Google แนะนำเครื่องมือสำหรับผู้พิการ เพื่อสนับสนุนการตระหนักถึงความเท่าเทียม ในวัน Global Accessibility Awareness Day
19 พ.ค. 2022
เนื่องในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้เป็นวัน Global Accessibility Awareness Day ซึ่งเป็นวันแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและความเท่าเทียมสำหรับผู้พิการทั่วโลก Google จึงถือโอกาสนี้รวบรวมเครื่องมือและเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่บริษัทต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบไฮบริดกันมากขึ้น วันนี้ Google จึงมีข้อแนะนำ 7 ประการเกี่ยวกับวิธีที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสถานที่ทำงานที่คำนึงถึงการใช้งานของผู้พิการมากยิ่งขึ้นด้วยเครื่องมือของ Google Workspace
1. ทำให้การนำเสนอของคุณเข้าถึงได้มากขึ้น ภาพที่มีความซับซ้อนและข้อความคอนทราสต์ต่ำอาจทำให้การซึมซับข้อมูลที่นำเสนอในสไลด์เป็นเรื่องที่ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น มีสายตาเลือนราง หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา เมื่อใช้ Google Slides ให้สร้างสไลด์ที่เรียบง่ายและชัดเจนโดยไม่ต้องใส่กราฟิกหรือข้อความมากจนเกินไป และตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ชมสามารถอ่านข้อความได้โดยนำเสนอบนพื้นหลังที่คอนทราสต์สูง
2. ใส่ข้อความแสดงแทนและคำบรรยายภาพในการสื่อสารทุกรูปแบบที่มีรูปภาพ ภาพวาด หรือแผนภาพ ข้อความแสดงแทน (Alternative text หรือเขียนย่อว่า “Alt text”) ใช้อธิบายรูปภาพบนหน้าเว็บ ทำให้ผู้ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าถึงกราฟิกต่างๆ ได้
หากต้องการเพิ่มข้อความแสดงแทนใน Google Slides และ Google Docs ให้เลือกรูปภาพ ภาพวาด หรือกราฟิก จากนั้นเปิดเมนูตามบริบท (คลิกขวา หรือ Ctrl+Shift +\ บน ChromeOS หรือ ⌘+Shift+\ บน Mac) จากนั้นเลือกข้อความแสดงแทน
เมื่อคุณใส่รูปภาพในเอกสาร Google Docs หรืออีเมลใน Gmail ให้คลิกที่รูปภาพนั้น จากนั้นคลิกไปที่ "แก้ไขข้อความแสดงแทน" เพื่อเพิ่มคำอธิบายสิ่งที่รูปภาพแสดง
3. เขียนโดยคำนึงถึงการเข้าถึง เมื่อใช้ Google Docs หรือ Google Slides ให้หลีกเลี่ยงฟอนต์ที่มีขนาดเล็กและใช้สิ่งชี้นำทางสายตาในการถ่ายทอดข้อมูล ใช้ข้อความร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่สามารถมองเห็นได้เสมอ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการใช้หัวเรื่องที่เหมาะสมเพื่อระบุส่วนต่างๆ ของเอกสารแทนที่จะทำให้ฟอนต์ใหญ่ขึ้นหรือโดดเด่นขึ้น ซึ่งหัวเรื่องจะส่งผลต่อการไปยังส่วนต่างๆ ของเอกสารของโปรแกรมอ่านหน้าจอ นอกจากนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าคำศัพท์เฉพาะกลุ่มและคำย่อต่างๆ อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
4. ใช้ข้อความของลิงก์ที่ให้ข้อมูล โปรแกรมอ่านหน้าจอจะสแกนหาลิงก์ต่างๆ ได้ ดังนั้นข้อความของลิงก์ที่ให้ข้อมูลจะช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดเวลา ให้นึกถึงสิ่งที่คุณต้องการให้คนอื่นรู้เกี่ยวกับลิงก์นั้นๆ อธิบายให้ละเอียดและหลีกเลี่ยงการใช้ไฮเปอร์ลิงก์เฉพาะคำว่า “ที่นี่”
5. ใช้คำบรรยายภาพแบบเรียลไทม์ใน Google Slides และการประชุมทางวิดีโอของ Google พูดช้าๆ และเปิดกล้องเพื่อให้คนอื่นอ่านปากคุณได้ นอกจากนี้ ควรจัดเตรียมคำอธิบายภาพสำหรับการบันทึกเสียงหรือวิดีโอทั้งหมดที่แชร์ในงานนำเสนอหรือระหว่างการประชุม หากคุณใช้ YouTube ให้ตรวจสอบว่าคำบรรยายอัตโนมัติถูกต้องหรือไม่
