จากแม่บ้าน ที่เป็นโรคซึมเศร้า สู่เจ้าของ Auntie Anne's

จากแม่บ้าน ที่เป็นโรคซึมเศร้า สู่เจ้าของ Auntie Anne's

29 พ.ค. 2021
พูด​​ถึง “เพรตเซล” ขนมอบที่มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าใครก็ต้องนึกถึง Auntie Anne's
แต่ถ้าถามว่า Auntie Anne's มีที่มาอย่างไร หลายคนอาจไม่แน่ใจ
หรือบางคนอาจจะนึกไม่ถึงด้วยซ้ำว่า เบื้องหลังของเชนร้านเพรตเซล ที่ใหญ่สุดในโลก
กลับมีจุดเริ่มต้นมาจากร้านขนมเล็ก ๆ ที่มีเจ้าของเป็นอดีตแม่บ้าน ซึ่งเคยเกือบฆ่าตัวตาย เพราะโรคซึมเศร้า
อะไรคือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้แม่บ้านคนนั้น ไม่ยอมแพ้โชคชะตา
ฮึดสู้ จนกลายเป็นหนึ่งในตำนานของโลกธุรกิจ
เราไปตามหาจุดเริ่มต้นของ Auntie Anne's พร้อมกัน
เห็นชื่อแบรนด์ Auntie Anne's หลายคนอาจเดาได้ไม่ยากว่า ถ้าไม่มาจากชื่อของเจ้าของแบรนด์
ก็ต้องเป็นชื่อของภรรยาผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่างแน่นอน
ซึ่งเป็นการคาดเดาที่ถูกต้อง เพราะ Auntie Anne's มาจากชื่อผู้ก่อตั้ง คุณแอน ไบเลอร์ (Anne Beiler)
ชีวิตของคุณแอน จะว่าไปก็ไม่ต่างจากละคร ที่ต้องเจอกับมรสุมครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผ่านเข้ามาทดสอบ
จนไม่คาดคิดว่า ชีวิตของแม่บ้านคนหนึ่ง ที่เคยสิ้นหวังกับชีวิต จะมาถึงวันนี้
ย้อนกลับไปสู่วัยเด็กของคุณแอน เธอเกิดและเติบโตในแถบชนบทของสหรัฐอเมริกา
ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่เชื่อว่า ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลเรื่องในบ้านเท่านั้น
ดังนั้น เธอจึงมีโอกาสเรียนแค่เกรด 8 ก็ต้องออกจากโรงเรียน
พออายุ 19 ปี ก็แต่งงานกับสามี ที่มีอาชีพเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ และมีลูกสาวที่น่ารักด้วยกันถึง 3 คน
แต่แล้วชีวิตครอบครัวที่ดูเหมือนจะราบรื่น กลับพังทลายลงต่อหน้า
เมื่อลูกสาวคนกลาง ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
การสูญเสียในครั้งนั้น ทำให้คุณแอนยากเกินจะทำใจรับไหว
รอยร้าวในใจ ทำให้เธอและสามี แม้จะยังใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน แต่ก็เริ่มห่างเหิน
คุณแอนเริ่มมีอาการซึมเศร้า จนถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย จึงตัดสินใจเข้ารับการรักษากับบาทหลวง ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา หวังเยียวยาจิตใจ
แต่กลับผีซ้ำด้ำพลอย ไปเจอบาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศ นานถึง 6 ปี
กว่าเรื่องราวที่ไม่ต่างกับฝันร้ายนี้ จะถูกเปิดโปง และเป็นเหตุให้บาทหลวงคนนั้น ถูกยึดใบอนุญาตการให้คำปรึกษา
หลังจากผ่านมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ ความสัมพันธ์ของคุณ Anne และสามี ค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ​
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป​ คือ คุณแอนไม่อาจสวมบทแม่บ้าน ที่มีหน้าที่แค่ดูแลบ้านได้อีกต่อไป
เพราะหลังจากผ่านเหตุการณ์มากมาย ทำให้สามีของคุณแอน เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านชีวิตแต่งงานและครอบครัว จนได้รับใบอนุญาต​
และตัดสินใจก่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้มีปัญหาครอบครัว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ฟังดูเป็นเรื่องที่ดีก็จริง แต่การจะสนับสนุนสามี ให้ทำในสิ่งนี้
หมายความว่า คุณแอนต้องมาช่วยสามี หารายได้เสริม เพื่อจุนเจือครอบครัว
คำถาม คือ แล้วแม่บ้านที่ไม่ได้เรียนสูง แถมไม่มีทุนติดตัว​
จะไปทำอาชีพอะไร เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
ในช่วงที่หลังชนฝานั้น คุณแอนก็พบช่องทาง
เธอตัดสินใจไปสมัครเป็นพนักงานแผงขายอาหาร ที่ตลาดชุมชน​
งานนี้ทำให้คุณแอน ได้เรียนรู้วิธีการทำเพรตเซล ซึ่งไม่เพียงเป็นสินค้าที่ขายดี แต่ยังกำไรงาม เพราะต้นทุนไม่สูง แต่ขายได้ราคา
หลังจากเป็นลูกจ้างอยู่เกือบปี คุณแอนก็ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นเถ้าแก่เสียเอง
ด้วยการลงทุนเช่าแผง เพื่อเปิดร้านของตัวเอง ในปี ค.ศ. 1988 โดยตั้งชื่อร้านว่า Auntie Anne’s
ในช่วงแรกเมนูของที่ร้าน มีทั้งเพรตเซล, ไอศกรีม และพิซซ่า
แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นดั่งใจ เพราะหลังจากเปิดร้านสัปดาห์แรก คุณแอนก็พบว่า รสชาติเพรตเซลที่เธอได้สูตรจากเพื่อนมาอีกทีนั้น ไม่เป็นที่ประทับใจของลูกค้า
ตอนนั้นทำเอาคุณแอนท้อ แทบจะเลิกขายเพรตเซล โชคดีที่สามีของเธอ ซึ่งพอมีความรู้เรื่องการทำขนมอยู่บ้าง
จึงช่วยชี้ทางสว่าง ด้วยการแนะนำให้เติมส่วนผสมบางอย่างลงไป
ปรากฏว่า เพรตเซลสูตรใหม่นี้ เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า จากเสียงติกลายเป็นเสียงชมไม่ขาดสาย
คุณแอนเลยตัดสินใจเปลี่ยนมาขายเพรตเซลอย่างเดียว และยังเพิ่มลูกเล่นในการขาย
ด้วยการนวดแป้งสด ๆ ให้ลูกค้าเห็น และอบไปขายไป
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นของแบรนด์ มาจนถึงปัจจุบัน ที่ต้องกินเพรตเซล ที่อบเสร็จใหม่ ๆ ถึงจะอร่อย
จากธุรกิจที่คิดว่า จะเป็นช่องทางหารายได้เสริม
ใครจะคิดว่า ผ่านไป 6 เดือน คุณแอนก็สามารถขยายกิจการ เปิดสาขาสอง
และในปี ค.ศ. 1989 ก็เริ่มโมเดลขายแฟรนไชส์ ซึ่งถือเป็นประตูบานสำคัญ ที่ทำให้ Auntie Anne’s เติบโตอย่างก้าวกระโดด ​
ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี Auntie Anne's ก็มีหลายร้อยสาขา
ในปี ค.ศ. 1995 Auntie Anne’s มีจำนวนสาขาทั้งหมด 344 สาขา
สามารถทำยอดขายทะลุ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ มากกว่า 3,000 ล้านบาทไม่พอ
ยังมีการเปิดสาขาในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
แล้ว Auntie Anne’s เข้ามาในประเทศไทย ได้อย่างไร ?
ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ Auntie Anne’s เข้ามา คือ กลุ่มเซ็นทรัล เรสตอรองส์ หรือ CRG เจ้าของเชนร้านอาหารและของหวานที่หลายคนคุ้นเคย อย่าง​ KFC, Mister Donut, Cold Stone Creamery, Chabuton, Pepper Lunch, The Terrace, Yoshinoya และอีกมากมายในบ้านเรา
โดย Auntie Anne’s เปิดให้บริการสาขาแรก ที่เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ตอนปี ค.ศ. 1998
และปัจจุบัน มีมากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ
เรื่องราวของคุณแอน สะท้อนให้เห็นว่า
ต่อให้บางครั้ง โชคชะตาจะโหดร้าย กับเราแค่ไหน
แต่สุดท้าย ผู้ที่กุมชะตาชีวิต ก็คือ ตัวเราเอง
เหมือนอย่างคุณแอน ถ้าในวันนั้น
เธอท้อแท้.. จนเลือกที่จะกอดความเศร้า และบอกลาโลกนี้ไป
เธอผิดหวัง.. จนคิดที่จะปิดกิจการ เพราะลูกค้าไม่ประทับใจ
วันนี้คงไม่มีแบรนด์เพรตเซล ที่คนทั้งโลกหลงรักอย่าง Auntie Anne’s..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.