Food Delivery App มื้อส่งด่วน กำลังจะเปลี่ยนเป็น “มื้อหลัก”

Food Delivery App มื้อส่งด่วน กำลังจะเปลี่ยนเป็น “มื้อหลัก”

19 มิ.ย. 2019
ในอดีตหากเราอยากจะทานร้านอาหาร Street Food ชื่อดัง แน่นอนต้องออกจากบ้านเดินทางไปที่ร้าน แถมเมื่อมาถึงร้านอาจจะต้องเจอการต่อคิวยาวเหยียด
ทำให้หลายครั้งต้องล้มเลิกความตั้งใจ เพราะแค่คิดก็รู้สึกยุ่งยาก
เป็น Pain Points กำแพงทางความรู้สึกที่ทำให้หลายคนไม่อยากทาน Street Food
จนเมื่อเทรนด์ Food Delivery Application เกิดขึ้น ที่ทำหน้าที่ รับออเดอร์ - ไปสั่งอาหารที่ร้านให้เรา - แล้วมาส่งถึงบ้าน
โดยมีให้เลือกใช้บริการหลาย App บนหน้าจอ Smartphone ทั้ง Foodpanda, LINE MAN, และ Grab food เป็นต้น อีกทั้งค่าบริการเริ่มต้นแค่ 10 บาท จนถึงหลักร้อยซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาตามระยะทางของแต่ละ App
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ร้านอาหาร Street Food ชื่อดังจากที่เคยขายดีเฉพาะหน้าร้าน ก็ขายดีมากขึ้นไปอีกเมื่อมีช่องทางใหม่คือ Food Delivery App
แล้วทีนี้ใครที่ได้ผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อใน 1 มื้อผู้บริโภคมีตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าในอดีต
สารพัดเมนูอาหารพร้อมรับประทาน ของ 7 - eleven อาจถูกหลงลืมไปบางครั้งบางเวลาที่ผู้บริโภคหิว แต่ที่ดูเป็นกังวลใจมากที่สุดก็คือบรรดาเชนร้านอาหารชื่อดัง โดยเฉพาะบริษัทที่มีหลายแบรนด์ร้านอาหารในมือตัวเอง
Minor Food และ CRG เองจึงผลิต Food Delivery App ที่สามารถสั่งอาหารในเครือตัวเองได้ครบทุกแบรนด์
ที่น่าสนใจคือ จากแต่เดิมมีเพียงบางแบรนด์เท่านั้นของทั้ง 2 บริษัทที่มีบริการ Delivery แต่ตอนนี้ ทุกแบรนด์ในเครือพร้อมใจให้บริการ Delivery กันหมด
ปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงส่งผลให้ธุรกิจ Food Delivery ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2561 เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งรวมทั้ง Food Delivery App และร้านอาหารที่มีบริการ Delivery
อีกทั้งในปี พ.ศ. 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่า Food Delivery จะเติบโตมากกว่า 10% และมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท
เป็นการเติบโตที่มากกว่าภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยช่วง 3 -4 ปีที่ผ่านมา ที่เติบโตอยู่ที่ 3-4% ต่อปี
จะเห็นได้ว่า Food Delivery เวลานี้ ได้รับความนิยมอย่างน่าเหลือเชื่อหากเทียบกับในอดีต
ที่น่าสนใจคือ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ 400 คนพบว่า 63% มองว่าการสั่งอาหารผ่าน App ทำให้การไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง
นั่นแปลว่า ตลาดก็ยังเติบโตได้อีกในอนาคตอันใกล้ จนทำให้บรรดา Food Delivery App จนถึงแบรนด์อาหารในเมืองไทยกำลังเริ่มสนใจโมเดล Cloud kitchen
แล้ว Cloud kitchen คืออะไร? หากอธิบายสั้นๆ ก็คือ การสร้างครัวกลางขนาดใหญ่ จากนั้นร้านอาหารก็ส่งพนักงานตัวเองมาปรุงอาหารหรืออาจส่งสูตรการปรุงอาหารมาให้พนักงานครัวกลาง
ซึ่งนั้นหมายถึง 1 ครัว Cloud kitchen สามารถปรุงอาหารได้หลายร้าน และ 1 ครัวยังสามารถวางทำเลที่ดีต่อการส่งอาหารได้ครอบคลุมกว่ารูปแบบเดิม ที่พนักงานส่งอาหารต้องวิ่งไปที่ร้านอาหารตาม ออเดอร์ลูกค้า ถึงจะเป็นร้านที่ไกลก็ต้องบริการ
แม้ข้อดีคือ เจ้าของร้านอาหารไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการขยายสาขา หรือครัวในธุรกิจ Delivery แต่ในอีกมุมหนึ่ง สูตรลับความอร่อยเมนูอาหารที่ตัวเองหวง ก็อาจจะหลุดไปอยู่ในมือคนอื่น จากนั้นก็มาเปิดร้านแข่งกับตัวเอง
แล้วทีนี้ Cloud kitchen จะเกิดขึ้นได้ไหม ?
เป็นอีกหนึ่งข้อที่สำคัญ ว่าท้ายที่สุดแล้วเจ้าของครัว Cloud kitchen จะสร้างความเชื่อใจให้กับบรรดาร้านอาหารได้มากน้อยแค่ไหน ?
ไม่แน่ว่าคนเชียงใหม่ อาจจะได้กินโจ๊กสามย่าน ก็เป็นได้
---------------------------------------------------------------------------------------------
References : KResearchCenter - www.quora.com
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.