Marshall จากเครื่องขยายเสียงชาวร็อก สู่ หูฟังไร้สายสุดเท่

Marshall จากเครื่องขยายเสียงชาวร็อก สู่ หูฟังไร้สายสุดเท่

16 ต.ค. 2021
ตอนที่ Marshall (มาร์แชลล์) แบรนด์เครื่องเสียงสุดคลาสสิกจากอังกฤษ ซึ่งโด่งดังในเรื่องคุณภาพเสียงที่ไม่เป็นสองรองใคร
แถมดีไซน์ยังเก๋เกินใคร ต่อให้วางไว้เฉย ๆ ยังดูเท่ สะดุดตา จนหลายคนมักนำใช้เป็นของตกแต่งตามบ้านหรือคาเฟ มากว่า 50 ปี
ได้ปฏิวัติวงการด้วยการเปิดตัวลำโพงไร้สาย ก็เล่นเอาสาวกใจสั่นรัว อยากเป็นเจ้าของแล้ว
ล่าสุด ยังอัปเลเวลผสานความคลาสสิกให้มีความร่วมสมัย แถมพกพาไปไหนก็ได้
ด้วยการเปิดตัว “หูฟังไร้สายสุดฮิป” ที่นอกจากจะคงคอนเซปต์เรื่องคุณภาพเสียงตามแบบฉบับ Marshall ไว้ไม่ตกหล่น
เพิ่มเติมคือ ความคลาสสิกที่มาในรูปลักษณ์ใหม่แต่ยัง “หล่อบาดใจ” เหมือนเดิม
ก็ไม่แปลกที่จะไม่ใช่แค่กลุ่มแฟนคลับของแบรนด์เท่านั้น ที่อยากครอบครอง
แต่ยังเขย่าหัวใจของคนที่กำลังมองหาหูฟังไร้สายคู่ใจไม่น้อย
จนทำให้หลังจากเปิดตัวมาไม่นาน หูฟังไร้สายของ “Marshall” ก็กลายเป็น Rare Item
ที่ขายดีจนถึงขั้นขาดตลาด ใครที่อยากได้ อาจต้องอดใจรอกันซะหน่อย
ส่วนใครที่อาจจะสงสัยว่า ทำไม Marshall ถึงเป็นแบรนด์ที่คนทั้งโลกหลงรักมากว่า 59 ปี
อย่ารอช้า.. ไปสำรวจเส้นทางสายดนตรีของ Marshall พร้อมกัน
รู้หรือไม่ จุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่มอบเสียงดนตรีอันทรงพลัง ดุดันสมกับเป็นชาวร็อกนี้ ตั้งต้นมาจากชายชาวอังกฤษที่ป่วยกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่เด็ก นามว่า คุณ Jim Marshall
เพราะป่วยเป็นวัณโรคกระดูกตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ แถมยังต้องใส่เฝือกตลอดเวลา
ชีวิตในวัยเด็กจึงไม่ได้โลดโผนตามวัย จนอายุได้ 13 ปี อาการป่วยเหมือนจะดีขึ้น
เพราะคุณพ่อของเขา ซึ่งเปิดร้าน Fish and Chips แนะนำให้ไปเรียนเต้นแท็ป ซึ่งเป็นการเต้นโดยใช้รองเท้าเคาะพื้นเป็นจังหวะ เพื่อเสริมสร้างกระดูกที่ขา
การพาตัวเองเข้าสู่โลกดนตรีในครั้งนั้น ทำให้คุณ Marshall ค่อย ๆ ค้นพบพรสวรรค์ด้านดนตรีของตัวเอง
ตั้งแต่การร้องเพลง ไปจนถึงการตีกลอง ซึ่งเขาทำควบคู่ไปกับการทำงานประจำ
คุณ Marshall ผ่านประสบการณ์ทำงานมาอย่างโชกโชน
ตั้งแต่เป็นคนงานทำขนมในโรงงานบิสกิต, พนักงานขายรองเท้า ไปจนถึงพนักงานตัดเนื้อในโรงงานอาหารกระป๋อง จนหวิดเกือบนิ้วหัวแม่มือขาด ในขณะปฏิบัติงาน
กระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสภาพร่างกายที่อาจจะไม่ได้แข็งแรง 100% ทำให้คุณ Marshall ไม่ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบ
เลยเป็นโอกาสให้ได้ไปลองทำงานเป็นช่างฝึกหัดที่ Cramic Engineering เลยพอมีความรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพื้นฐานติดตัวบ้าง
ชีวิตในช่วงวัยรุ่นของคุณ Marshall ถือว่าไปได้สวย อาจเพราะด้วยใจรักด้านดนตรี ทำให้แม้จะไม่ได้ทำจริงจัง แต่ก็ทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ
เพราะถ้าถามว่า เขาทำได้ดีแค่ไหน ก็ต้องบอกว่า ฝีมือการตีกลองของเขานั้น เขาขั้นชั้นครู
โดยตอนหลังสามารถยึดเป็นอาชีพ ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และมีลูกศิษย์ไม่น้อย แถมบางคนยังกลายเป็นมือกลองชื่อดังในภายหลัง
เช่น Mitch Mitchell แห่งวง Hendrix, Micky Waller แห่งวง Little Richard และอีกหลายคน
ที่น่าสนใจคือ ใครจะคิดว่า จากการเป็นครูสอนตีกลอง จะเป็นใบเบิกทางให้เขาเห็นช่องทางในการทำธุรกิจที่ไม่เพียงเป็นขุมทรัพย์สร้างรายได้มหาศาล แต่ยังทำให้เขาเป็นหนึ่งในตำนานของวงการเพลงร็อก
คุณ Marshall ปิ๊งไอเดียธุรกิจ จากการที่ตัวเองต้องไปซื้อเครื่องดนตรีมาขายต่อให้นักเรียน
จนผู้จัดการร้านที่เขาซื้อประจำทักว่า ถ้าต้องซื้อเครื่องดนตรีถี่ขนาดนี้ ทำไมเขาไม่เปิดร้านขายเครื่องดนตรีของตัวเองซะเลย
จากคำถามดังกล่าว ทำให้ในปี ค.ศ. 1960 คุณ Marshall ตัดสินใจเปิดร้านขายเครื่องดนตรีในกรุงลอนดอน โดยตั้งชื่อว่า “Jim Marshall and Son”
แม้จะไม่เคยเป็นพ่อค้ามาก่อน แต่ด้วยความที่คลุกคลีในเส้นทางดนตรีมานาน ทำให้คุณ Marshall พอมีฐานลูกค้า แถมนักเรียนช่วยบอกต่อปากต่อปาก ไปจนถึงช่วยคำแนะนำว่า ควรจะสต็อกเครื่องดนตรีประเภทไหนมาไว้ที่ร้านบ้าง​
พอตั้งต้นจากอินไซต์ลูกค้า ก็ทำให้ร้าน “Jim Marshall and Son” ในเวลานั้น เป็นร้านขายเครื่องดนตรีที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร
ไม่ได้ขายเฉพาะกลอง แต่ยังมีกีตาร์ เครื่องขยายเสียง ฯลฯ ที่พร้อมตอบโจทย์นักดนตรีเลือดใหม่
โดยเฉพาะชาวร็อก ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นช่วงที่ดนตรีร็อกในอังกฤษกำลังเบ่งบาน
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ร้าน “Jim Marshall and Son” โด่งดังเป็นพลุแตก คือ ตอนที่คุณ Marshall นำ Pain Point ของลูกค้า ที่รู้สึกว่าเครื่องขยายเสียง (แอมป์) กีตาร์ที่วงดนตรีใช้ในขณะนั้น มีโทนเสียงที่ใส สะอาด (Clean) และดังไม่พอ
มาต่อยอดและสร้างเป็นแอมป์สำหรับกีตาร์ ภายใต้แบรนด์ Marshall ขึ้นมาซะเลย
โดยตั้งชื่อว่า“JTM45” ที่ย่อมาจาก “Jim & Terry Marshall 45” ซึ่งมาจากชื่อของเขา และลูกชาย มารวมกับเลข 45 ซึ่งใช้บอกจำนวนวัตต์ นั่นเอง
จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ JTM45 คือ โทนเสียงแตก (Distortion) มีความหนาและหนัก และระดับเสียงที่ดังขึ้นมาก
แน่นอนว่า พอตีโจทย์ลูกค้าแตก สินค้าที่ออกมาก็โดนใจนักดนตรีในยุคนั้นเข้าอย่างจัง จนทำให้ผลตอบรับถล่มถลาย
ทันทีที่วางขาย JTM45 ก็ถูกขายเกลี้ยงหมดในวันแรก
แถมยังมีลูกค้าหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย มีมือกีต้าร์ระดับท็อปแวะเวียนมาอุดหนุน
แต่จุดที่แจ้งเกิดให้แบรนด์ Marshall เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือตอนที่ Jimi Hendrix หนึ่งในมือกีตาร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก นำแอมป์ของแบรนด์ Marshall ไปใช้
แถมยังตั้งโชว์เป็นฉากหลังบนเวทีคอนเสิร์ต ซึ่งนอกจากจะเป็นการันตีคุณภาพ ยังเป็นการโปรโมตแบรนด์ไปในตัว โดยที่ไม่ต้องเสียค่าโฆษณาสักบาท
จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้คุณ Marshall ต่อยอดธุรกิจจากร้านขายเครื่องดนตรี สู่การก่อตั้งบริษัท Marshall Amplification ในปี ค.ศ. 1962 รวมถึงมีการขยายสาขา และเปิดโรงงานของตัวเองในปี ค.ศ. 1964
แล้วอะไรทำให้จากเครื่องขยายเสียงของชาวร็อก รุกคืบเข้ามาครองใจผู้ฟังทั่วไป ?
