ตลาดคนแพ้ “นมวัว” ในไทย ทำไมถึงน่าสนใจ

ตลาดคนแพ้ “นมวัว” ในไทย ทำไมถึงน่าสนใจ

19 ธ.ค. 2020
เคยสงสัยไหมว่าคนแพ้นมวัวในไทยมีมากแค่ไหน
แล้วทำไม ตลาดนม Lactose Free ถึงเริ่มเป็นที่นิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
หลายๆ คนคงเคยกินนมวัวแล้วท้องเสีย
หรือบางคนเคยกินนมวัวได้ แต่พอกลับมากินอีกครั้ง ก็เกิดอาการท้องเสียเหมือนกัน
แล้วอาการเหล่านี้คืออาการของ “คนแพ้นมวัว” จริงหรือไม่?
จริงๆ แล้วโรคแพ้นมวัว กับ การมีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง 2 อย่างนี้ ต้องแยกกันให้ชัดเจน
เพราะอาการผิดปกติที่เกิดหลังจากดื่มนมวัว สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
1. โรคแพ้นมวัว (Cow Milk Protein Allergy) คืออาการของคนที่แพ้โปรตีนในนมวัว
จะเกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น ผื่นลมพิษ, น้ำมูกไหล, ไอแห้ง, คัดจมูก, อาเจียน, ถ่ายเหลวเฉียบพลัน
หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ซึ่งจากสถิติพบในคนไทย ประมาณ 3% เท่านั้น
คนกลุ่มนี้ต้องงดการดื่มนมวัว ไปดื่มนมประเภทอื่นแทน เช่น นมถั่วเหลือง หรือนมอัลมอนด์
2. ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) จะมีอาการ เช่น ท้องอืด, ผายลมบ่อย, คลื่นไส้อาเจียน, ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ซึ่งจากสถิติพบในคนไทย ได้ประมาณ 50-60%
ส่วนการแพ้น้ำตาลแล็กโทสในผู้ใหญ่พบได้ 65-70% ของผู้ใหญ่ทั่วโลก
แต่จากข้อมูลล่าสุดในปี 2017 ชี้ให้เห็นว่า ภาวะแพ้น้ำตาลแล็กโทสพบได้ 100% ในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม
ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่คนในทวีปยุโรป หรือชาวสแกนดิเนเวีย จะมีอัตราการแพ้น้ำตาลแล็กโทสน้อยกว่า
คนทวีปเอเชีย เพราะคนในทวีปยุโรป มีวัฒนธรรมการกินนม ชีส เนย เป็นหลัก มาหลายศตวรรษแล้ว ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานมากกว่า
และสาเหตุที่คนมีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง เพราะโดยแรกเกิด ร่างกายจะผลิตเอนไซม์แล็กเทส ที่เอาไว้ย่อยน้ำตาลแล็กโทสอยู่แล้ว แต่หลังจากอายุ 2-12 ปีขึ้นไป ร่างกายจะผลิตเอนไซม์ตัวนี้ลดลง จนพร่องเอนไซม์ตัวนี้ไป ในขณะที่บางคนยังสร้างได้ปกติ
ซึ่งวิธีแก้ของคนที่มีภาวะนี้ คือ
1) กินผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมวัว เช่น โยเกิร์ต ชีส แทนการดื่มนมวัว
2) กินนมชนิดที่ไม่มีแล็กโทส
3) ปรับสมดุลร่างกายด้วยการกินนมวัวทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มปริมาณ เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ กลับมาผลิตเอนไซม์แล็กเทสได้เหมือนเดิม
สรุปแล้วคนที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องก็ยังสามารถกินนมวัวได้
แล้วทำไมตลาดนม Lactose Free จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจมากในตอนนี้ ?
เพราะจากตัวเลขคนแพ้แล็กโทสในนมของคนไทย มีประมาณ 50-60% เทียบเท่าประชากร 35-42 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
และสาเหตุที่แบรนด์นมเพิ่งมาออกผลิตภัณฑ์นม Lactose Free ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เพราะยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดจากสถาบันต่างๆ มีเพียงงานวิจัยปี 2004 ที่บ่งบอกว่าคนไทยแพ้น้ำตาลแล็กโทสในนม จำนวน 50-60%
เมื่อความเข้าใจยังมีความคลุมเครือ จึงทำให้ไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่นในตลาดนี้ แต่เมื่อแบรนด์ “mMilk”
ภายใต้ บริษัท แมรี่ แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด กล้าเข้ามาเปิดตลาดนม Lactose Free แล้วประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับที่ดี แบรนด์ใหญ่ก็เลยก้าวเข้ามาตามๆ กัน
ซึ่ง mMilk คือแบรนด์ที่ถูกปั้นขึ้นมาใหม่ เมื่อ 3-4 ปีก่อน โดยแต่เดิมเป็นบริษัทรับจ้างผลิตนมให้กับโรงเรียนอยู่แล้ว
นี่อาจเรียกว่าเป็น Emotional Marketing ก็ได้ เพราะการที่คนกินนมแล้วรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง ก็จะคิดเหมารวมว่าเราแพ้นมวัว แล้วหันไปกินนม Lactose Free แทน ถึงแม้ราคาจะสูงกว่านมแบบอื่นในตลาด
แต่ต่างประเทศ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่แพ้แล็กโทสในนมเหมือนคนไทย
แต่ก็ยังไม่แนะนำให้งดผลิตภัณฑ์จากนมวัว เพราะนมเป็นแหล่งอาหารและแคลเซียมที่ดีของคน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต
โดยถ้ามองจากตัวเลขปริมาณการดื่มนมของคนไทยถึงแม้จะน้อย แต่ก็เติบโตขึ้นทุกปี
จากตัวเลขการคาดการณ์ของ Euromonitor
ปี 2019 ตลาดนมพร้อมดื่มมีมูลค่า 58,500 ล้านบาท
ปี 2020 ตลาดนมพร้อมดื่มมีมูลค่า 60,800 ล้านบาท
ปี 2021 ตลาดนมพร้อมดื่มมีมูลค่า 63,000 ล้านบาท
และอัตราการบริโภคนมเฉลี่ยของประชากรทั่วโลก อยู่ที่ 113 ลิตร/คน/ปี
ซึ่งเมื่อเจาะในแต่ละทวีปจะพบว่า
-ยุโรปดื่มนม 274 ลิตร/คน/ปี
-อเมริกาเหนือดื่มนม 237 ลิตร/คน/ปี
-อเมริกาใต้ดื่มนม 124 ลิตร/คน/ปี
ขณะที่ทวีปเอเชียมีอัตราการบริโภคนมเฉลี่ย 66 ลิตร/คน/ปี
-สิงคโปร์ดื่มนม 62 ลิตร/คน/ปี
-ญี่ปุ่นดื่มนม 90 ลิตร/คน/ปี
-จีนดื่มนม 38 ลิตร/คน/ปี
-ไทยดื่มนม 18 ลิตร/คน/ปี
จะเห็นว่าตัวเลขปริมาณการดื่มนมของคนไทยยังน้อย ซึ่งถ้าแบรนด์รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันให้ความรู้ ส่งเสริมการดื่มนม ตัวเลขมูลค่าตลาดและปริมาณการดื่มนมก็อาจจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งตลาดนมก็เริ่มมีสัญญาณของการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์นม สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคอยู่ตลอด
แต่ไม่ว่านมจะออกรสชาติใหม่ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นลักษณะไหนก็ตาม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นมวัวยังเป็นแหล่งสารอาหารที่ครบถ้วนและอุดมสมบูรณ์ที่สุดอยู่ดี..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.