“Future Tales Lab by MQDC” จับมือ ESRI ถอดโมเดลฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม เตือนภัยน้ำท่วม “ฝนร้อยปี” อาจกลับมาทุกสิบปี
21 มี.ค. 2023
“Future Tales Lab by MQDC” หรือ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาที่วิจัยเกี่ยวกับอนาคตของการใช้ชีวิต ได้ร่วมมือกับบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ จากความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (ArcGIS) ซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลก
ได้ร่วมถอดโมเดลการทำงานของ “Urban Hazard Studio” สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม พร้อมเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ในกรณีการเกิด ‘ฝนร้อยปี’ จะเกิดภัยน้ำท่วมเป็นความเสี่ยงอันดับแรกของประเทศไทย และอุทกภัยในปี 2554 ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.4 ล้านล้านบาทเป็นต้นแบบของการวิเคราะห์ มั่นใจ “Urban Hazard Studio” มีประโยชน์กับทุกภาคส่วนในการนำมาใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่อภาคประชาชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
จากการเสวนาพิเศษภายใต้หัวข้อ ถอดโมเดล ‘Urban Hazard Studio’ สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จับตาภัยพิบัติ ‘กรุงเทพฯ’ หากเกิด ‘ฝนร้อยปี’ โดยมี ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนาเมื่อเร็ว ๆ นี้
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” เปิดเผยว่า ภาพรวมน้ำท่วมปี 2565 ทำเศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ. 2595 คาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม โกลบอล ริสก์ (World Economics Forum Global Risk) หนึ่งในองค์การระหว่างประเทศเพื่อความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลก ได้ทำการคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่
1. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) 2. สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather) และ 3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรเสี่ยงเจอภัยพิบัติถึง 34% โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจไทยของมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจรวมทั้งสิ้นสูงถึง 1.2–2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ หรือ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาภายใต้ MQDC ที่สนใจเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี (For All Well – Being) มองเห็นผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว เช่น Extreme weather ที่ส่งผลให้ต้องเผชิญกับปริมาณฝน หรือคลื่นความร้อนที่มากขึ้น ซึ่งหากไม่เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ จะนำมาซึ่งผลกระทบและความสูญเสีย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล เช่น การสูญเสียผลผลิตในภาคการเกษตร คุณภาพสินค้า การส่งออก ด้านความเป็นอยู่ รวมถึงมูลค่าที่ต้องฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยต่าง ๆ
สำหรับการร่วมมือในการพัฒนา Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จากการนำความสามารถของเทคโนโลยี GIS ของ Esri ที่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และได้เชิญ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ของ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมให้ความรู้และให้ข้อมูลเชิงลึก โดยมีเป้าหมายในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมิน และเผยแพร่เพื่อสร้างความตระหนัก ต่อประชาชนและสังคม
รวมทั้งเพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคตของประเทศต่อไป ด้วยหวังให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อม และร่วมป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม อีกทั้งต้องการให้เกิดความร่วมมือ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเริ่มต้นทำการศึกษาภัยคุกคามจากน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากเกิด ‘ฝนร้อยปี’ ที่นับเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของประเทศ
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดเผยว่า จากข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล สามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงน้ำท่วมได้เป็น 3 ประเภท คือ 1) น้ำท่วมเมือง (Urban flooding) หรือน้ำท่วมรอการระบาย เกิดจากการที่ฝนตกหนักในเมืองเกินกว่าความสามารถของระบบระบายน้ำ 2) น้ำล้นฝั่งจากแม่น้ำ (River flooding) เกิดจากปริมาณฝนตกหนักเกินความจุลำน้ำ ทำให้หลากล้นฝั่งเข้าท่วมชุมชน เช่น กรณีเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2554, 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา 3) น้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal flooding) เกิดขึ้นกับชุมชน หรือเมืองริมชายฝั่งทะเล เมื่อต้องเผชิญกับระดับทะเลที่สูงขึ้นอย่างถาวร
