ส่องวิสัยทัศน์ “Digital Bank with Human Touch” ของ SCB ที่ปรับองค์กร สู่ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ส่องวิสัยทัศน์ “Digital Bank with Human Touch” ของ SCB ที่ปรับองค์กร สู่ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ

18 ก.พ. 2023
ปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ครองความเป็นผู้นำตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น อันดับหนึ่งในสินเชื่อที่อยู่อาศัย อันดับหนึ่งในธุรกิจ Bancassurance
นอกจากนี้ ยังเป็น Top 3 ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อลูกค้ารายย่อย และทางด้านการบริหารความมั่งคั่ง
รวมทั้งยังเป็น Top 3 ธนาคารที่มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันทางเงินมากที่สุดในประเทศ
สำหรับก้าวต่อไปของธนาคารไทยพาณิชย์ จะมุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็น “ธนาคารที่ดีขึ้น” อย่างต่อเนื่อง
โดยบทบาทของธนาคาร จะต้องเป็นมากกว่าธนาคาร และทำให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายในทุกช่องทาง ไม่เพียงเฉพาะแต่สินเชื่อ แต่รวมถึงภาพของการให้คำแนะนำการลงทุน การบริหารการเงิน และบริหารความเสี่ยง
ด้วยความรู้จักและเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง SCB จึงกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ในการเป็น
“Digital Bank with Human Touch เรารู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล รู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก”
เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาองค์กร ให้เป็นธนาคารที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน
โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ทางธุรกิจภายใต้แผน 3 ปี คือการเป็น ดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ซึ่งประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก
1) ปรับองค์กรเป็นธนาคารดิจิทัล
หลังจากที่ธนาคารได้ผ่านช่วง Digital Disruption ที่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาแข่งขันในภาคการเงินนั้น ปัจจุบันพบว่ามีเพียงไม่กี่รายที่สามารถทำกำไรได้ ในขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง ด้วยฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง และมีจุดเด่นทางด้านบริการที่ชัดเจนมากกว่า
ขณะเดียวกันแนวโน้มการใช้งานดิจิทัลของคนไทยปัจจุบัน อยู่ในระดับสูง มีการใช้แอปพลิเคชันการเงินเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และประมาณ 94% ของคนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน และมีความต้องการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น
SCB จึงต้องมีการยกระดับบริการสู่ธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มตัว และมอบบริการการเงินดิจิทัลให้ได้อย่างครบวงจร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม
พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านบริการเพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า
ในการนี้ SCB ได้มีการปรับโครงสร้างบริหารงาน เพื่อรวมงานทางด้านดิจิทัลแบงก์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และปฏิบัติการ เข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้ความดูแลของผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Technology
โดยทั้ง 3 ส่วนงานนี้ เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับธนาคาร ให้เป็นธนาคารดิจิทัลอย่างครบวงจร ไม่เพียงแต่ระบบการให้บริการเท่านั้น แต่จะมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ และการเติบโตให้แก่ SCB ต่อไปในอนาคต
2) เป็นเจ้าตลาดทางด้านบริหารความมั่งคั่ง
SCB ได้วางรากฐานบริการด้านบริหารความมั่งคั่งไว้อย่างเพียบพร้อม ทั้งทางด้านบุคลากร ที่ปัจจุบันมีจำนวนที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำของเอเชียมากที่สุดในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่หลากหลาย พันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง
ในส่วนของกลุ่มลูกค้าตามโครงสร้างภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่ของกลุ่ม SCB X ฐานลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบน ประกอบกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดส่งผลให้เกิดกระแสความมั่งคั่งกลับคืนมา
จึงเป็นโอกาสที่ SCB เตรียมความพร้อมเพื่อเสนอบริการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ไม่เพียงแต่เฉพาะต่อยอดความมั่งคั่งทางด้านทรัพย์สินส่วนบุคคคลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของลูกค้า
ทั้งการขยายธุรกิจ การระดมทุนรูปแบบต่าง ๆ หรือการขยายลงทุนในต่างประเทศ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าองค์กร ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการขยายความมั่งคั่งให้ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดให้ดิจิทัลแบงก์ เป็นดาวเหนือนำทางให้แก่องค์กรจากนี้ไป ธนาคารต้องผลักดันกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดขึ้นจากนี้ โดยคำนึงถึงการมอบประสบการณ์ดิจิทัลให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม
SCB กำลังริเริ่มโครงการในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้าในวงกว้าง (Digital Wealth) โดยไม่เน้นเฉพาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งที่มีอยู่แล้ว แต่มุ่งไปที่กลุ่ม Emerging Wealth
ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และมีความต้องการที่จะสร้างความมั่งคั่งระยะแรกเริ่ม อาจยังมีสินทรัพย์ไม่มากนักแต่มีความต้องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาว ซึ่งมักจะวางแผนการลงทุนด้วยตัวเอง โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ
SCB จึงต้องการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการมอบทางเลือกทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้ เพื่อสร้างข้อเสนอแบบรู้ใจเฉพาะบุคคล (Hyper-personalized offer) ที่จะกระตุ้นให้ลูกค้ามองเห็นโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งที่เป็นไปได้ ในหลากหลายรูปแบบ
โดยจะเป็นโครงการต้นแบบของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าในกลุ่มอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
3) ยกระดับประสบการณ์การให้บริการ ที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง
SCB เชื่อว่าพลังแห่งเทคโนโลยี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ ผ่านช่องทางหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของ Digital Bank with Human Touch คือ ประสบการณ์ที่ดี ณ จุดให้บริการผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารที่มีอย่างหลากหลาย
SCB จึงมุ่งที่จะพัฒนาประสบการณ์การให้บริการ โดยการขยายการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างจุดให้บริการลูกค้า ทั้งในโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริง
รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการให้บริการในวงกว้าง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่องทางที่คุ้นเคย
โดยลูกค้าทุกกลุ่ม จะต้องได้รับประสบการณ์อย่างไร้รอยต่อ ผ่านช่องทางบริการที่หลากหลาย ด้วยมาตรฐานเดียวกันทุกช่องทาง
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 SCB
มีพอร์ตสินเชื่อรวมกันทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
-สินเชื่อบุคคล 9.8 แสนล้านบาท
-สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4.1 แสนล้านบาท
-สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 9.2 แสนล้านบาท
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2566 SCB มุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการขยายพอร์ตสินเชื่อ ควบคู่กับการรักษาคุณภาพ
โดยตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อประมาณไม่เกิน 5% และสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10%
ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 40%
อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจรตามแผน 3 ปี ในปี 2568 SCB มีเป้าหมายจะลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ต่ำกว่า 40%
รวมถึงการเป็นอันดับ 1 Wealth Wallet Share พร้อมผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Finance) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตามเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (ESG) ด้วยยุทธศาสตร์ของธนาคาร
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.