สรุป เทคนิคการป้ายยา ขายและรีวิวสินค้าอย่างไร ให้ลูกค้าคล้อยตาม จนอยากซื้อ ?

สรุป เทคนิคการป้ายยา ขายและรีวิวสินค้าอย่างไร ให้ลูกค้าคล้อยตาม จนอยากซื้อ ?

6 พ.ค. 2023
เชื่อว่า หลายคนคงเคยมีประสบการณ์โดน “ป้ายยา” มาแล้วอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต
ป้ายยาในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึง การโดนมอมยา ทำให้มึนเมา ไม่มีสติ
แต่ “ป้ายยา” ในปัจจุบัน เป็นคำเปรียบเปรยถึง การถูกเชิญชวนหรือชักจูงใจ จากคนอื่น ๆ ด้วยสารพัดข้อดีของสินค้าและบริการ ทำให้เราอยากได้ และตัดสินใจซื้อตาม
ในอดีต การป้ายยา อาจจะเป็นสกิลสำคัญสำหรับพนักงานขาย ที่ต้องทำให้ลูกค้าสนใจในสินค้าและบริการ
แต่ปัจจุบัน การป้ายยา นับเป็นอีกหนึ่งสกิลที่หลาย ๆ คนควรรู้
เพราะสามารถนำสกิลนี้ไปหารายได้เสริมได้ เช่น การป้ายยาด้วยการรีวิวสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แล้วทำ Affiliate Marketing ที่จะได้เงินส่วนแบ่งรายได้ หากมีการคลิกลิงก์ หรือเกิดการซื้อขายสินค้า
บทความนี้ จึงได้รวบรวม เทคนิคการป้ายยา มาให้แล้วว่า ต้องทำอย่างไร ?
1. ขั้นตอนแรก เริ่มต้นด้วยการสอบถามความต้องการ หรือบอก Pain Point ในชีวิตประจำวัน
สำหรับพนักงานขาย หรือการป้ายยาเพื่อน ๆ ที่สามารถคุยกันได้แบบตัวต่อตัว ให้เริ่มจากการสอบถามความต้องการว่า อยากได้สินค้าประเภทไหน
เช่น ถ้าเป็นร้านเครื่องสำอาง สินค้าที่มีขายก็มีหลากหลายประเภท ทั้งรองพื้น สกินแคร์ ลิปสติก
เพราะฉะนั้น จึงควรถามให้แน่ชัดว่า ลูกค้ากำลังมองหาสินค้าประเภทใด
แต่สำหรับการรีวิวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ไม่สามารถคุยกับผู้รับสารได้แบบตรง ๆ ก็ต้องเริ่มชักจูงใจด้วยการพูดถึง Pain Point ที่ลูกค้าหลาย ๆ คนกำลังเผชิญอยู่
ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการรีวิวคอนโดมิเนียม A ที่มีคุณสมบัติคือ
- ขนาดห้องกว้างกว่าคอนโดมิเนียมทั่ว ๆ ไป
- เป็นคอนโดมิเนียมแบบ Pet-Friendly เลี้ยงสัตว์ได้
- อยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ศูนย์การค้า และโรงพยาบาลสัตว์
ดังนั้น ถ้าหากเราอยากรีวิวคอนโดมิเนียม A โดยดึงเรื่องการเป็นคอนโดมิเนียมแบบ Pet Friendly มาเป็นจุดเด่น
ก็ต้องเริ่มรีวิวด้วยการพูดถึง Pain Point ในปัจจุบันว่า ประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีคอนโดมิเนียมแบบ Pet-Friendly มากนัก ทำให้หลาย ๆ คนต้องแอบเลี้ยงสัตว์ สร้างความลำบากทั้งตัวผู้เลี้ยงเอง และอาจรบกวนลูกบ้านคนอื่น ๆ ที่ไม่ชื่นชอบสัตว์ได้
จากนั้น ค่อยแนะนำว่า มีสินค้าที่จะสามารถเข้ามาแก้ Pain Point นี้ได้
อย่างในกรณีนี้ก็ให้แนะนำว่า คอนโดมิเนียม A เป็นคอนโดมิเนียมที่ลูกบ้านจะไม่ต้องแอบเลี้ยงสัตว์แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ อีกต่อไป
2. ขั้นตอนต่อมา มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด ด้วยการเปรียบเทียบกับสินค้าใกล้เคียง ว่าสินค้าของเราดีกว่าอย่างไร
หลังจากที่นำเสนอลูกค้าได้แล้วว่า สินค้าของเราเข้ามาแก้ Pain Point อย่างไร
ขั้นตอนต่อมา เราก็ยังต้องเดินหน้ามัดใจลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ช่วยได้ก็คือ ให้บอกว่าสินค้าของเรายังมีฟังก์ชันอะไรเด็ด ๆ ที่สอดคล้องกับ Pain Point เข้ามาเสริมอีกบ้าง จากนั้นอาจมีการเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ให้เห็นถึงข้อดีชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างในกรณีของคอนโดมิเนียม A ให้นำเสนอสิ่งที่สอดคล้องไปกับการเป็นคอนโดมิเนียมแบบ Pet-Friendly เช่น มีส่วนกลางที่อำนวยความสะดวกสำหรับคนเลี้ยงสัตว์มากกว่าคอนโดมิเนียมที่ไหน ๆ ในกรุงเทพฯ
