“ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์” เมื่อคนธรรมดาได้ค่าโฆษณา ในโลกเสมือนจริง

“ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์” เมื่อคนธรรมดาได้ค่าโฆษณา ในโลกเสมือนจริง

28 ธ.ค. 2019
ทุกวันนี้เราทุกคนกำลังเป็น “สื่อ”
เพราะแค่มีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว เราอยากบอกอะไรกับใคร
แค่กดปุ่มผ่าน Social Media อย่าง Facebook, Instagram
สิ่งที่เราอยากจะบอกก็จะไปถึงคนจำนวนมาก
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ทำให้คนที่มีคนติดตามจำนวนมาก หรือเรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์
กลายเป็นผู้มีโอกาสหารายได้จากแบรนด์สินค้าขึ้นมาได้ทันที
เพราะยิ่งเรามีคนติดตามมากเท่าไร การกดปุ่มในสมาร์ตโฟนเพียงครั้งเดียวก็มีพลังมหาศาลได้
นั่นจึงเป็นที่มาของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่เคยมีชื่อเสียง ไม่ได้เป็นดารา แต่มีความถนัดและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หรือเป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถูกใจมหาชนออนไลน์ มีผู้ติดตามหลักหมื่นหลักแสนคน
จะถูกยกให้เป็น “อินฟลูเอนเซอร์”
ปรากฏการณ์นี้ ทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ ใช้สื่อ Mass อย่าง นิตยสาร ทีวี น้อยลงหากเทียบกับในอดีต
แล้วหันมาใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงพวกอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ เป็นเครื่องมือโฆษณาสินค้าเพื่อเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก
โดย อินฟลูเอนเซอร์ เหล่านี้แค่โพสต์สินค้าคู่กับตัวเองหรือไปทานอาหารร้านดัง แล้วโพสต์ในลง Social Media ก็ได้ค่าจ้าง 30,000 - 100,000 บาท ต่อครั้ง
ส่วนจะราคาไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม และผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอินฟลูเอนเซอร์นั้น
เห็นรายได้ขนาดนี้ แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากเปลี่ยนสถานะ
จากคนธรรมดาๆ คนหนึ่งมาเป็นคนดังในโลกออนไลน์
แต่.. ตอนนี้โลกไปไกลกว่านั้น
จากอินฟลูเอนเซอร์ ได้แตกย่อยมาเป็นคำใหม่เรียกว่า “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์” หรือคนที่มีผู้ติดตามจำนวนไม่มาก ตั้งแต่หลักพันคน จนถึงหมื่นคน
รู้หรือไม่ ณ วันนี้เพื่อนๆ รอบๆ ตัวเราหรือคนรู้จัก ที่โพสต์ว่ากำลังใช้สินค้าแบรนด์นี้, มาทานอาหารร้านดัง
พวกเขาเหล่านี้ อาจได้ค่าจ้างในการโพสต์ ซึ่งเอเจนซี่และแบรนด์สินค้าเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์..
โดยถ้าโพสต์ไปแล้วได้ยอดกด Like และ Share ในระดับหนึ่ง ก็อาจได้ค่าจ้าง 3,000 - 20,000 บาท ต่อโพสต์
ด้วยเรตค่าจ้างที่ไม่แพง และราคาถูกกว่าหากเทียบกับ “อินฟลูเอนเซอร์” ชื่อดัง
ทำให้กลุ่มแบรนด์สินค้าเองกำลังใช้เงินจ้างพวกเขาเหล่านี้มากขึ้น
เพราะสมมติหากต้องจ้าง อินฟลูเอนเซอร์ ชื่อดังที่มีคนติดตามหลักแสนคน
ในราคา 5 - 6 หมื่นบาทต่อการโพสต์ลงโซเชียล 1 ครั้ง
ในเงินจำนวนที่เท่ากันอาจสามารถจ้าง “ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์” ได้ถึง 5 - 6 คน
ที่มีคนติดตาม 2 - 3 หมื่นคน
ซึ่งเมื่อแบรนด์สินค้า นำมาชั่งน้ำหนักเทียบความคุ้มค่าก็อาจจะเลือกไมโครอินฟลูเอนเซอร์ เพราะอยากให้หลายคนพูดมากกว่าคนเดียว
และที่สำคัญ “ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์” มักจะรู้จักผู้ติดตามตัวเอง ผู้ติดตามบางคนอาจเป็นเพื่อนหรือเป็นคนรู้จัก
ทำให้การโพสต์รูปตัวเองกับสินค้าแต่ละครั้ง คนรู้สึกว่าไม่ได้ขายของ
แต่กลับรู้สึกว่า “เพื่อนกำลังบอกเพื่อน” หรือที่เรียกว่า “เนียน มาร์เก็ตติ้ง”
ส่วน “อินฟลูเอนเซอร์” ชื่อดังต่างๆ ณ วันนี้คนในโลกออนไลน์เริ่มจับทางได้แล้วว่าเป็นการจ้าง โฆษณา ที่ไม่ค่อยเนียนเท่าไร
สอดคล้องกับผลสำรวจของ Revu แพลตฟอร์มรีวิวสินค้า ที่เปิดเผยว่า
ผลสำรวจ 92% คนจะเชื่อถือรีวิวจากคนธรรมดาไม่ใช่คนดังในโลกออนไลน์
เพราะรู้สึกว่าเป็นการรีวิวจากผู้ใช้สินค้านั้นจริง
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ทำให้ใครๆ ก็อยากที่จะเป็น “ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์”
เพราะขอแค่มีคนติดตามในจำนวนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังระเบิดในออนไลน์ ก็สามารถหาเงินจากแบรนด์สินค้าได้
ต่อไปเราจะเริ่มเห็นคนจำนวนไม่น้อย พยายามทำตัวเองให้โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ในโลกจำลองเสมือนจริงอย่าง Social media เพื่อให้ได้มาซึ่งยอดคนติดตามที่เพิ่มขึ้น จนไปเตะตาแบรนด์สินค้า เพื่อให้จ้างตัวเองโฆษณา
แต่อย่างไรก็ตาม.. คนเหล่านั้นก็ต้องระวังไว้ว่าการเป็น “ตัวปลอม” ที่ต้องแสดงละครในโลก Social ในทุกๆ วัน
มันเหนื่อยแค่ไหน และพวกเขายินดีที่จะใช้ชีวิตกับบทละคร ที่ตัวเองสร้างขึ้นมานั้นไปอีกนานเท่าไร
และสุดท้ายเพื่อนๆของ ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ เหล่านั้นก็จะรู้ตัวอยู่ดีว่าเพื่อนคนนี้ได้เปลี่ยนไป จนต้องกดเลิกติดตามนั่นเอง
Reference
Revu แพลตฟอร์มรีวิวสินค้า
https://www.smeone.info/category-detail/6263
https://vantage.in.th/…/07/influencers-are-not-as-influent…/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.