สายการบินทั่วโลก เผชิญวิกฤติขาดแคลนเครื่องบินโดยสาร ความต้องการเพิ่ม แต่ Airbus กับ Boeing ผลิตไม่ทัน
26 ต.ค. 2022
หลังจากวิกฤติโควิด 19 ผ่านพ้นไป ผู้คนทั่วโลกต่างเริ่มใช้ชีวิตกันตามปกติ รวมถึงต้องการท่องเที่ยวเดินทางไกล ทำให้ความต้องการเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการเดินทางของผู้คนจะมากขึ้น แต่สายการบินทั่วโลก กลับเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนเครื่องบินโดยสาร จนไม่สามารถเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางได้
สายการบินที่ได้รับผลกระทบ เป็นสายการบินที่ใช้เครื่องบินลำตัวแคบ (Narrow Body Aircraft) รุ่นยอดนิยม โดยเฉพาะ Airbus A320 และ Boeing 737 Max จาก 2 ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของโลก
- แผนรับมอบเครื่องบินลำใหม่ “สะดุด”
- สายการบิน American Airlines คาดการณ์ว่าจะได้รับมอบเครื่องบิน Boeing 737 Max 8 ในปีหน้า เพียง 19 ลำ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 27 ลำ
- สายการบิน JetBlue Airways คาดการณ์ว่าจะได้รับมอบเครื่องบินลำใหม่จาก Airbus เพียง 22 ลำ ในปีหน้า จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 29 ลำ
- สายการบิน United Airlines ได้รับมอบเครื่องบินจาก Boeing เพียง 7 ลำ จากที่คาดการณ์ไว้ 53 ลำ ในปีนี้
- สายการบิน Vistara Airlines ของอินเดีย คาดการณ์ว่าเครื่องบิน Airbus A320 Neo ที่สั่งไว้ จะมีกำหนดการรับมอบที่ล่าช้ากว่าเดิมไปอีกหลายเดือน
แม้จำนวนเครื่องบินที่ทั้งสองสายการบินจะได้รับในปีหน้า จะดูน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในตอนแรกไม่มากนัก แต่ในความจริงแล้ว แผนรับมอบเครื่องบินลำใหม่ที่ลดลง ส่งผลต่อการวางแผนเที่ยวบินของสายการบินอยู่ไม่น้อย
อย่างสายการบิน Southwest Airlines ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ก็ประสบกับปัญหาจำนวนเครื่องบินโดยสารไม่เพียงพอ จนไม่สามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวเที่ยวบินต่อวันได้ จากเดิมที่เคยทำได้ราว 5,000 เที่ยวบินต่อวัน ต้องลดลงเหลือราว 4,000 เที่ยวบินต่อวัน เพราะต้องรอเครื่องบินลำใหม่จาก Boeing จำนวน 114 ลำ ที่เคยมีกำหนดการส่งมอบภายในปีนี้
ส่วนสายการบิน United Airlines ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการยกเลิกเส้นทางที่มีความต้องการเที่ยวบินของผู้โดยสารน้อย เพื่อหันไปให้ความสำคัญกับเส้นทางที่มีความต้องการของผู้โดยสารมากกว่า เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเครื่องบินโดยสาร
ทำไมเครื่องบินโดยสารจึงขาดแคลน.. ?
สาเหตุที่ทำให้เครื่องบินโดยสารขาดแคลน เกิดจากหลายปัญหารวมกัน ทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ ปัญหาด้านการขนส่ง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการบินหลาย ๆ คน ให้ความเห็นไว้ว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินโดยสาร ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ทำให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างมหาศาล
แม้ในวันนี้ความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร และความต้องการเครื่องบินของสายการบินต่าง ๆ จะกลับมาแล้ว แต่บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องบินโดยสาร ก็ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการได้ เนื่องจากปัญหาด้านการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงแรงงาน
ด้าน Airbus และ Boeing 2 บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของโลก ก็ดูจะมีปัญหากับสถานการณ์ในขณะนี้ไม่น้อย จนต้องปรับลดการคาดการณ์จำนวนเครื่องบินที่จะสามารถส่งมอบได้ในปีนี้
- Airbus เคยคาดการณ์ว่าจะสามารถส่งมอบเครื่องบินให้สายการบินต่าง ๆ ได้ 700 ลำ ในปีนี้ แต่จนถึงขณะนี้ Airbus สามารถส่งมอบเครื่องบินไปได้ราว 437 ลำ เท่านั้น
- Boeing เคยคาดการณ์ว่าจะสามารถส่งมอบเครื่องบิน Boeing 737 Max รุ่นยอดนิยม ได้ราว 500 ลำ แต่ก็ปรับลดการคาดการณ์ดังกล่าว ให้เหลือเพียง 400 เท่านั้น
และในขณะนี้ Boeing ได้ส่งมอบเครื่องบิน Boeing 737 Max ไปได้แล้ว 277 ลำ
และในขณะนี้ Boeing ได้ส่งมอบเครื่องบิน Boeing 737 Max ไปได้แล้ว 277 ลำ