ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองตลาด Food Delivery ปี 2566 หดตัว 0.8 - 6.5% ต้องหาวิธีรักษารายได้ และฐานลูกค้า
9 ม.ค. 2023
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยภาพรวมตลาดจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในปีนี้ พบว่ามีมูลค่าราว 81,000 - 86,000 ล้านบาท หดตัวลง 0.8 - 6.5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา
สอดคล้องกับการหดตัวของอุตสาหกรรม Food Delivery ในหลาย ๆ ประเทศ ที่มูลค่าตลาดมีการปรับตัวลดลง จากสถานการณ์โควิด ที่ฟื้นตัวดีขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ดัชนีปริมาณการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery มีสัญญาณทรงตัว และชะลอตัวลง หลังจากที่การสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery เคยถูกเร่งจากสถานการณ์โควิด ในช่วงก่อนหน้านี้
ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 37% มีความถี่ในการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery ลดลง อยู่ที่ 5 ครั้ง ต่อเดือน จากเดิมที่เคยมีความถี่ 7 ครั้ง ต่อเดือน ในช่วงก่อนหน้านี้
ส่วนในด้านหมวดอาหารที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค คืออาหารในหมวดพื้นฐาน และอาหารจานด่วน ซึ่งมีความหลากหลาย และราคาไม่สูง เช่น ก๋วยเตี๋ยว อาหารไทย อาหารอีสาน และอาหารตามสั่ง เป็นต้น
ส่วนหมวดอาหารเครื่องดื่ม และเบเกอร์รี พบว่ามีคำสั่งซื้อลดลง เนื่องจากผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้เอง เมื่อกลับไปทำงานตามปกติ
เช่นเดียวกับหมวดอาหาร ที่เน้น “ประสบการณ์” ร่วมกับคนในครอบครัว เช่น ร้านอาหารบุฟเฟต์ สวนอาหาร
และภัตตาคาร ก็มีคำสั่งซื้อที่ลดลงเช่นเดียวกัน เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไปนั่งกินภายในร้านได้แล้วเกือบทั้งหมด
และภัตตาคาร ก็มีคำสั่งซื้อที่ลดลงเช่นเดียวกัน เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไปนั่งกินภายในร้านได้แล้วเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการใช้งานแพลตฟอร์ม Food Delivery คือ ปัจจัยในด้าน “ราคา” ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีแนวโน้มทรงตัว หรือสูงขึ้น จากภาวะต้นทุนของวัตถุดิบ และราคาพลังงาน ที่ยังทรงตัวสูง
ทำให้ราคาอาหารเฉลี่ยต่อหน่วย และค่าบริการจัดส่งอาหาร อาจมีการปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าในขณะนี้ แพลตฟอร์ม Food Delivery ต่าง ๆ จะมีการจัดโปรโมชันเพื่อรักษาทั้งฐานลูกค้า และยอดขาย ก็ตาม
แต่คาดว่า ความเข้มข้นในการแข่งขันด้านราคาอาจปรับลดลง ทำให้ระดับราคาเฉลี่ยต่อออเดอร์ มีแนวโน้มปรับขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ได้จากผลสำรวจ ที่อยู่ที่ประมาณ 180 - 190 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาด Food Delivery ในปี 2566 จะมีการหดตัวลงราว 0.8 - 6.5% แต่มูลค่าตลาดดังกล่าว ก็ยังนับว่ามีมูลค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ในช่วงก่อนที่โควิดระบาด เป็นอย่างมาก
ซึ่งมีสาเหตุมาจาก “ความเคยชิน” ของผู้บริโภค ในการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery การทำตลาดของแพลตฟอร์ม รวมถึงแนวโน้มราคา ต่อออเดอร์ที่สูงขึ้น อีกด้วย
- แพลตฟอร์ม Food Delivery จะแข่งขันกันอย่างไร ?
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้มองถึง “การแข่งขัน” ของแพลตฟอร์ม Food Delivery ต่าง ๆ ด้วยว่า จำเป็นที่จะต้องหากลยุทธ์ ในการรักษายอดขาย
และมองว่า การทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery มีความ “ยากลำบาก”
เพราะโครงสร้างธุรกิจประเภท On Demand มีต้นทุนทางธุรกิจที่สูง รวมถึงผลประกอบการยังขาดทุน แม้ผลประกอบการขาดทุน จะลดลงแล้วในปี 2564 - 2565 เทียบกับปี 2562
เนื่องจากรายได้ของแพลตฟอร์ม Food Delivery เพิ่มขึ้นราว 5 - 6 เท่า..
แต่การแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงขึ้น ทั้งจากแพลตฟอร์ม Food Delivery และผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ ที่เริ่มลงมาทำตลาด Food Delivery กันมากขึ้น รวมถึงการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ยังต้องคำนึงถึงผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ ซึ่งมีทั้ง ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้สั่งอาหาร รวมถึงไรเดอร์ อีกด้วย
ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์ม Food Delivery ต่างมีกลยุทธ์ในการปรับตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานการให้บริการไปยังต่างจังหวัด การเสนอแพคเกจรายเดือน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเก่า ๆ เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง และการขยายการให้บริการไปยังกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการฝากซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
รวมถึงกลุ่มธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกิจกรรมของผู้บริโภค เช่น ระบบจัดการร้านอาหาร (POS) ธุรกิจเรียกรถรับส่ง (Ride-hailing) และธุรกิจการจองที่พัก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองด้วยว่า แพลตฟอร์ม Food Delivery ควรนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการนำข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมาก มาพัฒนาเป็นโปรโมชัน ที่มีความเฉพาะเจาะจง กับลูกค้าในแต่ละกลุ่มมากขึ้น
รวมถึงการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ผ่าน Royalty Program หรือการเลือกช่วงเวลาในการแจกส่วนลด
หรือการร่วมทำการตลาดกับร้านอาหารที่มีฐานลูกค้าสูง เพื่อช่วยบริหารจัดการต้นทุนการขาย และต้นทุนการตลาด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากต้นทุนดังกล่าวแม้จะมีความสำคัญแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับต้นทุนประเภทอื่น
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อของแพลตฟอร์ม Food Delivery เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สอดคล้องกับอุตสาหกรรม Food Delivery ในหลาย ๆ ประเทศ ที่มีแนวเน้มหดตัวลง จากสถานการณ์โควิดที่ฟื้นตัวได้ดี ทำให้ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ทำให้ในอนาคต แพลตฟอร์ม Food Delivery ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เหลืออยู่ได้อย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนรายได้หลักจากช่องทาง Food Delivery จำเป็นต้องเร่งขยายช่องทางการขาย ให้มีความหลากหลาย และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น..
อ้างอิง :
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย