กรณีศึกษา กลยุทธ์การตลาดของ Supreme แบรนด์สตรีตแฟชั่นระดับโลก

กรณีศึกษา กลยุทธ์การตลาดของ Supreme แบรนด์สตรีตแฟชั่นระดับโลก

16 ก.พ. 2021
“มิติใหม่ของเครื่องรางของขลัง”
“ได้ขอลิขสิทธิ์หลวงพ่อคูณหรือยัง?”
“เสื้อตัวนี้ต้องปลุกเสกก่อนใส่หรือเปล่า?”
“ใส่แล้วเหนียวแน่!”
นี่คือส่วนหนึ่งในหลากหลายความคิดเห็น ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์
หลังจาก Supreme แบรนด์สตรีตแฟชั่นชื่อดัง เผยโฉมคอลเลกชันใหม่ Spring/Summer 2021
ซึ่งมีเสื้อเชิ้ต 3 สี ด้านหลังมีลายภาพผ้ายันต์หลวงพ่อคูณ กำลังนั่งยอง สูบบุหรี่
พร้อมข้อความหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
งานนี้ทำเอาสาวก Supreme และลูกศิษย์หลวงพ่อคูณ เซอร์ไพรส์ไม่น้อย
ที่จู่ๆ Supreme ก็ลุกขึ้นมาจับตลาดสายมู ชูความขลังแบบนี้
ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันการตลาดแนวใหม่
ซึ่งถ้าไปย้อนดูกลยุทธ์การทำตลาดที่ผ่านๆ มาของ Supreme
จะพบว่า​ Supreme มีวิธีทำการตลาดที่ไม่เหมือนใคร จนไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมทำอะไรออกมา ก็ขายดี
1. มอบประสบการณ์ที่ลูกค้าคาดไม่ถึง
Supreme ก่อตั้งในปี 1994 เริ่มต้นจากร้านขายเสื้อผ้าสำหรับคนเล่นสเกตบอร์ด
โดยที่เจ้าของร้าน คือคุณ James Jebbia​ ที่เล่นสเกตไม่เป็นก็จริง แต่ไม่ใช่ปัญหา
เพราะเขาเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นคงไม่สร้างจุดขายให้ร้าน
ด้วยการเปิดประตูหน้าร้านให้กว้าง และออกแบบบริเวณกลางร้านเป็นลานโล่ง ให้สามารถเล่นสเกตเข้ามาในร้านได้เลย จนเป็นที่ถูกใจในหมู่นักเล่นสเกตเป็นอย่างมาก
ทำให้ภายในเวลาไม่นาน ชื่อเสียงของร้าน Supreme ก็แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแบรนด์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. ​ทำให้สินค้าให้เนื้อหอมจนใครๆ ก็อยากครอบครอง
Supreme จะเปิดตัวเพียงปีละ 2 คอลเลกชัน คือ Spring/Summer และ Fall/Winter
โดยก่อนจะเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ Supreme จะเรียกแขก ด้วยการโชว์สินค้าผ่านทางเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดีย​
แต่แทนที่จะปล่อยสินค้าทั้งคอลเลกชันในคราวเดียว
Supreme เลือกใช้วิธีค่อยๆ อัปโหลดไอเทมใหม่ๆ โดยจะมีไทม์ไลน์ที่แน่นอน คือ ทุกๆ 11 โมงเช้าของวันพฤหัสบดี
หลายคนอาจมองว่า ทำแบบนี้เป็นการสร้างความยุ่งยากให้ลูกค้า ใครจะมีเวลามาตามดูตลอดเวลา
แต่ไม่ใช่สำหรับลูกค้าของ Supreme ที่รู้สึกว่า การรอคอยนี้ช่างมีความหมาย และน่าตื่นเต้น
โดยแฟนๆ ของ Supreme จะหมั่นเข้ามาอัปเดตไอเทมใหม่ ดูว่ามีอะไรน่าตื่นเต้น ราวกับเป็นกิจวัตร
ถ้าชิ้นไหนเข้าตา ก็จะได้วางแผนถูก ว่าจะไปชอปปิงเมื่อไร
​เพราะเป็นอันรู้กันว่า สินค้าของ Supreme แทบจะเป็น Limited Edition หมดแล้วหมดเลย
พลาดแล้ว หากอยากได้ ก็อาจต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่าเท่าตัว..
เพราะจะมีกลุ่มคนที่ซื้อเพื่อไปขายต่อ และอาจมีการปั่นราคาสูงขึ้น จากเดิมหลายเท่าตัว
ซึ่งหลายคนอาจจะแย้งในใจว่า ถ้ารู้ว่าของจะขายดี ทำไมไม่ผลิตออกมาเพิ่ม
แต่ถ้ามองอีกมุม การที่ของชิ้นนั้นจะมีคุณค่าและมีราคา ก็ต่อเมื่อสิ่งของชิ้นนั้นมีจำกัด และเป็นที่ต้องการ
ดังนั้น ยิ่งสินค้าของ Supreme มีจำกัด แถมขายต่อได้แพง ก็ยิ่งมีคนอยากมาซื้อมากขึ้นเท่านั้น
3. พร้อมสร้างความแปลกใหม่ตลอดเวลา
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ Supreme คิดว่าจะทำ Collaboration มาจากความช่างสังเกตของเจ้าของแบรนด์
เขาพบว่าลูกค้าที่มาชอปที่ร้าน มักนำเสื้อผ้าของ Supreme ไปแมตช์กับเสื้อผ้าของแบรนด์หรูต่างๆ
ถ้าอย่างนั้น ทำไม Supreme ไม่จับคู่กับแบรนด์ให้ลูกค้าซะเลย
ดังนั้น ในปี 2012 Supreme เลยไป Collaboration กับ Comme des Garcons เป็นครั้งแรก
ก่อนจะไป Collaboration กับอีกหลายแบรนด์ดัง ไม่ว่าจะเป็น Lacoste, Nike, Timberland, Louis Vuitton
ไม่ใช่แค่แบรนด์แฟชั่น แต่ Supreme ยังเคยร่วมมือกับหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น​
แบรนด์ขนมอย่าง Oreo ซึ่งมีภาพขนมรุ่นใหม่เป็นตราสัญลักษณ์ Supreme
รวมทั้งการนำคารักเตอร์ของตุ๊กตา Chucky จากภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง Child’s Play มาเปลี่ยนลุคให้กลายเป็นตุ๊กตาสุดชิก
ข้อดีของการ Collaboration กับแบรนด์ต่างๆ จะทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นสตรีตแฟชั่นดูหรูมีระดับขึ้น และยังเป็นการขยายฐานลูกค้าให้ Supreme เป็นที่รู้จักมากขึ้น
มาถึงคอลเลกชันล่าสุด ที่โลกออนไลน์มองว่าเป็นคอลเลกชัน Supreme x หลวงพ่อคูณ
ซึ่งแม้จนถึงขณะนี้ Supreme ยังไม่ได้ประกาศว่า จะขายเชิ้ตนี้ที่ราคาเท่าไร
บอกเพียงแต่วางจำหน่ายที่ญี่ปุ่น ผ่านทางหน้าร้าน และเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป
ซึ่งก็น่าติดตามว่า หลังจากวางขาย ไอเทมนี้จะ Sold out ในทันทีหรือไหม
เพราะ ไอเทมนี้ คงไม่ได้มีแต่สายแฟ อยากได้มาใส่คูลๆ
แต่สายมู ก็อาจจะอยากได้มาเสริมมงคลเช่นกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.