น้ำท่วมทั้ง 3 ประเภทมีแนวโน้มของความถี่ และความรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ทำกิน มีการประเมินปริมาณฝนที่ตกหนัก 1 วัน บริเวณพื้นที่ กทม. ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 20-30% ปริมาณฝน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 200 mm/วัน เป็น 250 mm/วัน พร้อมกับจำนวนวันที่ฝนตกหนัก มีโอกาสเพิ่มขึ้น 60-80% ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบายจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยามีโอกาสเพิ่มขึ้น 20-30% เช่นกัน กล่าวคือ ฝน 100 ปีปัจจุบัน จะกลายเป็นฝน 10 ปีในอนาคต
ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปีพ.ศ. 2554 จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีในอนาคต สุดท้ายสำหรับน้ำท่วมชายฝั่ง มีการประเมินโดยคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการระหว่างรัฐว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ประเมินว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณปากแม่น้ำประมาณ 0.39 m, 0.73 m และ 1.68 m ในปีค.ศ. 2030, 2050 และ 2100 ตามลำดับ จะทำให้พื้นที่ กทม. และปริมณฑลจมน้ำอย่างถาวร หากไม่มีมาตรการรับมือ นอกจากนี้ชาว กทม. และปริมลฑล ก็ต้องบริโภคน้ำประปากร่อย จากน้ำเค็มรุกล้ำ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อพืชสวนทุเรียน และกล้วยไม้ใน จ.นนทบุรี และ จ.นครปฐมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อนึ่งแผนงานต่อไปในอนาคต เราจะร่วมมือกันประเมินภัยคุกคามด้านอื่น ๆ ต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง สึนามิ พายุ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้กับชุมชนต่อไป
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Urban Hazard Studio ที่ใช้ความสามารถจากเทคโนโลยี GIS มีส่วนร่วมอย่างมากกับการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้านอื่น ๆ ที่ทำให้สามารถตรวจวัด วิเคราะห์ และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในมุมของ Climate Crisis ต่าง ๆ ใน 3 เรื่องหลักคือ ช่วยประเมินผลกระทบในรูปแบบแผนที่ ช่วยวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต
และช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการกับภัยจากธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ในเรื่องของการประเมินผลกระทบด้วยการสื่อสารด้วยภาพทำให้เห็นรูปแบบ หรือเหตุที่เกิดชัดเจนขึ้น สามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น เห็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ บนสภาพจริงแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถวางแผนรับมือกับปัจจุบันและเตรียมตัวสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังสามารถรู้จุดเกิดเหตุภัยต่าง ๆ รวมถึงคาดการณ์อนาคต ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ พืช สามารถประเมินความเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงในเชิงพื้นที่ หรือใช้ GIS Tool วิเคราะห์มูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ หัวใจสำคัญคือช่องทางการสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นถึงภาพและผลกระทบ รวมทั้งช่วยในการตัดสินใจการหาแนวทางตั้งรับ ซึ่งเทคโนโลยี GIS ตอบโจทย์ในการนำเสนอและสร้างเป็นแอปพลิเคชันที่แชร์ให้กับผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูและมาใช้งานได้
ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี GIS เข้าไปช่วยในเรื่อง Climate Change มีให้เห็นอยู่เยอะมาก ตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ มีความกังวลในเรื่องของ Urban Heat จากข้อมูลด้านการปล่อยพลังงานความร้อนในพื้นที่เมืองที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศา ทางแก้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเทคโนโลยี GIS สามารถช่วยวิเคราะห์และชี้เป้าให้ได้ว่าควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวตรงไหน และรูปแบบใด และสามารถคำนวณได้ว่า เมื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจุดนั้น ๆ แล้ว จะช่วยลดพลังงานความร้อนลงไปได้มากขึ้นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี GIS ไม่ใช่เพียงแค่การทำแผนที่ แต่จะเป็นเทคโนโลยีและเป็นเครื่องมือที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้าน Climate Change ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ภาคส่วน ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ทั้ง Esri และ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะพัฒนา Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม ด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสึนามิ ฝุ่น PM2.5 ในอนาคตอันใกล้นี้
สามารถเข้าใช้งาน Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม ได้ที่ http://www.urbanhazardstudio.com/