goodsunday ร้านกาแฟ ที่เก่งทำคอนเทนต์ ไม่แพ้ทำกาแฟ

goodsunday ร้านกาแฟ ที่เก่งทำคอนเทนต์ ไม่แพ้ทำกาแฟ

22 ก.ค. 2023
การจะเป็นร้านกาแฟที่ขายดีในยุคนี้ ลำพังจะใช้แค่ทฤษฎีการตลาด 4P (Marketing Mix) ที่ประกอบด้วย  Product, Price, Place, Promotion ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เพราะเรารู้กันดีว่า ธุรกิจร้านกาแฟเป็นตลาด Red Ocean ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด
ไม่ว่าจะหันไปทางไหนของมุมถนน ก็จะเจอเชนร้านกาแฟของแบรนด์ใหญ่ และร้านกาแฟแบรนด์เล็ก ๆ ผุดขึ้นเต็มไปหมด
แล้วถ้าเรามีใจรักที่จะเปิดร้านกาแฟ จะมีวิธีอย่างไร ให้มีโอกาสชนะในตลาดนี้ได้ ?
หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่จะช่วยสร้าง “ความแตกต่าง” และ “ความโดดเด่น” ให้กับธุรกิจร้านกาแฟ  
ด้วยกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ที่ร้าน goodsunday coffee bar ใช้
หรือร้านที่รู้จักกันดี ในคลิปไวรัล ชวนดื่มกาแฟลาเต้ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง (https://www.tiktok.com/t/ZSLaDmyKx/)
ก็คือ การสร้าง “Personal Branding”
แล้วทำไม ร้านกาแฟ ต้องสร้าง Personal Branding ?
MarketThink ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณอาร์ม-กานต์ชนิต สุรินทร์สภานนท์ เจ้าของร้าน goodsunday coffee bar ที่มีแนวคิดน่าสนใจ ในการสร้างบุคลิก และแครักเตอร์ให้กับร้านกาแฟ
โดยคุณอาร์ม พิสูจน์แล้วว่า การสร้าง Personal Branding ทำให้แบรนด์ goodsunday coffee bar กลายเป็นร้านกาแฟที่มีบุคลิกสนุกสนานและเข้าถึงง่าย ผ่านการทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย อย่าง TikTok และ Reels
ที่น่าสนใจคือ ใช้เวลาแค่ 2 ปี สามารถเพิ่มยอดขายดิลิเวอรี ให้เติบโตขึ้นได้ถึง 100% เลยทีเดียว
ต้องเกริ่นก่อนว่า ก่อนที่คุณอาร์มจะมาเปิดร้าน goodsunday coffee bar
คุณอาร์มจบปริญญาตรี ด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และทำงานอื่นมาก่อนด้วย ก่อนจะผันอาชีพมาเป็นแอร์โฮสเตส รวมกว่า 10 ปี
ความแตกต่างระหว่างอาชีพแอร์โฮสเตส กับการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ ในมุมของคุณอาร์ม มองว่า
เมื่อก่อนตอนที่เป็นพนักงานประจำ วันไหนเราป่วย เราหยุดได้
แต่พอมาทำธุรกิจเอง คือห้ามป่วย ห้ามขาด ห้ามลา และมันไม่ใช่การนึกถึงแค่ตัวเราเอง เพราะว่าเรามีทีม มีน้อง ๆ ที่ต้องดูแล รวมถึงต้องดูแลครอบครัวของพวกเขาด้วย
ดังนั้น การทำธุรกิจ จึงเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องของ “คน” มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จุดเชื่อมโยงระหว่างงานที่เป็นแอร์โฮสเตส กับธุรกิจของตัวเอง ก็คือเรื่องของ “การบริการ”
คุณอาร์มจะเน้นกับน้อง ๆ ในทีมอยู่เสมอว่า การบริการของ goodsunday coffee bar จะต้องบริการ “ให้เหนือกว่า” สิ่งที่ลูกค้าต้องการ
ซึ่งก็คือการทำอย่างไรก็ได้ ให้ลูกค้าเกิดความประทับใจสูงสุด ก่อนที่จะเดินออกจากร้านไป
และอีกอย่างที่คุณอาร์มมองว่า เป็นจุดเด่นของสายการบิน ที่คุณอาร์มเคยทำงานด้วย ก็คือ 
การให้โอกาส ให้ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปอย่างสนุกสนาน
เช่นเดียวกับการเปิดร้านกาแฟ คุณอาร์มก็เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกิจ หรือการทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ยังคงคอนเซปต์การมีบุคลิกที่สนุกสนาน
ย้อนกลับไปช่วงที่เกิดโรคระบาด ทำให้งานแอร์โฮสเตสได้รับผลกระทบ 
จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ คุณอาร์มเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ชื่อว่า “goodsunday coffee bar” ซึ่งตอนนี้เปิดมาได้ 2 ปีแล้ว
ในช่วงแรก คุณอาร์มเริ่มจากการไปออกบูทเล็ก ๆ ตามงาน เพราะตอนนั้นเงินทุนยังมีไม่เยอะ 
หลังจากนั้นก็เก็บหอมรอมริบ จนได้เงินก้อน แล้วมาเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง
โดยคุณอาร์มกับแฟน ได้เริ่มทำคอนเทนต์ตั้งแต่ช่วงเปิดร้านกาแฟแรก ๆ
เพราะมองว่า ยุคนี้เป็นยุคของ Digital Marketing ที่ทุกคนสามารถใช้พื้นที่บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อโปรโมตสินค้าและแบรนด์ได้แบบ “ฟรี” ไม่เสียเงิน
เมื่อคิดได้แล้วว่า จะทำการโปรโมตร้านผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
แต่คำถามก็คือ จะทำอย่างไร ?