หลังจากครองตลาดเครื่องเสียงมาอย่างยาวนาน ทางแบรนด์เห็นว่า แทนที่จะเจาะกลุ่มเฉพาะนักดนตรี ทำไมไม่เอาจุดแข็งของแบรนด์มาตอบโจทย์คนทั่วไป ที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีเพื่อเพิ่มอรรถรสในการฟังเพลง
จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวหูฟังรุ่น Major และ Minor ในปี ค.ศ. 2010
และอีก 2 ปีต่อมา จึงได้เปิดตัวลำโพงบลูทูธรุ่นแรก ที่ชื่อว่า Stanmore เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การฟังเพลงของคนยุคนี้
ซึ่งดูเหมือนว่าแบรนด์จะมาถูกทางไม่น้อย เพราะเปิดตัวมาไม่เท่าไร ก็ขายดีจนกลายเป็นของหายากภายในเวลาสั้น ๆ
และล่าสุด Marshall ก็ลุยตลาดหูฟังไร้สายแบบ True Wireless ด้วยการเปิดตัว “Marshall Motif ANC” และ “Marshall Minor III” ที่ออกมาในทรง In-Ear และ Earbud
งานนี้ถ้าถามว่า พอย่อส่วนลงมาแล้ว คุณภาพเสียงยังแจ๋วแค่ไหน
ใครอยากรู้อาจต้องไปลองหามาท้าพิสูจน์ แต่ที่แน่ ๆ การเปิดเกมรุกครั้งใหม่นี้ ก็คงทำให้บรรดาผู้ผลิตหูฟังไร้สายทั้งหลายไม่อาจนิ่งนอนใจ
เพราะเปิดตัวมาแค่เดือนกว่า ก็ฮิตติดกระแส จนขึ้นแท่นกลายเป็นของหายากไปแล้ว
ไม่ใช่แค่พร้อมเปย์ก็เป็นเจ้าของได้ แต่ต้องรอให้มีสินค้าด้วย..
มาถึงตรงนี้ ถ้าถามว่า อะไรคือกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Marshall ประสบความสำเร็จ
สิ่งนั่นคือ การรับฟังเสียงของลูกค้า และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า
เหมือนอย่างอดีตที่คุณ Marshall ไม่ได้ตีกรอบตัวเองว่าจะขายแต่เครื่องดนตรี แต่พร้อมฟังเสียงลูกค้าจนกลายเป็นที่มาของเครื่องขยายเสียงที่เป็นตำนานกึกก้องมาจนถึงทุกวันนี้
มาถึงตอนนี้ แบรนด์ Marshall กำลังพาตัวเองไปอีกขั้น ด้วยการนำจุดแข็งของแบรนด์ที่ไม่ได้มีดีแค่คุณภาพของเสียงมาต่อยอด​
แต่ยังรวมถึงจุดแข็งของสไตล์ที่ดูวินเทจ แต่คลาสสิก มาสร้างเสน่ห์ให้สินค้าในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร
เพราะอย่าลืมว่า ลูกค้าที่ยอมจ่ายเพื่อเป็นเจ้าของอุปกรณ์ที่มีโลโกของ Marshall วันนี้
ไม่ได้หวังแค่ฟังก์ชันที่ตรงใจ แต่ยังต้องการให้แบรนด์ช่วยสะท้อนรสนิยมของตัวเองด้วย..
อ้างอิง :
-https://www.ealingclub.com/ealing-club-whats-it-about/jim-marshall-father-of-loud/
-https://www.guitarnoise.com/artists/jim-marshall/
-https://marshall.com/about/marshall-history
-https://www.washingtonpost.com/entertainment/music/jim-marshall-maker-of-rock-and-roll-guitar-amplifiers-dies-at-88/2012/04/05/gIQA9TCOyS_story.html?noredirect=on&utm_term=.39e34225e18d
-https://www.mendetails.com/must-read/introduce-%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%87-marshall-emberton-aug20/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.