จากแผงขายหอมใหญ่ สู่ “นิธิฟู้ดส์” ธุรกิจเนื้อจากพืชรายได้ 300 ล้าน

จากแผงขายหอมใหญ่ สู่ “นิธิฟู้ดส์” ธุรกิจเนื้อจากพืชรายได้ 300 ล้าน

14 ธ.ค. 2020
ทายาทรุ่นที่ 2 เดินหน้าต่อยอดเกษตรสร้างสรรค์ จับเทรนด์ตลาดโลก
พร้อมหาความหมายในสิ่งที่กำลังทำ ไม่มุ่งแต่กำไรเพียงอย่างเดียว
“เพราะธุรกิจอาหารมีการแข่งขันสูง เราจึงต้องหา New S-Curve ในอุตสาหกรรมนี้อยู่ตลอดเวลา”
นี่คือแนวคิดของ คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ ทายาทรุ่น 2 ของคุณพ่อกอบชัย ทวีเลิศนิธิ ที่นำความรู้ด้านวิศวกรรม และประสบการณ์การทำงานที่สหรัฐอเมริกา กลับมาช่วยธุรกิจของที่บ้าน ต่อยอดจากธุรกิจเครื่องเทศอบแห้ง สู่ธุรกิจเนื้อจากพืช
New S-Curve ของอุตสาหกรรมอาหารที่ว่านี้ ก็คือนวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต
โดยจะเข้ามาแทนที่อาหารรูปแบบเดิมหรือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ซึ่งก็คือ ผลิตภัณฑ์ เนื้อจากพืช นั่นเอง
โดยผลิตภัณฑ์ อาหารจากพืช หรือ ธุรกิจ Plant-based Food ในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตขึ้นจากเดิม 2-10% เป็น 10-35% เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% โดยคาดการณ์มูลค่าตลาดไว้ที่ 45,000 ล้านบาท ภายในปี 2024
และผลิตภัณฑ์ Plant-based Food มีศักยภาพที่จะทำให้จำนวนคนไม่บริโภคเนื้อสัตว์หรือคนรับประทานอาหารเจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นได้อีกมากจากปี 2017 ที่มีอยู่ 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของประชากรไทย
อีกทั้งตลาดเนื้อจากพืชถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีขนาดเล็กในแถบเอเชีย และอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก
ต่างจากชาวตะวันตกที่จะพบกลุ่มคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ (Vegan) 1 ใน 4 คน
ดังนั้นตลาดเอเชียจึงเติบโตได้อีกมากในอนาคต
จุดเริ่มต้นของ “นิธิฟู้ดส์” ก่อนที่จะมาทำธุรกิจเนื้อจากพืช ต้องย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ. 2532
ที่ครอบครัวเริ่มต้นจากการตั้งแผงขายหอมใหญ่เล็กๆ ในย่านปากคลองตลาด ก่อนที่จะพบว่าธุรกิจนี้ไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้
คุณพ่อกอบชัย ทวีเลิศนิธิ จึงตัดสินใจพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปค้าขายพืชผลการเกษตรที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะขยับขยายสู่การตั้งโรงงานอบลำไย เอี่ยมกสิกิจ ในเวลาต่อมา
สั่งสมประสบการณ์จนค้นพบ ธุรกิจหลัก (Core Business) ของตัวเอง ในปี พ.ศ. 2541 ในนาม บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด โดยผลิตเครื่องเทศ ได้แก่ กระเทียมผง พริกไทยป่น กระเทียมเจียว น้ำมันเจียวหอม หอมแดงเจียว โดยมีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2552 คุณสมิตได้เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจจากคุณพ่อ ต่อยอดการผลิตเครื่องเทศอบแห้งไปยังสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรสอาหาร และนวัตกรรมอาหาร โดยมีการนำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร
คุณสมิตมองว่า “ตลาดเครื่องเทศอบแห้งเป็นตลาดที่เล็ก และเปราะบาง ดังนั้นจึงตั้งโจทย์กับตัวเองว่า ต้องมองหาธุรกิจใหม่โดยต่อยอดจากสิ่งที่มี และธุรกิจนั้นต้องเป็น New S-Curve ของอุตสาหกรรมอาหาร”
การแตกไลน์ธุรกิจใหม่ จะยึดคำว่า “เกษตรสร้างสรรค์” โดยจะต้องมีนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนประกอบ มีการคิดเรื่องใหม่อยู่ตลอดเวลา และอิงจากเทรนด์ของตลาดโลก
ซึ่งคุณสมิตตั้งใจอยากให้โรงงาน ไม่ได้มีแต่คนงานที่ใช้เพียงแรงงานอย่างเดียว แต่ต้องการให้ภาพใหญ่ของ นิธิฟู้ดส์ เป็นโรงงานที่มีแต่นักวิทยาศาสตร์ มีการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบ เกิดเป็นวิธีคิดและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต
ทำให้ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มขยายสู่ตลาดกลุ่มใหม่ ได้แก่ เครื่องปรุงรสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลาง โดยเน้นที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก, อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว, ผงปรุงรส, เนื้อสัตว์ปรุงรส, อาหารกึ่งสำเร็จรูป
ผลประกอบการของบริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ในปี 2562 สามารถทำรายได้ 266 ล้านบาท และมีกำไร 30 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลัก 95% มาจากธุรกิจจำหน่ายเครื่องเทศส่งกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และ อีก 5% มาจากสินค้ากลุ่มตลาดผู้บริโภค แต่ในอนาคตมีแผนจะปรับสัดส่วนรายได้เป็น 50:50 โดยการปรับพอร์ตธุรกิจจะเห็นได้จากการทยอยเปิดตัวแบรนด์สินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น
-น้ำพริกน้ำย้อย แบรนด์ “ย้อย” ที่ดัดแปลงสูตรน้ำพริกพื้นบ้านของจังหวัดแพร่ มาเพิ่มส่วนผสมไข่เค็ม โดยปัจจุบันมีถึง 9 สูตร
-แบรนด์ “Let’s Plant Meat” เล็ท แพล็น มีท ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช เช่น เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช เนื้อบดจากพืช เนื้อย่างจากพืช โดยเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ยังคงความอร่อย
เหมือนได้รับประทานเนื้อจริงๆ
ในปี 2560 ที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดตั้ง “สถาบันวิจัยรสชาติอาหาร บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด” ขึ้น
เพื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ให้มีโอกาสเข้าถึงการวิจัยพัฒนาได้ง่ายขึ้น โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาใช้บริการ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป, เนื้อสัตว์แปรรูป, ขนมขบเคี้ยว, ร้านอาหาร, เบเกอรี่, ครัวกลาง และเครื่องดื่ม โดยให้บริการแบบ One Stop Service ได้แก่ วิจัยรสชาติอาหาร, คิดสูตรอาหาร, การยื่นขอใบอนุญาต อ.ย., ผลิตและบรรจุผงปรุงรส/ ซอสปรุงรส, ให้คำปรึกษาการออกแบบฉลาก
ซึ่งนิธิฟู้ดส์ได้ยึดหลักการดำเนินธุรกิจ 2 แกน นั่นคือ
1. การเป็นธุรกิจต้นน้ำที่แข็งแรง ในแง่ของกระบวนการผลิต การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
2. เป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของผู้บริโภค ซึ่งแกนนี้นิธิฟู้ดส์ กำลังเริ่มพัฒนาให้ชัดเจนมากขึ้น จากการเลือกพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ดี เพื่อทำให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพ ไปถึงมือผู้บริโภคได้ถูกที่และถูกเวลา
และตัวชี้วัดสำคัญที่บอกได้ว่า นิธิฟู้ดส์ เป็นตัวอย่างให้กับธุรกิจอื่นได้เป็นอย่างดี คือ รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16 ซึ่งบริษัทฯ ได้รับรางวัลใน 3 มิติ ได้แก่
-องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise)
-การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service)
-การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice)
สุดท้ายคุณสมิตได้แชร์แนวคิดที่น่าสนใจว่า
“การเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจที่มีลูกน้องและพนักงานหลักพันคน สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่รายได้และกำไร แต่เป็นการค้นพบว่าสิ่งที่เราทำมีความหมายอะไร หาความหมายในงานให้เจอ และจับใส่ในทุกสิ่งที่เราทำ เมื่อเราหาความหมายเจอ เราจะสื่อสารกับพนักงานทุกคนของเราได้ และทุกคนก็จะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน”
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.