"เมทเธียร์" เผยหุ่นยนต์ทำความสะอาดก้าวเข้าสู่ Gen 3 ใช้ IoT เต็มรูปแบบ แนะภาครัฐเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายรองรับเทคโนโลยี

"เมทเธียร์" เผยหุ่นยนต์ทำความสะอาดก้าวเข้าสู่ Gen 3 ใช้ IoT เต็มรูปแบบ แนะภาครัฐเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายรองรับเทคโนโลยี

25 เม.ย. 2024
หากพูดถึงการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะในยุคปัจจุบัน ภาพของหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบมืออาชีพ (Professional Cleaning Robots) เริ่มเป็นที่คุ้นตาในอาคารหลายแห่งในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นในตลาดโดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก ResearchAndMarkets.com คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดโลกในธุรกิจนี้จะมีอัตราการเติบโตต่อปีประมาณ 20% ระหว่างปี 2566-2573 และมูลค่าตลาดอาจจะแตะ 20,970 ล้านดอลลาร์ในปี 2573 โดยมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไทยถือส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30%
ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ทำความสะอาดเพิ่มขึ้นหลักๆ จะมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประชากรโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น และความต้องการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นในขณะที่ต้นทุนต้องลดลง
Metthier ผู้ดำเนินธุรกิจการให้บริการการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจร (Smart Facility Management) เผยข้อมูลพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหุ่นยนต์ทำความสะอาดไว้อย่างน่าสนใจผ่านบทความนี้ในหลายประเด็น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาการของหุ่นยนต์ที่ยังต้องทำงานร่วมกับคนไปสู่หุ่นยนต์เจเนอเรชั่น 3 (Gen3) ที่พัฒนาสู่ Internet of Things คือ สามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีคนควบคุม โยงถึงพัฒนาการของรูปแบบธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น Robot as a Service (การเช่าใช้หุ่นยนต์บริการ) รวมถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบในอนาคต  
-พัฒนาการของหุ่นยนต์ทำความสะอาดจากรุ่นสู่รุ่น
การพัฒนาหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบ่งกว้างๆ ได้ 3 ยุค
ยุคแรก คือยุคที่หุ่นยนต์ทำตามคำสั่งที่ป้อนโดยมนุษย์ โดย Electrolux นำหุ่นยนต์ทำความสะอาดเข้าสู่ตลาดครั้งแรกของโลกในปี 2539 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่ยังต้องใช้รีโมทคอนโทรลในการสั่งงาน
ยุคนี้ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดของหุ่นยนต์ยังไม่ค่อยดีนักและราคาค่อนข้างสูง หุ่นยนต์ทำความสะอาดในยุคนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ยุคที่สอง (ยุคปัจจุบัน) คือยุคที่หุ่นยนต์ฉลาดมากขึ้น สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ มีฟีเจอร์ที่จะตรวจจับวัตถุและคนได้ หุ่นยนต์ในยุคที่สองนี้ถูกพัฒนาโดยมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาร่วมด้วย
แต่แม้ว่าหุ่นยนต์สามารถทำความสะอาดเองได้ แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการเช่น ยังไม่สามารถประเมินประเภทพื้นผิวในการเลือกการทำความสะอาดที่เหมาะสมได้เอง เป็นต้น หุ่นยนต์ยุคนี้จึงยังจำเป็นต้องทำงานร่วมกับคนอยู่
ยุคที่สาม เป็นยุคที่เชื่อว่าจะมาถึงในไม่ช้านี้ คือยุคที่หุ่นยนต์ถูกพัฒนาเข้ากับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) สามารถสร้าง 3D Mapping ทำให้หุ่นยนต์สามารถคิดและตัดสินใจประมวลผลในการทำงานเองได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด
เช่น เมื่อหุ่นยนต์เห็นเศษขยะ หรือน้ำหก หุ่นยนต์ก็สามารถตามไปเก็บทำความสะอาดได้เองทันที หรือปรับโหมดการทำความสะอาดให้เข้ากับแต่ละพื้นผิวได้เอง เป็นต้น ซึ่งหากทำได้จริง เชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนโฉมวงการหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการทำความสะอาดแน่นอน
-การพัฒนารูปแบบธุรกิจเป็นการเช่าใช้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น
เนื่องจากต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ในแต่ละครั้งนั้นค่อนข้างสูง ทำให้ราคาขายของหุ่นยนต์ทำความสะอาดจึงสูงตาม ส่งผลให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร
จึงเกิดรูปแบบธุรกิจการเช่าใช้หุ่นยนต์บริการ (Robot as a Service) นี้ขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น เพราะรูปแบบธุรกิจนี้สามารถให้ผู้ใช้บริการสามารถเช่าใช้หุ่นยนต์ราคาหลักล้านได้ โดยคิดค่าบริการในรูปแบบรายเดือนหรือรายปี (Subscription Model)
หลังจากมีบริการนี้ ทำให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดเติบโตก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากการใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดยังสามารถช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ความทันสมัยให้กับอาคารนั้น
แล้วหากเปรียบเทียบในเชิงประสิทธิภาพการทำงานแล้ว พนักงานหนึ่งคนอาจจะทำความสะอาดครอบคลุมพื้นที่ได้มากที่สุดเพียง 1,500-2,000 ตร.ม.ต่อวัน เทียบกับการเดินประมาณ 10 กิโลเมตร
แต่หากใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดเข้ามาทำงานร่วมกันในขนาดพื้นที่เท่ากันจะลดเวลาทำงานลงเหลือเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำความสะอาดยังพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถรีไซเคิลน้ำเสียมาใช้ในการทำความสะอาดได้อีกหลายครั้ง ถือเป็นการลดการสิ้นเปลืองน้ำและดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
-การเตรียมพร้อมด้านกฎหมายเพื่อรองรับการมาของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully-automated)
ประเด็นด้านกฎหมายนี้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยี IoT ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ธุรกิจยานยนต์เท่านั้น
ปัจจุบันมีบริษัทในประเทศจีนที่นำเทคโนโลยีของรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) มาใช้กับหุ่นยนต์ทำความสะอาดและได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดวิ่งบนถนนและพื้นที่สาธารณะได้
ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว รัฐบาลจึงควรวางแผนเตรียมปรับปรุงกฎหมายให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคต หากเราเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์บริการอย่างต่อเนื่องและดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติอย่างมหาศาล
แต่หากกฎหมายล้าสมัยจนผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะนำเทคโนโลยีมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ อาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.