Nikkei Asia รายงาน ไทย อาจเสียชื่อ Detroit of Asia ให้อินโดนีเซีย ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า
29 พ.ค. 2023
ก่อนหน้านี้ คงจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า “ไทย” เป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์สำคัญแห่งหนึ่ง ในภูมิภาค จนได้รับการขนานนามว่าเป็น Detroit of Asia
แต่ล่าสุด มีการรายงานจากสำนักข่าว Nikkei Asia ที่ระบุว่า ไทย อาจจะเสียตำแหน่งชื่อ Detroit of Asia ให้กับอินโดนีเซีย ในยุคที่อุตสาหกรรมรถยนต์ กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า”
Nikkei Asia ระบุว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย อยู่ในจุด “พีก” ด้วยการผลิตรถยนต์รวมทั้งสิ้น 2.45 ล้านคัน ในปี 2013
แต่ในปี 2022 ที่ผ่านมา ไทย มีการผลิตรถยนต์เหลือเพียง 1.88 ล้านคันเท่านั้น หรือลดลงกว่า 23%
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้จำนวนการผลิตรถยนต์ของไทยลดลงนั้น Nikkei Asia พุ่งเป้าไปที่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 ที่ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ออกไป
ในขณะที่อินโดนีเซียนั้น มีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 30% ในกรอบเวลาเดียวกัน
ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมานั้น อินโดนีเซีย มีการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.47 ล้านคัน แม้จะเป็นจำนวนที่น้อยกว่าไทยในหลักหลายแสนคัน
แถมในปีนี้ อินโดนีเซีย ก็คาดการณ์ว่า จะมีการผลิตรถยนต์ เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคัน
นั่นหมายความว่า จำนวนรถยนต์ที่อินโดนีเซียผลิตได้ เริ่มขยับเข้าใกล้ไทย มากขึ้นทุกที
นอกจากนี้ การที่อุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนผ่าน จากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้อินโดนีเซีย มีข้อได้เปรียบเหนือไทยมากขึ้น
โดยเฉพาะในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่อินโดนีเซียมีแร่ “นิกเกิล” อยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งแร่นิกเกิลนี้ เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญ ของแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน
ซึ่งแร่นิกเกิลนี้ เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญ ของแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน
และโดยธรรมชาติของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้านั้น มีน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม
หากมีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ใกล้กับโรงงานประกอบรถยนต์ ก็จะยิ่งเป็นการดึงดูดให้ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สนใจที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในอินโดนีเซียกันมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ยังมีความพยายามผลักดันการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า อย่างต่อเนื่อง
โดยมีการออกนโยบาย ลดภาษีมูลค่าเพิ่มของรถยนต์ไฟฟ้า จาก 11% ให้เหลือเพียง 1% ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โดยรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีนี้ ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ไม่น้อยกว่า 40% เพื่อเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ
ส่วนในด้านค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็มีการตอบสนองต่อนโนบายดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะค่ายรถยนต์เกาหลีใต้อย่าง Hyundai และค่ายรถยนต์จากจีน อย่าง SAIC-GM-Wuling
ที่เริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ภายในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปีที่แล้ว
ที่เริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ภายในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปีที่แล้ว
ส่วน Tesla ก็มีการรายงานว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา ที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ ในอินโดนีเซียเช่นกัน
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ LG Energy Solution และ Hyundai กำลังอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ ในอินโดนีเซีย และคาดการณ์ว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้จริง ในปีหน้านี้
รวมถึง CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ชื่อดังสัญชาติจีน ก็วางแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ ในอินโดนีเซีย เช่นเดียวกัน
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ไทย เป็นประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ เริ่มต้นขึ้น นับตั้งแต่ปี 1960 โดยมี Toyota ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ในช่วงเวลานั้น
และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Supply Chain ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ จนไทย กลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์สำคัญในภูมิภาค มีการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมถึงออสเตรเลีย
จนเรียกได้ว่า การผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป กลายเป็นสูตรสำเร็จของไทย เลยก็ว่าได้
ซึ่ง Nikkei Asia มองว่า การมาของรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้สูตรสำเร็จแบบเดิม ๆ ของไทย อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ไทยเองก็ไม่ได้อยู่เฉย ๆ เพราะไทยเองก็มีนโยบายต่าง ๆ จากภาครัฐ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดกับรถยนต์ไฟฟ้า สูงสุด 150,000 บาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตในประเทศไทย เป็นต้น
รวมถึงมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า จำนวนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย กว่า 30% ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปี 2030