Google ก็มีทางเลือก ให้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการใช้งานระบบปฏิบัติการ Android ในราคา 2.5-40 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 87-1,390 บาท) ต่อสมาร์ตโฟน 1 เครื่อง
โดยราคาที่ต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับ สเป็ก และความละเอียดหน้าจอ ของสมาร์ตโฟนรุ่นนั้น ๆ รวมถึงประเทศที่สมาร์ตโฟนรุ่นนั้นวางจำหน่าย
ซึ่งเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ ก็เป็นสิ่งที่ Google ใช้ในการต่อยอด เพื่อหารายได้ เป็นจำนวนเงินมหาศาลต่อปี โดยเฉพาะรายได้จากการ “โฆษณา” ที่ Google จะทำได้
ลองคิดตามง่าย ๆ ว่า หากผู้ใช้สมาร์ตโฟน Android ต้องการเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ใน Google Play Store ก็จะพบกับโฆษณาจากผู้พัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ยอมเสียเงิน เพื่อซื้อโฆษณา ที่ช่วยดึงดูดให้คนทั่วไป กดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของตัวเองมากขึ้น
นั่นก็หมายความว่า เจ้าของแอปพลิเคชันต่าง ๆ กำลังจ่ายเงินค่าโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้ให้กับ Google แบบตรง ๆ
หรือแม้แต่การขายแอปพลิเคชัน แบบเสียเงินบน Google Play Store ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ก็ต้องยอมให้ Google เก็บค่าธรรมเนียมจากการขาย
โดยทุกครั้งที่ผู้ใช้สมาร์ตโฟน Android กดซื้อแอปพลิเคชัน หรือบริการอื่น ๆ เพิ่มเติม (In-App Purchase) ในสัดส่วน 15%
สมมติว่าแอปพลิเคชัน มีราคา 100 บาท Google จะได้เงินไป 15 บาท และอีก 85 บาท จะเข้ากระเป๋าของผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน
ส่วนแอปพลิเคชัน ที่คิดเงินค่าบริการในรูปแบบการสมัครสมาชิกรายเดือน (Subscription) ก็ต้องเสียส่วนแบ่งให้ Google ในสัดส่วน 15% เช่นเดียวกัน
ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา มีการประเมินกันว่า Google สามารถทำเงินจาก Google Play Store ได้กว่า 42,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท)
จากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และเกมต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 1.1 แสนล้านครั้ง
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมจึงมีการประเมินกันว่า Android ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ “แจกฟรี” ถึงเป็นดั่งเครื่องจักรผลิตเงิน ที่สร้างรายได้ให้ Google นับล้านล้านบาทต่อปี
และเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” เป็นคำที่ใช้ได้อยู่เสมอ
เหมือนอย่างระบบปฏิบัติการ Android ที่เป็นของแจกฟรี แบบมีเงื่อนไข
ซึ่งในความจริงแล้ว ทั้งแบรนด์สมาร์ตโฟน ผู้พัฒนา และผู้ใช้งาน เป็นคน “จ่าย” ให้ Google ในทางอ้อม นั่นเอง
อ้างอิง: