สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ด้วยการตลาดผ่านเสียงเพลง “Music Marketing”

สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ด้วยการตลาดผ่านเสียงเพลง “Music Marketing”

29 พ.ค. 2022
รู้หรือไม่ว่า เสียงเพลง เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และเป็นที่จดจำได้มากขึ้น
นอกเหนือจากชื่อแบรนด์ โลโกแบรนด์ และองค์ประกอบอื่น ๆ
ไม่เชื่อก็ลองนึกดูว่า เมื่อเรานึกถึงแบรนด์เหล่านี้ เช่น แลคตาซอย, ปูไทย และ MK
เรานึกถึงอะไรกันบ้าง ?
เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึงเพลงโฆษณาที่ชวนติดหู พร้อมร้องออกมาเป็นทำนองได้อย่างแน่นอน
ซึ่งการที่แบรนด์ต่าง ๆ ใช้เพลงเข้ามาส่งเสริมแบรนด์ หรือส่งเสริมแคมเปญทางการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้และให้เป็นที่จดจำมากขึ้นนี้ เรียกว่า “Music Marketing”
โดยคำว่า Music Marketing ก็สามารถแปลตรงตัวได้คือ การทำการตลาดที่ใช้ดนตรีเข้ามาประกอบ
ในยุคแรก ๆ Music Marketing ก็คือการแต่งเพลง เพื่อประกอบโฆษณาบนโทรทัศน์เป็นหลัก
เช่น เพลงประกอบโฆษณาของแลคตาซอย, ปูไทย และ MK ที่ได้พูดถึงไปแล้ว
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเริ่มพัฒนามากขึ้น ก็เริ่มขยายจากทางโทรทัศน์ ไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น บนแพลตฟอร์มวิดีโออย่าง YouTube
รวมถึงเริ่มมีการแต่งเพลงจริงจังมากขึ้น โดยนำนักร้องที่มีชื่อเสียงมาร้อง พร้อมสร้าง MV ประกอบ เพื่อให้เพลงเหล่านั้นได้รับความนิยม และกระจายไปถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
อย่าง MK ที่เมื่อปี 2019 ได้ปล่อยเพลง กินอะไร ในเวอร์ชันใหม่บน YouTube ที่มีแสตมป์ อภิวัชร์, URBOYTJ และลำไย ไหทองคำ มาร้องร่วมกัน
ขณะที่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ ยังมีการใช้เสียงเพลงมาส่งเสริมแบรนด์ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ก็คือ การเลือกเปิดเพลง หรือดนตรี ภายในร้านค้า ร้านกาแฟ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าอยู่ในร้านได้นานขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น Starbucks เชนร้านกาแฟที่ขึ้นชื่อเรื่องการเปิดเพลงสบาย ๆ เหมาะกับการเข้ามาจิบกาแฟ รับประทานอาหารว่าง หรือแม้แต่เข้ามานั่งทำงานได้แบบเพลิน ๆ
จนถึงขนาดที่ว่ามีผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดีย ออกตามหาเพลย์ลิสต์แบบ Starbucks ซึ่งต่อมา Starbucks ก็ออกมาปล่อยเพลย์ลิสต์ ให้ทุกคนเข้าไปฟังได้ง่าย ๆ ผ่าน Spotify
หรือ Muji ร้านขายสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น ที่มักจะเปิดเสียงดนตรีคลอเบา ๆ เพื่อให้ลูกค้าเพลิดเพลินไปกับการเลือกสินค้า
โดย Muji ได้ทำการรวบรวมเพลงเองกว่า 300 เพลง จากนักดนตรีท้องถิ่นใน 16 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในตอนแรกได้วางขายในรูปแบบแผ่นซีดี แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาเปิดตัวเป็นเพลย์ลิสต์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิง ทั้ง Spotify, Apple Music และ YouTube Music
รู้หรือไม่ว่า แบรนด์ไทยอย่าง Bearhouse ร้านชานมฝีมือคนไทย จากคุณซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และคุณกานต์-อรรถกร รัตนารมย์ ที่เป็นผู้ก่อตั้ง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้ลงทุนไปกว่า 1 แสนบาท เพื่อสร้างเพลย์ลิสต์เพลง สำหรับร้านชานมของตัวเองเช่นกัน
โดยมีกิมมิกที่สอดแทรกอยู่ในเพลงก็คือ ใส่เสียงน้ำแข็ง เสียงใบชา และเสียงไข่มุกที่กระทบกับน้ำลงในเพลงด้วย
แล้วการที่แบรนด์ต่าง ๆ ทุ่มเงินลงทุนสร้างเพลง เพื่อส่งเสริมแบรนด์ หรือส่งเสริมแคมเปญทางการตลาด มีข้อดีอะไรบ้าง ?
- ช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ หรือ Brand Awareness มากขึ้น
แน่นอนว่า องค์ประกอบเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อแบรนด์ โลโกแบรนด์ หรือสีของแบรนด์ ต่างมีส่วนในการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ทั้งหมด เช่น ถ้าเราใช้ชื่อแบรนด์ที่เข้าใจง่าย หรือสร้างสรรค์ ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะจดจำได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยที่พบว่า “เสียงเพลง” เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้ลูกค้ารับรู้และจดจำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น
ซึ่งไม่เพียงแค่จดจำได้ว่า เป็นแบรนด์อะไร ขายสินค้าอะไร
แต่ถ้าหากเพลงเหล่านั้น บอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ หรือเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ลูกค้าก็จะสามารถจดจำไปจนถึงเรื่องราวเหล่านั้นได้ด้วย
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า ลูกค้ามีแนวโน้มจะจดจำแบรนด์ ที่ใช้เสียงเพลงในการทำการตลาด ได้มากกว่าแบรนด์ที่ไม่ใช้เสียงเพลงด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบรนด์ที่ใช้เพลง หรือใช้นักร้อง ที่สอดคล้องไปกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ จะยิ่งทำให้ลูกค้าจดจำได้มากขึ้นกว่าเดิม
- ทำให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ หรือ Customer Loyalty
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Starbucks เมื่อร้านค้าสามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้
ในกรณีนี้ ก็คือเพลงสบาย ๆ ที่ทำให้ลูกค้าเพลิดเพลินกับการนั่งในร้านค้า
จึงมีแนวโน้มว่า ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการอีกซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ นั่นเอง
หรืออย่างกรณีร้านชานมไข่มุก Bearhouse ที่ทุ่มเงินแสน สร้างเพลย์ลิสต์ของตัวเอง
นอกจากจะเหมือนกรณีของ Starbucks ที่ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ ๆ แล้ว
อีกหนึ่งข้อดีก็คือ สามารถนำเพลงมาเปิดที่ร้านค้าได้ตลอด
รวมถึงยังนำไปพัฒนาต่อยอด ประกอบแคมเปญทางการตลาดอื่น ๆ โดยไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์​ด้วย
- เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ
การนำนักร้อง มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำ Music Marketing ก็คล้ายกับการที่แบรนด์ 2 แบรนด์มาจับมือ Collaboration กัน ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้วแบรนด์โออิชิ ต้องการขยายฐานกลุ่มลูกค้า ไปยังกลุ่มวัยรุ่นในภาคอีสาน
ทางแบรนด์จึงดึง เบิ้ล ปทุมราช นักร้องซึ่งเป็นขวัญใจแฟนเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่มียอดวิวรวมกว่า 1,000 ล้านวิวบน YouTube มาเป็นพรีเซนเตอร์นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า Music Marketing นั้นช่วยส่งเสริมการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ เราจึงเห็นว่า Music Marketing เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่แบรนด์ไทยนิยมใช้กันอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ข้อสำคัญในการทำ Music Marketing ก็คือควรรู้ก่อนว่า แบรนด์ของตัวเองเป็นอย่างไร อยากสื่อสารแบรนด์ผ่านเพลงอย่างไร มีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร หรือต้องการให้เพลงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใด
จึงจะสามารถทำการตลาดด้วย Music Marketing ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง..
อ้างอิง:
-https://www.timeout.com/tokyo/news/you-can-now-stream-mujis-in-store-music-at-home-for-free-052521
-https://www.youtube.com/watch?v=ry3MnNBoUAY
-https://www.audiodraft.com/audio-branding/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.