6. สร้างสภาพแวดล้อมการประชุมที่คำนึงถึงคนทุกกลุ่มเพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ หลีกเลี่ยงการใช้เฉพาะสิ่งชี้นำทางสายตา เช่น ท่าทางมือ หรือสิ่งชี้นำทางเสียง เช่น การปรบมือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการอภิปราย การใช้ฟีเจอร์ “ยกมือขึ้น” ใน Google Meet มีประโยชน์ในระหว่างการประชุมเพราะจะช่วยจัดคิวของผู้บรรยายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขัดจังหวะกัน นอกจากนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าผู้เข้าร่วมประชุมบางคนอาจใช้เวลาในการประมวลข้อมูลนานกว่าปกติ
7. แชร์เอกสารไว้ล่วงหน้า หากเป็นไปได้ ให้แชร์ระเบียบวาระการประชุม บันทึกข้อความ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้าก่อนการประชุม เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบรายละเอียดคร่าวๆ และเพื่อเตรียมการที่จำเป็นเพื่อรองรับความต้องการของพวกเขา
และในส่วนของแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่ผู้พิการสามารถใช้ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ใน Google Play ผู้พิการสามารถดาวน์โหลด Gboard - แป้นพิมพ์ของ Google ซึ่งสามารถพิมพ์โดยการสั่งการด้วยเสียง และ Live Transcribe ฟีเจอร์แปลงคำพูดให้กลายเป็นตัวหนังสือบนสมาร์ทโฟน ช่วยถอดเสียงเป็นตัวอักษรให้ผู้พิการได้อย่างทันที ซึ่งมีภาษาให้เลือกกว่า 80 ภาษา และสลับระหว่าง 2 ภาษาได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงฟีเจอร์การแจ้งเตือนเสียงที่แจ้งเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจมีความเสี่ยงและสถานการณ์ส่วนบุคคลโดยพิจารณาจากเสียงที่ดังขึ้นที่บ้าน เช่น เสียงสัญญาณเตือนควัน เสียงไซเรน เสียงเด็กทารก
รวมไปถึงวิดีโอออนไลน์ YouTube ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้กับทุกเพศทุกวัย นอกจากคอนเทนต์ที่มีสาระและความบันเทิง Google พบว่ามีครีเอเตอร์ผู้พิการหลากหลายท่านได้ใช้ YouTube เป็นช่องทางในการแสดงความสามารถ เช่น
ฝ้าย ใช้เท้าแต่งหน้า ฝ้าย มีความพิการทางร่างกายมาแต่แรกเกิด ไม่มีแขน ขาสั้นข้างยาวข้าง เธอเริ่มจากเรียนรู้การแต่งหน้าด้วยการเปิดดูใน YouTube และหลังจากนั้นเธอก็ทำคลิปวีดิโอลง YouTube โดยใช้เท้าแต่งหน้า
Ozeeoos Right here อำนาจ ศรีสังข์ แรปเปอร์และนักกีฬาไตรกีฬา ที่พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด แต่สามารถเขียนเพลง แต่งเพลง และยังเป็นโปรดิวเซอร์งานเพลงโฆษณา
ครูแว่นดํา STUDIO ชาตรี บุญมี ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ประเภท 2 (คนเห็นเลือนราง) ปิ๊งไอเดียใช้ YouTube เป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน และปรับให้เข้ากับสังคมเด็กยุคใหม่
Hello Harley ฟ้า พิการตั้งแต่กำเนิด เหลือเท้าน้อยๆ เพียงข้างเดียวติดกับร่างกายช่วงล่างสั้นๆ ตั้งแต่ช่วงเอวลงไป เสนอไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตกับการพิสูจน์ความรักแท้กับคู่ชีวิต และครอบครัวที่อบอุ่น
Morcom1414 หมอคอม สิทธิโชค ผู้พิการทางการเห็นที่มีความสามารถทางด้านการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรีวิวอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้กับเพื่อนๆ ผู้พิการท่านอื่นๆ
S2S Channel ช่องที่เผยแพร่ผลงานของนักร้องนักดนตรีตาบอดจากโครงการพัฒนาศักยภาพนักร้องนักดนตรีตาบอดในที่สาธารณะ: จากถนนสู่ดวงดาว (From Street to Stars) หรือ S2S