การปลดพนักงานของ Shopee กำลังเตือนอะไรเรา..

การปลดพนักงานของ Shopee กำลังเตือนอะไรเรา..

15 มิ.ย. 2022
เมื่อวันก่อนมีรายงานว่า Shopee กำลังดำเนินการปลดพนักงานบางส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงไทย..
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะถ้าลองย้อนไปดูผลประกอบการภาพรวมของ Shopee
จะเห็นได้ว่าไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 13,322 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 113% เมื่อเทียบกับปีก่อน
แล้วทำไมบริษัทที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด แถมมีเงินทุนหนา ถึงต้องปลดพนักงาน ?
แล้วการปลดพนักงานในครั้งนี้ สามารถบอกอะไรเราได้บ้าง
- นี่คือจุดเริ่มต้นของการ Layoff ครั้งใหญ่..
ด้วยปัญหาภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังกดดันซัปพลายเชนทั่วโลก ส่งผลให้ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น โดยเฉพาะพลังงานและอาหาร
ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้ความต้องการและกำลังซื้อสินค้าของของผู้บริโภคลดลงไปด้วย
และในเมื่ออุปสงค์ในสินค้าเริ่มลดลง ผู้บริโภคเริ่มรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่าย
ก็แสดงให้เห็นว่าการสร้างรายได้เพิ่มของภาคธุรกิจ คงจะยากกว่าการลดค่าใช้จ่าย
และการลดค่าใช้จ่ายที่ง่ายและเห็นผลได้เร็วที่สุด นอกจากการตัดงบโฆษณาแล้ว
ก็คงหนีไม่พ้นการ “เลิกจ้าง” พนักงาน..
รวมไปถึงชะลอการจ้างพนักงานใหม่
ซึ่งเห็นได้จากเหล่าบริษัทชั้นนำ ที่เริ่มมีการปลดพนักงานในบางส่วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- Tesla รถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องแบบทุบสถิติเกือบทุกไตรมาส
ยังแสดงความเห็นว่า พนักงานของพวกเขามีมากเกินไป และจะเริ่มมีการปลดพนักงานบางส่วนออก
ซึ่ง Country Manager ของ Tesla ประจำสาขาสิงคโปร์ ก็คือคนที่โดยเลิกจ้างไปเมื่อไม่กี่วันก่อน..
- Meta ประกาศไม่รับคนเพิ่ม
- Netflix ปลดพนักงานราว 150 คน หลังจากที่มียอดผู้ใช้งานลดน้อยลง
- Coinbase แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่สุดในสหรัฐฯ ประกาศปลดพนักงานกว่า 18% หรือประมาณ 1,100 คน ออกจากบริษัท
อีกอย่างคือต้องยอมรับว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาต้นทุนสูงขึ้นจากเงินเฟ้อเท่านั้น ที่เป็นสาเหตุให้หลายบริษัทต้องเริ่มลดพนักงาน
แต่การ “กลับมาสู่ภาวะปกติ” ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บริษัทที่โตระเบิดในช่วงโควิด ไม่ได้มีลูกค้าเท่าเดิมอีกแล้ว..
ยกตัวอย่างเช่น Zoom แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ ที่เติบโตจากเทรนด์ WFH ทำให้มูลค่าบริษัทสามารถเติบโตได้ถึง 751% จนมูลค่าบริษัทพุ่งไปแตะ 5.5 ล้านล้านบาท
แต่พอทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ มูลค่าบริษัทก็ลดลงจนเหลือแค่ 1.1 ล้านล้านบาท หรือลดลง 80% จากจุดสูงสุด
ซึ่งการระบาดของโควิด ก็มีส่วนให้ Shopee เติบโตไม่มากก็น้อย
ดังนั้นในเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ความต้องการใช้แอปของผู้ใช้งาน ก็อาจลดลงตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มลดพนักงานนั่นเอง..
และแน่นอนว่าการ Layoff ของ Shopee ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ส่งสัญญาณเตือนเรา
- หรือศึกการแข่งกันเผาเงินทิ้ง กำลังจะจบ ?