เพราะถ้าโปรโมตเหมือนร้านทั่ว ๆ ไป เช่น โปรโมตด้วยความรู้เกี่ยวกับกาแฟ หรือโปรโมชัน ก็จะไม่เกิดความแตกต่าง และโดดเด่น จากแบรนด์อื่น ๆ
ดังนั้น ลักษณะของคอนเทนต์ที่ร้าน goodsunday coffee bar ทำ จึงมี 2 แบบด้วยกัน คือ
1) Value Content คอนเทนต์ให้ความรู้ แจกสูตร หรือสอนการทำกาแฟ เป็นต้น 
2) Entertainment Content คอนเทนต์สร้างเสียงหัวเราะ และความสนุกสนาน
จริง ๆ แล้ว สัดส่วนของคอนเทนต์ทั้ง 2 แบบจะทำควบคู่กันไป ถึงแม้จะเป็น Value Content แต่ก็จะแทรกความตลก สนุกสนาน (Entertainment) เข้าไปด้วย
เพราะเนื้อหาที่มีความรู้ พอดูไปนาน ๆ แล้ว อาจจะน่าเบื่อ และเครียดเกินไป
คุณอาร์มเลยมองว่า ถ้าทำให้มันสนุกสนาน ก็น่าจะดีกว่า
“เจ้าของร้านกาแฟทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ลูกค้าเดินเข้ามาที่ร้าน สิ่งแรกที่ลูกค้าอยากได้ ก็คือกาแฟ 
แต่ถ้าเราเติมรอยยิ้ม ด้วยการพูดคุย หรือคำทักทายต่าง ๆ อาร์มว่าเขาจะได้รับประสบการณ์ที่ดี และน่าจดจำมากกว่า รวมถึงลูกค้าก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์ของเราด้วย”
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจ คุณอาร์มจะเริ่มด้วยคำว่า “ทำไม (Start with Why ?)”
ทำไมคนต้องดื่มกาแฟ ?
แล้วถ้าคนดื่มกาแฟ ทำไมต้องมาดื่มที่ goodsunday coffee bar ?
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ธุรกิจร้านกาแฟ เป็นตลาด Red Ocean 
คุณอาร์มจึงคิดว่า การสร้างความแตกต่างให้โดดเด่นกว่าร้านอื่น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ
ซึ่งคุณอาร์มวางคอนเซปต์ของร้าน ไม่ใช่แค่ขายกาแฟ
แต่ยังมอบความสุข มอบรอยยิ้มให้กับลูกค้าทุก ๆ คน อีกด้วย
“นี่จึงเป็นที่มาของเป้าหมาย ตอนที่เราเปิดร้านว่า เราไม่อยากได้แค่ลูกค้า (Customer) แต่เราอยากได้มิตรภาพ (Friendship) และความสัมพันธ์ (Relationship) ด้วย ซึ่งมันยั่งยืนและส่งผลดีในระยะยาวกับแบรนด์มากกว่า”
หากให้เปรียบเทียบบุคลิกของ goodsunday coffee bar เป็นใคร มีรูปร่างหน้าตา เป็นอย่างไร ?
