อธิบายปรากฏการณ์ ราคาหนืด ต้นทุนเพิ่ม แต่ราคาขายเพิ่มตามยาก เจอบ่อยในธุรกิจ ร้านอาหาร

อธิบายปรากฏการณ์ ราคาหนืด ต้นทุนเพิ่ม แต่ราคาขายเพิ่มตามยาก เจอบ่อยในธุรกิจ ร้านอาหาร

23 มิ.ย. 2024
หลาย ๆ ธุรกิจโดยเฉพาะร้านอาหาร จะเจอปัญหาว่า ราคาวัตถุดิบบางช่วงเพิ่มสูงขึ้นเร็ว แต่ตัวราคาสินค้าที่ขายกลับเพิ่มขึ้นไม่ได้ทันทีตามความผันผวน
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ มีคำว่า Sticky Prices หรือ ราคาหนืด ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้
แล้ว Sticky Prices คืออะไร ?
Sticky Prices แปลตรงตัวก็คือ ราคาหนืด
คือการที่เราไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดราคาสินค้าและบริการ ให้เป็นไปตามราคาวัตถุดิบ หรือปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะสั้นได้
แล้วมีเหตุผลสำคัญ ๆ อะไรบ้าง ที่ทำให้เราไม่สามารถปรับราคาสินค้าตามราคาวัตถุดิบได้ทันที
1. มีเรื่อง Menu Costs
คำว่า Menu Costs แปลตรง ๆ คือ ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงเมนู
ซึ่งในเชิงปฏิบัติ ก็จะหมายความถึง ค่าใช้จ่ายในการทำเมนูใหม่จริง ๆ
บวกรวมด้วยค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ที่เป็นทั้งตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน เช่น ค่าเสียเวลา
ซึ่ง Menu Costs ของแต่ละบริษัท แต่ละธุรกิจ จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของกระบวนการกำหนดราคาของแต่ละบริษัท
2. ถ้าขึ้นราคาก่อน จะเสียเปรียบคู่แข่ง
ถ้าเราปรับราคาขึ้นทันที แล้วร้านคู่แข่งยังไม่ได้ขึ้นราคา เราจะเสียเปรียบในเรื่องราคาเปรียบเทียบทันที
ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีผู้ประกอบการรายไหน อยากเจอเหตุการณ์แบบนี้
เราเลยมักจะเห็นการแข่งกันอั้นการขึ้นราคา เพื่อให้ร้านค้าของตัวเองยังไม่เสียเปรียบในเรื่องราคาขาย ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
กลายเป็นว่า ใครขึ้นราคาก่อน จะเสียเปรียบคู่แข่งทันที
3. ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์
ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการบ่อย ๆ เนื่องจากคำนึงถึงมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าของเรา
ไม่ว่าจะเป็น
- ความพึงพอใจของลูกค้า
- หากมีการปรับราคา ลูกค้าจะยังซื้อสินค้าหรือบริการจากเราอยู่ไหม
- ภาพลักษณ์ของธุรกิจจะเสียหายหรือไม่
รวม ๆ กันแล้ว ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบที่ว่า
คือต้นทุนขายเพิ่ม แต่จะเพิ่มราคาขายตามทันทีได้ยาก หน่วง ๆ หนืด ๆ กันไปแบบนี้พักใหญ่..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.