ถึงแม้ว่าบริษัทแม่ของ Shopee ซึ่งก็คือ Sea Limited จะเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นค่ายเกมออนไลน์อย่าง Garena, แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และระบบการชำระเงินหลังบ้านอย่าง Sea Money ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่สดใส
โดยกลยุทธ์ของ SEA ก็คืออาศัยความได้เปรียบจากทุนที่หนาของตัวเอง (ผ่านการจัดหาเงินทุนต่าง ๆ เช่น ระดมทุนจากนักลงทุน) เพื่อใช้ไปแข่งขันทางธุรกิจที่หลากหลาย ในแต่ละประเทศ
แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่แต่ละธุรกิจที่ Sea ไปลงทุนนั้น แทบจะเป็น Red Ocean หรือตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือดเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ต้องลงทุนสูงมากในการแย่งลูกค้ากับคู่แข่ง
เอาแค่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็มีการแข่งขันแบบชนิดที่ว่าเหมือนเผาเงินทิ้งแข่งกัน เพราะถ้าหากลองดูรายได้ของบริษัทที่ลงมาเล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่าในปี 2564 ทุกบริษัทต่างแทบจะขาดทุนทั้งหมด มีเพียง Lazada ที่เริ่มจะมีกำไรขึ้นมาบ้าง
Lazada 14,675 ล้านบาท กำไร 227 ล้านบาท
Shopee รายได้ 13,322 ล้านบาท ขาดทุน 4,973 ล้านบาท
JD Central รายได้ 7,443 ล้านบาท ขาดทุน 1,930 ล้านบาท
แต่หากนับรวมผลประกอบการ 3 ปี (พ.ศ. 2562 - 2564)
Lazada มีผลขาดทุนรวมกัน 7,469 ล้านบาท
Shopee มีผลขาดทุนรวมกัน 13,889 ล้านบาท
JD Central มีผลขาดทุนรวมกัน 4,649 ล้านบาท
ซึ่งลำพังแค่การแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็ต้องใช้งบประมาณมาทุ่มตลาดมากมายอยู่แล้ว
แต่ Shopee ก็ยังมีการไปรุกกลุ่มธุรกิจที่ก็ Red Ocean ไม่แพ้กัน นั้นก็คือ แพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรี
ที่มีเจ้าตลาดอย่าง Grab, LINE MAN กำลังแย่งชิงลูกค้ากันอย่างเอาเป็นเอาตายไม่ต่างจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
โดยแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีของ Shopee ภายใต้แบรนด์ ShopeeFood ก็มีการอัดโปรโมชันอย่างหนักเพื่อดึงฐานผู้ใช้มาจากเจ้าตลาด
ตั้งแต่การเก็บค่า GP แค่ 5% ในขณะที่เจ้าอื่นเก็บประมาณ 30%
รวมไปถึงยังมีการให้ส่วนลดกับผู้ใช้งาน ชนิดที่ว่าบางออร์เดอร์สามารถซื้อในราคาที่ลดเกิน 50% เลยทีเดียว
ซึ่งเมื่อเผาเงินทิ้งแล้วไม่เป็นผล “การยอมถอย” จึงเป็นทางเลือกที่ดูดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
โดย Shopee ในไทย ได้ปลดพนักงานในส่วนของ ShopeePay และ ShopeeFood มากถึงครึ่งหนึ่ง
สะท้อนให้เห็นว่า การแข่งกันเผาเงินเล่นของเหล่าธุรกิจเหล่านี้ อาจจะกำลังจบลง
ซึ่งการยอมถอยของ Shopee ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเป็นประเทศแรก เพราะก่อนหน้านี้ Shopee ก็ได้มีการประกาศเลิกกิจการในฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ที่เพิ่งดำเนินธุรกิจได้เพียง 5 เดือน
รวมไปถึงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Shopee ได้ประกาศเลิกกิจการในอินเดีย โดยเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คนอีกด้วย..
และล่าสุด ก็มีรายงานว่า Shopee กำลังเตรียมถอยทัพออกจากประเทศสเปน
สุดท้ายนี้ ภาวะเงินเฟ้อและปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร เป็นสิ่งที่กระทบกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ประกอบการไปจนถึงผู้บริโภค และแน่นอนว่าปัญหาเงินเฟ้อ และสงคราม ก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตลอดไป
การเริ่ม Layoff พนักงานเป็นเพียงกลไลอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้วิกฤตินี้ไปสู่บทสรุปได้เร็วขึ้นเท่านั้น
และสุดท้ายเมื่อถึงจุดที่ต้นทุนเริ่มต่ำลงจากการลดค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และสถานการณ์หลาย ๆ อย่างเริ่มกลับสู่จุดปกติ
จะส่งผลให้สินค้าและบริการ อาจจะเริ่มปรับตัวลงมา จนทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อกลับมา ซึ่งหมายถึงอุปสงค์ที่มากขึ้น
ซึ่งนั่นก็อาจจะนำมาสู่การเพิ่มกำลังการผลิตและการให้บริการ ของเหล่าธุรกิจทั้งหลาย จนนำมาสู่ “การจ้างงาน” อีกครั้ง ซึ่งเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบนั่นเอง..
อ้างอิง : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.