สรุปไฮไลต์งานประชุม WUWM Bangkok 2024  ขับเคลื่อน สินค้าเกษตรและอาหารสดไทยสู่ Soft Power ระดับโลก

สรุปไฮไลต์งานประชุม WUWM Bangkok 2024 ขับเคลื่อน สินค้าเกษตรและอาหารสดไทยสู่ Soft Power ระดับโลก

24 พ.ค. 2024
รู้หรือไม่.. ตลาดกลางสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือ “ตลาดไท” 
ที่ตั้งอยู่ติดถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่ 543 ไร่
โดยตลาดแห่งนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็น “แพลตฟอร์ม” ให้เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ขายและผู้ซื้อสินค้าเกษตรและอาหารสดได้ดีลธุรกิจกันโดยตรง ทำให้เกิดการค้าระบบเสรีในราคาที่เป็นธรรม
ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นสถานที่จัดการประชุม World Union of Wholesale Markets: WUWM ซึ่งเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับโลก เพราะมีสมาชิกผู้ค้าส่งสินค้าเกษตรและอาหารสดกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ที่มาประชุมและเยี่ยมชมตลาดไท 
โดยงานนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน
แม้งานครั้งนี้จะมีประเด็นหลากหลาย แต่เรื่องที่น่าจับตามอง คือแผนเชิงรุกในการสร้างความพร้อมให้สินค้าเกษตรและอาหารสดในประเทศไทย พร้อมที่จะรองรับความต้องการอาหารของโลกในอนาคต และเรื่องนี้ย่อมส่งผลดีต่อเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจไทย
เรียกได้ว่า เป็นประเด็นระดับชาติเลยทีเดียว 
แล้วการประชุมครั้งนี้ มีเนื้อหาอะไรที่น่าสนใจบ้าง MarketThink สรุปให้ครบจบในบทความเดียว
ต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ เทคโนโลยี ได้ทำให้การค้าข้ามโลกเป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ทำให้โลกการค้าไร้พรมแดนและสะดวกรวดเร็วกว่าในอดีต อีกทั้งเทคโนโลยียังเข้ามามีบทบาทและมีส่วนช่วยในกระบวนการดำเนินงานต่างๆ รวมถึงการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เป็นเหตุผลให้การประชุมครั้งนี้ จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าส่งในโลกการค้าดิจิทัลให้แก่ทุกฝ่าย 
ภาครัฐเองก็ได้ลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสนามบิน, ท่าเรือ, ระบบราง และระบบถนน เป็นต้น 
วิธีนี้นอกจากจะตอบโจทย์ความสะดวกแล้ว ยังเป็นการเปิดประตูตลาดค้าส่งให้กว้างขึ้น ทั้งในมุมผู้ซื้อและผู้ขาย
อย่าลืมว่า หากตลาดค้าส่ง มีระบบโลจิสติกส์ที่ทรงพลังอย่างไร้ขอบเขต จะทำให้ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าเกษตรและอาหารสดเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะอนาคตอันใกล้ที่มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ทำให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่าปริมาณการผลิตอาหารจะต้องเพิ่มขึ้น 70% เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น 
ภาคการตลาดค้าส่ง และระบบโลจิสติกส์จึงเป็นอีกหนึ่งกลไก ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตนั่นเอง 
เปรียบเสมือนโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าว, น้ำตาล, สับปะรด, กลุ่มมะม่วง-มังคุด-ฝรั่ง, กุ้ง, น้ำมันปาล์ม จนถึงสินค้าแปรรูปต่าง ๆ 
มีมูลค่ารวมกันประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 50%
จะเห็นว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ยังมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และด้านคมนาคม จึงเสมือนการสร้างสะพานเชื่อมให้สินค้าเกษตรและอาหารสดในประเทศไทย ขยายตัวได้มากขึ้นในภาวะที่โลกในอนาคตมีความต้องการอาหารมากขึ้นนั่นเอง  
หนึ่งในโอกาสในเรื่องนี้ ก็คือ ยังมีเกษตรกรไทยจำนวนหนึ่ง ที่ยังทำการเกษตรแบบดั้งเดิม 
ดังนั้นหากมีการส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรไทย ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ จะช่วยยกระดับทั้งคุณภาพและเพิ่มจำนวนผลผลิต 
เช่น การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องคุณภาพดิน, ใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนการผลิต จนถึงระบบบริหารจัดการในแง่ธุรกิจต่าง ๆ
เรื่องนี้ถือว่าสำคัญเลยทีเดียว เพราะจะทำให้ผลผลิตและต้นทุนทางการเกษตรและอาหารสดไทย สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง เพิ่มปริมาณการส่งออกเติบโตขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
ไม่ต้องแปลกใจ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย และตลาดไท จะพยายามหลากหลายวิธีเพื่อช่วยผลักดันให้สินค้าเกษตรและอาหารสดไทยเป็นที่ต้องการของทั้งคนไทยและคนทั่วโลก
ปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา, ประเทศในยุโรปและในอาเซียน ต่างเข้ามาลงทุนในภาคส่วนธุรกิจการเกษตรและอาหารในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
การระดมทุกอย่างในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนแผนงานทั้งหมดของภาครัฐและเอกชน ทั้งสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย และตลาดไท  
เป้าหมายก็คือ การทำให้สินค้าเกษตรและอาหารสดของไทย ได้กลายเป็น Soft Power ที่ทรงพลัง เป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน 
Reference
- สมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.