ทำไม จีน ตามประเทศอื่นไม่ทัน ในอุตสาหกรรม “ชิปเซต”
26 ก.พ. 2023
ประเทศจีน นับว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยีการบริการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนในชาติ
ด้วยศักยภาพของจีน ที่มีประชากรจำนวนมหาศาล ราว 1,400 ล้านคน
ซึ่งนอกจาก จะเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
ในแต่ละปี ประเทศแห่งนี้ยังผลิตบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกมาเป็นจำนวนมากด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ และมีนวัตกรรมล้ำหน้า เป็นจำนวนมากอย่าง จีน กลับมี “จุดอ่อน” สำคัญ อย่างไม่น่าเชื่อ
จุดอ่อนที่ว่านั้น ก็คือ อุตสาหกรรม “ชิปเซต” ของจีน
ที่เราอาจเรียกได้อย่างเต็มปากว่า จีน ยังคง “ตามหลัง” ชาติอื่น ๆ ในด้านการผลิตชิปเซต ที่มีประสิทธิภาพสูง อยู่อีกมาก
เพราะหากลองยกตัวอย่าง บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมชิปเซต
ไม่ว่าจะเป็น TSMC, Intel, AMD, Qualcomm หรือ Nvidia
จะพบว่า บริษัทเหล่านี้ ไม่ใช่บริษัทสัญชาติจีนเลย..
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้าน กลับมีจุดอ่อน ที่อุตสาหกรรมชิปเซต..
คำตอบง่าย ๆ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีน ยังไม่สามารถตามประเทศอื่น ๆ ทัน ในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิปเซต ก็เป็นเพราะ “ความกดดัน” ทางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน นั่นเอง
เพราะสหรัฐอเมริกากีดกันจีน ในอุตสาหกรรมชิปเซต ด้วยการ “จำกัด” การส่งออกสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไปยังประเทศจีน
- ชิปเซตรุ่นล่าสุด ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง
- ซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับการออกแบบแผงวงจร (IC) ในชิปเซต
- อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตชิปเซต
หรือแม้แต่ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิตชิปเซต ก็ยังไม่สามารถส่งออกไปให้จีนได้
รวมถึงการจำกัดการส่งออกข้างต้นนี้ ไม่ได้บังคับใช้กับบริษัทของสหรัฐอเมริกา เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะหากบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตชิปเซตบริษัทใด ใช้เทคโนโลยี หรือสิทธิบัตร ของสหรัฐอเมริกา ก็จะโดนห้ามการส่งออกไปยังประเทศจีนด้วย
นั่นก็หมายความว่า จีนถูก “กันซีน” แทบทุกทาง ในอุตสาหกรรมชิปเซต ระดับโลก..
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมจีนไม่คิดใหม่ ทำใหม่ โดยการออกแบบชิปเซต เป็นของตัวเอง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์
ในกรณีนี้ หากจีน ต้องการออกแบบชิปเซตด้วยตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่ศูนย์ ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ
เพราะซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการออกแบบแผงวงจรในชิปเซต ที่บริษัทในอุตสาหกรรมชิปเซตใช้กันอยู่ ในปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นซอฟต์แวร์ของบริษัทในสหรัฐอเมริกา แทบทั้งสิ้น
โดยในปัจจุบัน บริษัทที่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ออกแบบชิปเซต รายใหญ่ ๆ ในโลกนี้ มีอยู่ด้วยกัน 5 ราย ได้แก่
- ANSYS, Inc.
- Cadence Design Systems, Inc.
- Keysight Technologies, Inc.
- Synopsys, Inc.
- Xilinx, Inc.
และทั้ง 5 บริษัทข้างต้นนี้ เป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนั่นก็หมายความว่า จีนแทบจะไม่มีโอกาส ในการเข้าถึงซอฟต์แวร์การออกแบบชิปเซต ได้เลย
นอกจากนี้ หากจีนมีความสามารถในการออกแบบชิปเซตรุ่นล่าสุด ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้ด้วยตัวเองสำเร็จจริง
ก็จะติดปัญหาต่อไป นั่นก็คือ การนำชิปเซตที่ออกแบบไว้ ไปผลิตจริง
เพราะการผลิตชิปเซตรุ่นล่าสุด ที่มีประสิทธิภาพสูงนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องจักรที่มีชื่อว่า Extreme Ultraviolet Lithography (EUV) ในการผลิตชิปเซต เท่านั้น..
และในปัจจุบัน มีบริษัทที่ชื่อว่า ASML (อ่านว่า อาเอสเอ็มเอล) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่สามารถผลิตเครื่องจักร EUV นี้ได้
เนื่องจากความซับซ้อนทางด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้บริษัทที่เคยผลิตเครื่องจักรสำหรับการผลิตชิปเซตอื่น ๆ ทยอยออกจากตลาดนี้ไป
และแน่นอนว่า ASML ก็กำลังถูกสหรัฐอเมริกากดดัน ไม่ให้ขายเครื่องจักร EUV นี้ ให้กับจีนอีกด้วย..
