สรุปประเด็น ทำไม Apple ถูกฟ้องข้อหา “ผูกขาด” ตลาดสมาร์ตโฟน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ
22 มี.ค. 2024
ในวันนี้ กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะทำการฟ้อง Apple ในข้อหาผูกขาดตลาดสมาร์ตโฟน
รายละเอียดจะเป็นอย่างไร MarketThink สรุปมาให้อ่านในโพสต์นี้
- กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าปัจจุบัน Apple ครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 65%
และผู้บริโภคต้องเสียเงินซื้อ iPhone เฉลี่ยอยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 58,200 บาท)
แต่สิ่งที่ทำให้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา มองว่า Apple กำลังผูกขาดตลาดสมาร์ตโฟน ไม่ได้เกิดจากส่วนแบ่งตลาด และราคาเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจาก 2 เหตุผลสำคัญด้วยกัน คือ
1. Apple มีการสร้างข้อจำกัดทางด้านสัญญา และค่าธรรมเนียม ไม่ให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาฟีเชอร์ และคุณสมบัติการใช้งานต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้ iPhone ได้อย่างเต็มที่
2. Apple มีการจำกัดการเข้าถึงระหว่างแอปพลิเคชันของนักพัฒนาภายนอก กับระบบปฎิบัติการของ iPhone ทำให้แอป และอุปกรณ์เสริม ของนักพัฒนาภายนอก ทำงานร่วมกับ iPhone ได้ไม่ดี
เหตุผลทั้งสองข้อนี้ อาจอ่านดูแล้วเข้าใจได้ยาก
ดังนั้น เรามาดูกันว่า กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา มองว่า Apple กำลังผูกขาดตลาดสมาร์ตโฟน อย่างไร..
- ตัวอย่างแรกเลยคือ Apple มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการชำระเงิน 30%
ผ่านระบบ App Store ทั้งการซื้อแอป และการซื้อบริการเพิ่มเติมในแอป (In-App Purchase) มานานมากกว่า 15 ปีแล้ว
โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ว่านี้จากนักพัฒนา ทั้งรายเล็ก และรายใหญ่
- Apple ไม่สนับสนุนการเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันประเภทใหม่ ๆ
โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน Cloud-Gaming (เล่นเกมผ่านระบบ Cloud) และ Super App (แอปพลิเคชันเดียว แต่มีฟีเชอร์หลากหลาย)
ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องอาศัยพลังการประมวลผลแรง ๆ ของ iPhone อีกต่อไป
- การจำกัดฟีเชอร์บนแอปพลิเคชัน iMessage
ในกรณีที่ส่งข้อความไปยังผู้ที่ไม่ได้ใช้ iPhone จะทำให้คุณภาพการใช้งานลดลง เช่น ภาพ และคลิปวิดีโอไม่ชัด ไม่มีการเข้ารหัสข้อความ และไม่สามารถดูสถานะการพิมพ์ข้อความ ของคู่สนทนาได้
รวมถึงมีการแบ่งแยกสีของข้อความระหว่าง iMessage ของผู้ใช้ iPhone ที่เป็นสีฟ้า ออกจากข้อความของผู้ใช้สมาร์ตโฟนแบรนด์อื่น ๆ ที่เป็นสีเขียว
เรื่องนี้ กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา มองว่า Apple กำลังสร้างภาพจำให้กับผู้ใช้ iPhone ว่าสมาร์ตโฟนแบรนด์อื่น ๆ มีคุณภาพที่ด้อยกว่า..
- นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างฟีเชอร์อื่น ๆ อีกเช่นกัน ที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ มองว่า เป็นผลจากการผูกขาดของ Apple
เช่น ฟีเชอร์ Tap-to-Pay หรือการใช้ iPhone แตะเพื่อชำระเงินแทนบัตรเครดิต ที่นักพัฒนาภายนอกไม่สามารถเข้าถึงได้ และต้องใช้งานผ่านแอป Wallet ของ Apple เท่านั้น
รวมถึงการใช้งานนาฬิกาสมาร์ตวอร์ชจากแบรนด์อื่น ๆ กับ iPhone ได้ยากกว่าการใช้งานกับ Apple Watch
อย่างไรก็ตาม คดีความระหว่างกระทรวงยุติกรรมของสหรัฐอเมริกา กับ Apple ในข้อหาผูกขาด เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
และเราคงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไปอีกนานพอสมควร กว่าจะรู้บทสรุปในท้ายที่สุด ของเรื่องนี้
รวมถึงก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ก็เคยยื่นฟ้องบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ในข้อหาผูกขาด มาแล้วเช่นกัน ทั้ง Google และ Microsoft
ปิดท้ายด้วยข้อมูลจากฝั่งของ Apple กันบ้าง..
โฆษกของ Apple ระบุว่า การฟ้องร้องข้อหาผูกขาด เป็นอันตรายต่อการที่ Apple พยายามสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ ในสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง
และเป็นการขัดขวางความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ผู้คนคาดหวังจาก Apple