สรุป 5 ฟีเชอร์ใหม่ YouTube เพิ่มปุ่ม Ask ใช้ AI ช่วยตอบคำถาม เกี่ยวกับคลิปที่ดู

สรุป 5 ฟีเชอร์ใหม่ YouTube เพิ่มปุ่ม Ask ใช้ AI ช่วยตอบคำถาม เกี่ยวกับคลิปที่ดู

1 ก.ค. 2024
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา YouTube เพิ่งจะประกาศเพิ่มฟีเชอร์ใหม่ ให้กับผู้ใช้งาน YouTube Premium
ซึ่งมีการนำเอาความสามารถด้าน AI ใส่เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน YouTube ให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนจะมีฟีเชอร์อะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น MarketThink สรุปให้อ่านกันเป็นข้อ ๆ ในโพสต์นี้
1. เพิ่มฟีเชอร์ “Jump Ahead”
เป็นฟีเชอร์ที่จะทำให้เราสามารถข้ามไปดูช่วงเวลาที่ดีที่สุดในคลิปวิดีโอได้ โดยกดที่ปุ่ม Jump Ahead เพียงครั้งเดียว
ซึ่ง YouTube จะใช้ AI เข้ามาช่วยคัดเลือกช่วงเวลาที่ดีที่สุดในคลิปวิดีโอ โดยเรียนรู้จากพฤติกรรมการรับชมของเรา และเก็บข้อมูลไว้ว่าส่วนใดของคลิปวิดีโอ คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด
2. สามารถย่อหน้าจอ YouTube Shorts ได้
ฟีเชอร์นี้ จะทำให้ผู้ใช้งาน YouTube Premium สามารถดูคลิปวิดีโอ YouTube Shorts แบบย่อหน้าต่าง (Picture-in-Picture) ได้
หรือก็คือ เราจะสามารถดูคลิปวิดีโอ YouTube Shorts ไปพร้อมกันการใช้งานแอปพลิเคชันอื่นได้นั่นเอง
3. ปุ่ม “Ask” ใช้ AI ช่วยตอบคำถามในคลิปวิดีโอ
โดยปุ่ม Ask นี้ จะปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอ เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่ใช้ AI ทำหน้าที่ตอบคำถามต่าง ๆ เช่น คำถามที่เราสงสัยเกี่ยวกับคลิปวิดีโอนั้น หรือการแนะนำเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า ฟีเชอร์นี้ยังทดลองใช้อยู่แค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
4. ดาวน์โหลด YouTube Shorts ให้อัตโนมัติ ไว้ดูแบบออฟไลน์
ฟีเชอร์นี้ YouTube จะดาวน์โหลดคลิปวิดีโอ YouTube Shorts ลงในอุปกรณ์ของเราโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ใช้ดูแบบออฟไลน์ได้ โดยไม่ต้องดาวน์โหลดเอง
5. ปรับหน้าตาของ YouTube ใหม่
โดยหน้าตาของ YouTube แบบใหม่ จะย้ายส่วนแสดงรายละเอียดของคลิปวิดีโอไปไว้ที่ด้านข้างแทน (เฉพาะการใช้งานใน PC) และนำคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องมาไว้ที่ด้านล่างของคลิปวิดีโอที่กำลังเล่นอยู่
โดย YouTube ระบุว่า การปรับหน้าตาในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การรับชมที่ดีขึ้น และเลือกดูคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้นด้วย
ซึ่งจากฟีเชอร์ใหม่ทั้ง 5 ฟีเชอร์ที่เพิ่มเข้ามานี้ ผู้ใช้งาน YouTube Premium ในไทย สามารถใช้ได้ในทันที 2 ฟีเชอร์ คือ การดาวน์โหลด YouTube Shorts ไว้ดูแบบออฟไลน์โดยอัตโนมัติ และหน้าตาของ YouTube แบบใหม่
โดยต้องเข้าไปเปิดการใช้งานด้วยตัวเองที่หน้า “Try experimental new feature” บนเว็บหรือแอปพลิเคชัน YouTube
ส่วนฟีเชอร์อื่น ๆ ผู้ใช้ YouTube ในไทย จะยังไม่สามารถใช้งานได้ 
แต่จะเปิดให้ใช้งานจริง ๆ ตอนไหน ก็อาจต้องติดตามกันต่อไป..
อ้างอิง : 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.