สิ่งที่คุณอาร์มคิดในตอนแรก จะมองเห็นเป็น เจ้าหนูพระอาทิตย์ ที่อยู่ในการ์ตูนเรื่องเทเลทับบีส์
เพราะอยากให้แบรนด์ goodsunday coffee bar มีอารมณ์ ความรู้สึก ที่สื่อถึงการเริ่มต้นวันใหม่ ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ นั่นเอง
สำหรับแผนในอนาคตของ goodsunday coffee bar จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
- ขยายในส่วนของออฟไลน์ (Offline) คือการเปิดร้านเพิ่มอีก 1 สาขา
โดยสาขานี้ ต้องการทำให้พื้นที่ใหญ่กว่าเดิม ต้องการสร้างบรรยากาศให้คนมาแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ดูเป็นกันเอง มีกาแฟ ขนมอร่อย ๆ มีเสียงดนตรี มีการพบปะพูดคุยกับเพื่อน มีมุมอ่านหนังสือ มุมเล่นดนตรี
เพราะการสร้างความสุขและความผ่อนคลายของแต่ละคน ก็อาจจะไม่เหมือนกัน
- อาจจะมีการเปิดรับแฟรนไชซี (Franchisee) ในอนาคต
จริง ๆ คุณอาร์มมีคิดโมเดลธุรกิจนี้ไว้ แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่สามารถรับแฟรนไชซีได้ทุกคน
เหตุผลก็เพราะว่า คุณอาร์มอยากคงคอนเซปต์, Mood & Tone และ Identity ของร้านไว้ 
เลยอยากได้คนที่คลิก และมีวิธีคิดในการทำธุรกิจเหมือนกับคุณอาร์มจริง ๆ
“อาร์มมีความคิดเห็นว่า หลาย ๆ ธุรกิจ มักจะตกม้าตายตอนคำว่า ‘รีบ’ ทำให้ขยายธุรกิจเร็วเกินไป 
จนอาจทำให้หลงลืมในเรื่องของคุณภาพ และการคงมาตรฐานไว้
ส่วนตัวเลยมองว่า การค่อย ๆ เติบโต แต่มั่นคง เป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่า”
ส่วนแผนที่เริ่มต้นไปแล้วคือ การเปิดบริษัทโปรดักชันส์เฮาส์ 
เพราะหลังจากคลิปเป็นไวรัล คนก็ให้ความสนใจมากขึ้น ทำให้ลูกค้าเข้ามาจ้างให้เราช่วยโปรโมตสินค้า ซึ่งพีกที่สุด อยู่ที่ประมาณ 30 เจ้าต่อเดือน
ดังนั้น เราจึงต้องขยายทีมเพิ่มเติม เพื่อรองรับงานที่มากขึ้น
สุดท้าย สิ่งที่คุณอาร์มอยากฝากถึงคนที่กำลังอยากเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือคนที่มีธุรกิจร้านกาแฟเป็นของตัวเองอยู่แล้ว
ถ้าเกิดมอง goodsunday coffee bar เป็นแรงบันดาลใจ อยากให้มองว่า
จริง ๆ แล้ว คุณอาร์มเป็นคนที่ไม่ได้มีต้นทุนเยอะอะไรเลย
แต่ก็สามารถทำธุรกิจได้ โดยเริ่มต้นจากเล็ก ๆ ก่อน 
เพียงแค่เราต้องทำในสิ่งที่ชอบ และมีแพสชันกับมันจริง ๆ
ในยุค Marketing 5.0 นี้ เราควรสร้างทั้ง Marketing และ Branding ควบคู่ไปด้วยกัน
ในเรื่องของ Branding บางคนอาจมองว่า พอมีชื่อร้าน โลโก ก็จบ เพราะคิดว่าได้ Branding แล้ว
แต่จริง ๆ จะต้องมีการสร้าง จนถึงขนาดที่ว่า เมื่อนึกถึงร้านกาแฟ แล้วมีความสนุกสนาน มาที่ร้านแล้วได้เอนจอย มาเจอพนักงานแล้วได้รอยยิ้ม ก็จะนึกถึง goodsunday coffee bar
จากกรณีศึกษาของ goodsunday coffee bar
ร้านกาแฟ ที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่น ด้วยการสร้าง Personal Branding ให้แบรนด์มีบุคลิกที่สนุกสนานและเข้าถึงง่าย
1) เริ่มทำคอนเทนต์มาตั้งแต่เปิดร้าน ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, Twitter, TikTok เป็นเวลา 2 ปี แต่ร้านกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หลังจาก 1 ปีให้หลัง
2) ยอดขายดิลิเวอรีเติบโต 100%
3) ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาที่ร้าน จากทั่วประเทศ บางคนมาไกลจากปากช่อง เชียงใหม่ และชลบุรี
ทำให้เรารู้ว่า ร้านกาแฟเล็ก ๆ ก็สามารถสู้กับแบรนด์ร้านกาแฟเชนใหญ่ ๆ ได้ ด้วยการสร้าง Personal Branding
แต่อย่าลืมว่า Personal Branding ที่มีบุคลิกที่สนุกสนาน เข้าถึงง่าย อาจกลายเป็นเรื่องฉาบฉวยในทันที 
ถ้า CEO ไม่ทุ่มเทถ่ายทอดแนวคิดและตัวตนนี้ ให้กับพนักงาน รวมถึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมา จนลงลึกไปถึง DNA ของแบรนด์..
อ้างอิง:
-สัมภาษณ์โดยตรง กับคุณอาร์ม-กานต์ชนิต สุรินทร์สภานนท์ เจ้าของร้าน goodsunday coffee bar
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.