นั่นก็หมายความว่าในตอนนี้ จีนเหมือนติดอยู่ในวังวน ที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนอะไรได้มากนัก
เพราะไม่ว่าจีน จะต้องการพัฒนา ออกแบบ หรือผลิตชิปเซตเป็นของตัวเอง ก็จะต้องติดปัญหาข้างต้น โดยยากที่จะหลีกเลี่ยง..
ซึ่งหากจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุด ที่เกิดขึ้นจากการที่จีน ถูกกีดกัน ในอุตสาหกรรมการผลิตชิปเซต
ก็คงต้องยกตัวอย่าง จากกรณีของ Huawei บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ของประเทศจีน ที่ถูกสหรัฐอเมริกา “แบน” ตั้งแต่ปี 2019 ในสมัยที่ดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี
นอกจาก Huawei จะไม่สามารถนำบริการต่าง ๆ ของ Google เข้ามาใส่ไว้ในสมาร์ตโฟนของตัวเองได้แล้ว
ยังทำให้ Huawei ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่อยู่ในชิปเซตบางอย่างได้
เช่น สมาร์ตโฟนของ Huawei ในระดับ “เรือธง” ไม่มีคุณสมบัติในการใช้งานระบบ 5G ทั้งที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจีน จะไม่พยายามในการออกแบบ และพัฒนาชิปเซตเป็นของตัวเอง
เพราะในความจริงแล้ว ปัจจุบัน จีนก็มีความพยายามในการผลิตชิปเซต เป็นของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ
อย่างในช่วงเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว รัฐบาลจีน ก็ได้มีการประกาศอัดฉีดงบประมาณกว่า 1 ล้านล้านหยวน (ราว 5 ล้านล้านบาท) เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาชิปเซตด้วยตัวเอง ภายในประเทศ ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้
แต่ในปัจจุบัน ชิปเซตที่จีนสามารถผลิตได้เองนั้น ยังคง “ห่างชั้น” จากประเทศอื่น ๆ อยู่อีกมาก
โดยเฉพาะในด้าน “เทคโนโลยีการผลิต” ของชิปเซต ที่ยิ่งมีขนาดเล็ก ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ จากจำนวน “ทรานซิสเตอร์” ที่เพิ่มขึ้นในชิปเซต
ซึ่งในเดือนกันยายน ปีที่แล้ว สำนักข่าวภายในประเทศจีน เพิ่งจะมีการรายงานว่า บริษัทผลิตชิปเซตสัญชาติจีน อย่าง SMIC เพิ่งจะประสบความสำเร็จในการผลิตชิปเซต ขนาด 14 นาโนเมตร เป็นจำนวนมาก (Mass Production) ได้เป็นครั้งแรก
รวมถึงอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาชิปเซต ขนาด 7 และ 5 นาโนเมตร ให้สามารถผลิตได้จริง ในอนาคต..
แต่หากเทียบกับความสามารถของบริษัทผู้ผลิตชิปเซตแถวหน้ารายอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TSMC จากไต้หวัน
จะพบว่าในปัจจุบัน TSMC เพิ่งจะประกาศว่า บริษัทสามารถผลิตชิปเซต ขนาด 3 นาโนเมตร ได้เป็นจำนวนมาก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา..
หรือแม้แต่ชิปเซตที่เราใช้กันอยู่ในสมาร์ตโฟนระดับเรือธง ในปัจจุบัน ก็ล้วนแล้วแต่มีเทคโนโลยีการผลิต ที่มีขนาดเล็กกว่าที่จีนสามารถผลิตได้
เช่น ชิปเซต Apple A16 Bionic ที่ใช้ใน iPhone 14 Pro และ iPhone 14 Pro Max รุ่นล่าสุด ก็มีเทคโนโลยีการผลิตอยู่ที่ 4 นาโนเมตร
หรืออย่างชิปเซต Snapdragon 8 Gen 2 ที่ใช้ใน Samsung Galaxy S23 Ultra ก็มีเทคโนโลยีการผลิต อยู่ที่ 4 นาโนเมตร เช่นเดียวกัน
นั่นก็หมายความว่า แม้จีน จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาชิปเซตของตัวเอง ให้มีเทคโนโลยีการผลิต และประสิทธิภาพที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถตามประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตชิปเซตได้ทัน..
เพราะแม้ว่ารัฐบาลจีน จะทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตชิปเซต ภายในประเทศ
แต่อย่าลืมว่า ผู้เล่นรายใหญ่ ในอุตสาหกรรมชิปเซตทั่วโลก ก็ต่างไม่เคยหยุดนิ่ง ในการพัฒนาเทคโนโลยีชิปเซตของตัวเองเลยเช่นเดียวกัน..
MarketThink เคยเขียนบทความเกี่ยวกับ ASML บริษัทผู้ผลิต “เครื่องจักร” ที่ผูกขาดการผลิตชิปเซต ของโรงงานเกือบทุกแห่งในโลก หากใครสนใจ สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ลิงก์นี้ > https://www.marketthink.co/35045
อ้างอิง: