กรณีศึกษา ชิซึโอกะ ชัยชนะในตลาดชาพรีเมียม ของอิชิตัน

กรณีศึกษา ชิซึโอกะ ชัยชนะในตลาดชาพรีเมียม ของอิชิตัน

16 มี.ค. 2020
ปีที่ผ่านมา อิชิตัน มีกำไร 407 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 829% หากเทียบกับปีก่อน
เหตุผลหลักๆ มาจากการควบคุมต้นทุนการทำธุรกิจที่ดีขึ้น
แต่ที่น่าสนใจก็คือ อิชิตัน มีรายได้ 5,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% หากเทียบกับปีก่อน
โดยสินค้าที่เป็น ฮีโร่ ของตันที่ช่วยให้มียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมก็คือชาพรีเมียม ชิซึโอกะ
ถึงแม้ยอดขายจะไม่เทียบเท่ากับแบรนด์ อิชิตัน ที่ในแต่ละปีสร้างยอดขาย 4,000 กว่าล้านบาท
แต่รู้หรือไม่ว่าภายในเวลา 1 ปีกว่าๆ ชิซึโอกะ มียอดขายแซงหน้าคู่แข่งเป็นอันดับหนึ่ง
ในตลาดชาพรีเมียมด้วยส่วนแบ่งตลาด 31% จากมูลค่าตลาดครึ่งปีแรก 676 ล้านบาท
(เบอร์ 2 ฟูจิชะ มีส่วนแบ่ง 30% เบอร์ 3 โออิ โอฉะ 21%)
เมื่อมองส่วนแบ่งตลาด ชิซึโอกะ จะเห็นว่ามีรายได้น้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้าหลักอย่าง อิชิตัน
แต่ก็คือชัยชนะเล็กๆ ที่คุณตันภูมิใจ เพราะนี่เป็นตลาดที่ไม่ได้เดินตามรอย โออิชิ เหมือนอย่างในอดีต
ที่ไม่ว่าจะเป็นชื่อแบรนด์ อิชิตัน กับ โออิชิ ก็มีคำว่า อิชิ เหมือนกัน
ราคาขายและขนาดความจุแพ็กเกจจิงก็แทบจะใกล้เคียงกัน
จนถึงแคมเปญการตลาดหน้าร้อนในทุกๆ ปีก็แทบจะ โคลนนิง กันมาเลยทีเดียว
แม้วิธีนี้เหมือนจะไปได้สวยในช่วงเริ่มต้น เมื่อ อิชิตัน มียอดขายไล่ตาม โออิชิ ชนิดหายใจรดต้นคอ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลลัพธ์ที่ได้คือ โออิชิ เริ่มมียอดขายทิ้งห่าง อิชิตัน มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยส่วนแบ่งตลาดชาพร้อมดื่ม 8 เดือนแรกปี 2562 โออิชิ มีส่วนแบ่ง 44% อิชิตัน มีส่วนแบ่ง 31%
ผิดกับแบรนด์ ชิซึโอกะ ที่คุณตัน ไม่ได้ Copy ไอเดียมาจากใคร
เพราะนี่คือชาพร้อมดื่มที่เขาลงทุนบินไปญี่ปุ่นเพื่อเจรจาเป็น Partner กับจังหวัดชิซึโอกะ
เพื่อรวมมือกันผลิตชาที่มีรสชาติดั้งเดิมตามแบบฉบับญี่ปุ่น อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
ที่น่าสนใจก็คือ แม้จะไม่ได้ตามรอยเท้า โออิชิ
แต่ตลาดชาพรีเมียมก็มีมานานแล้วในเมืองไทย
โดยมีแบรนด์ ฟูจิฉะ ของร้านอาหารญี่ปุ่น ฟูจิ เป็นผู้บุกเบิกและมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
คุณตันเองก็มองเห็นช่องว่างในตลาดที่คู่แข่งไม่เคยคิด
นั่นคือชาพรีเมียมกำลังตอบรับเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง
รวมไปถึงการแก้ปัญหาภาษีความหวาน ที่ต้องขึ้นราคาสินค้า
การขึ้นราคาสินค้าที่ทำให้มีคนซื้อ ก็ต้องทำสินค้าให้เข้าสู่ตลาดพรีเมียม
ซึ่งหากผลิตชาพร้อมดื่มที่มีจุดขายชัดเจนและทำตลาดเชิงรุกกระตุ้นผู้บริโภค
โอกาสความสำเร็จในเรื่องยอดขายก็รออยู่ข้างหน้า
และครั้งนี้ก็ดูเหมือนคุณตันจะเป็นผู้นำ เมื่อ โออิชิ เองก็ผลิตชาพรีเมียมที่ชื่อว่า โออิชิ โกลด์ ตามมาติดๆ
ทีนี้แล้วความท้าทายของ ชิซึโอกะ คืออะไร ?
แม้ข้อดีคือไม่จำเป็นต้องปรุงรสแข่งขันในเรื่องราคาเหมือนตลาดชาพร้อมดื่มแบบ Mass
ที่ อิชิตัน กับ โออิชิ กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ จนทำให้กำไรต่อขวดบางเฉียบ
แต่...สิ่งที่ต้องตามดูกันต่อไปก็คือ ตลาดนี้จะเป็นแค่กระแสในช่วงที่ ชิซึโอกะ เข้ามาแบบหวือหวา หรือไม่
หรืออาจจะเป็นตลาดที่ยั่งยืน และจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ อีกในอนาคต
โดยคนที่จะชี้ขาดเรื่องนี้ก็คือ ผู้บริโภค อย่างเราๆ นั่นเอง
References :
รายงานประจำปี โออิชิ 2562
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2562 อิชิตัน
ข่าวประชาสัมพันธ์ อิชิตัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.