ไม่ว่าจะเป็น ห้องนั่งเล่น ที่มีของเล่น มีพื้นที่สำหรับน้องแมว, มีสนามวิ่งเล่นสำหรับน้องหมา และมีบริการรับฝากเลี้ยงดูแลสัตว์ชั่วคราว
เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อความสะดวกสบายสำหรับการอยู่อาศัยระหว่างลูกบ้านและสัตว์เลี้ยง
ตัวคอนโดมิเนียมได้ออกแบบให้ภายในมีพื้นที่กว้างขวางกว่าคอนโดมิเนียมทั่ว ๆ ไป อีกทั้งยังอยู่ใกล้โรงพยาบาลสัตว์ ที่รองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
ในกรณีคอนโดมิเนียมนี้ เราอาจจะรีวิวโดยไม่ได้เข้าอยู่อาศัยเอง
แต่สำหรับในกรณีที่เป็นสินค้าที่เราได้ใช้เอง เช่น สกินแคร์ ก็ให้เรามัดใจลูกค้าด้วยการบอกไปเลยว่า หลังจากการทดลองใช้ด้วยตัวเองแล้ว ได้ผลดีอย่างไร หรือว่าแนะนำคนรอบข้างให้ใช้ต่อ แล้วคนรอบข้างให้ฟีดแบ็กว่าดีอย่างไรบ้าง
ซึ่งการอ้างถึงคนอื่น ๆ ที่ได้ทดลองใช้จริง ก็คือกลยุทธ์ “Social Proof” เป็นกลยุทธ์เชิงจิตวิทยา ที่ลูกค้าจะเชื่อในความคิดเห็นของคนอื่น ๆ ในสังคม และปล่อยให้ความคิดเห็นนั้น ๆ มาส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ
นั่นก็คือ จะทำให้ลูกค้าเชื่อใจ หรือสนใจในสินค้ามากขึ้น จนทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
3. ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อลูกค้าสนใจในสินค้าแล้ว จึงค่อยปิดท้ายด้วยราคา
ในขั้นตอนนี้ก็เปรียบเสมือนว่า เราสามารถป้ายยาจนลูกค้าสนใจ และอยากได้สินค้าชิ้นนั้น ๆ ขึ้นมาแล้ว จึงค่อยปิดท้ายด้วยราคา
ซึ่งถ้าถามว่า ทำไมถึงต้องบอกราคาเป็นขั้นตอนสุดท้าย ?
นั่นก็เพราะว่า เมื่อลูกค้าอยากได้สินค้าชิ้นนั้น ๆ แล้ว ต่อให้ราคาถูกหรือแพงเท่าไร ลูกค้าก็มีแนวโน้มที่จะยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้านั้น ๆ มานั่นเอง..
โดยสรุปแล้ว สิ่งสำคัญของเทคนิคการป้ายยาเลยก็คือ การพูดถึง Pain Point ก่อนว่า ในชีวิตของเรามี Pain Point อะไรบ้าง
จากนั้นค่อยนำเสนอสินค้าว่า เข้ามาแก้ Pain Point หรือทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างไร
เมื่อลูกค้ารู้แล้วว่า สินค้าเหล่านี้จะเข้ามาช่วยในเรื่องอะไร ค่อยบอกถึงข้อดีอื่น ๆ ว่ามีอะไรอีกบ้าง
และอาจใช้กลยุทธ์เปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ หรือพูดถึงฟีดแบ็กของลูกค้าคนอื่น ๆ เพื่อตอกย้ำความดีของสินค้า
และสุดท้าย เมื่อลูกค้าอยากได้แล้ว ค่อยปิดท้ายด้วย “ราคา”
ทั้งหมดนี้ เป็นเทคนิคการป้ายยาที่หลาย ๆ คนสามารถนำไปปรับใช้ในการขาย หรือรีวิวสินค้ากันได้แบบง่าย ๆ
ซึ่งเชื่อได้ว่า เมื่อนำไปปรับใช้ ก็น่าจะทำให้หลาย ๆ คนโดนป้ายยากัน เหมือนที่เรามักโดนป้ายยากันอยู่ทุกวันนี้..
--------------------------
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดีๆ มากมาย
ให้คุณได้เพลิดเพลินทั้ง ช้อป กิน เที่ยว
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ 
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ >> http://www.specialoffers.jcb/th/promotion/japan_contents_of_ASEAN/
ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่ 
Facebook : JCB Thailand
LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBThailand #JCBCard
#JCBOwnHappinessOwnStory
#อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.