สสส. Kick-off แคมเปญ “เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” ชวนพ่อแม่เข้าใจเรื่องเล่นที่สำคัญต่อเด็กๆ
4 พ.ย. 2024
ในยุคที่ความสำเร็จของเด็กๆ มักถูกวัดด้วยคะแนนสอบหรือรางวัลเชิงวิชาการ ความสำคัญของการเล่นและพัฒนาการรอบด้านอาจถูกมองข้ามไป แต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่เคยมองข้ามความสำคัญนี้ มุ่งส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ โดยหนึ่งในแคมเปญที่ได้รับเสียงตอบรับดีจากผู้ปกครอง คือ “จ๊ะเอ๋ สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก” ซึ่งเป็นการจุดประกาย สร้างความเชื่อมั่นให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของตัวเองในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริง ทำได้ง่ายๆ และเป็นเรื่องใกล้ๆตัวไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือทรัพยากรมากมาย โดยเลือกการเล่น "จ๊ะเอ๋" ที่ดูเรียบง่าย และคุ้นเคยกันดี แต่กลับแฝงด้วยประโยชน์มหาศาล นำมาชูในสื่อสารครั้งนั้น
และเมื่อต้นปี 2567 นี้ สสส. ยังได้นำเสนอแนวคิด “สามเหลี่ยมสมดุล” ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ 3 เรื่องคือ “วิ่งเล่น กินดี นอนพอ” ซึ่งแนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่า หากเด็กได้รับการดูแลในทั้งสามมิติอย่างสมดุล พวกเขาจะเติบโตอย่างแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
แล้วก็มาถึงแคมเปญล่าสุดอย่าง “เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” ซึ่ง สสส. ยังคงให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง เพราะการเล่นอิสระนี้ไม่ได้เพียงแต่ให้ความสนุก แต่ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการเรียนรู้และการเติบโตอย่างมีศักยภาพ สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า เพราะเด็กคือรากฐานของสังคม สสส. เชื่อมั่นว่าการปล่อยให้เด็กๆ ได้เติบโตอย่างมีความสุขตั้งแต่วัยเยาว์ จะสร้างโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาทั้งทางกาย จิตใจ และความคิดสร้างสรรค์ในระยะยาว ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดแคมเปญนี้ขึ้นมา ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเล่นที่มีความสุข แต่ยังขับเคลื่อนแนวคิดว่า การเล่นคือพื้นที่แห่งการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตของเด็กๆ ให้มีความคิด และพัฒนาทักษะที่จำเป็นสามารถต่อยอดชีวิตของตัวเองได้เมื่อเติบโตขึ้น
แคมเปญ "เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์" ถูกออกแบบให้ชวนพ่อแม่เข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะผู้ดูแลการเล่น เพราะหลายครั้งพ่อแม่อาจจะเข้าใจว่าการปล่อยให้ลูกเล่นนั้นเพียงพอแล้ว หรือเผลอชี้นำการเล่นของลูกเพราะน่าจะดีกับลูกกว่า แต่การเล่นอิสระคือการที่พ่อแม่ต้องมีบทบาทเป็น "Play Worker" ผู้สนับสนุนการเล่นอย่างสมดุล โดยส่งเสริมและสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้เด็กได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ค้นพบความคิดและการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
หนึ่งในการตีความคอนเซ็ปต์ของงานให้ออกมาเป็นเรื่องราวต่างๆของแคมเปญนี้ ได้ Leo Burnett Thailand ครีเอทีฟเอเจนซี่ชื่อดัง และ สุธน เพชรสุวรรณ ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่มีรางวัลรับประกันมากมาย จากบริษัท ม่ำฟิล์ม จำกัด ร่วมกันรังสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาที่ผ่านการเจาะลึกพฤติกรรมของพ่อแม่ โดยการทำการบ้านอย่างหนักเพื่อหา Insight ที่ลึกซึ้งของพ่อแม่ จนได้สถานการณ์ที่หลายคนอาจเคยเจอในชีวิตจริง โดยการสะท้อนให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กผ่านการเล่นธรรมดาๆ ที่พ่อแม่มักมองข้าม เช่น
โฆษณาเรื่อง “ระบายสีแม่” เล่าถึงแม่ที่เผลอชี้นำลูกขณะลูกระบายสี แต่พอแม่หยุดชี้นำ และปล่อยให้ลูกใช้จินตนาการของตัวเอง ลูกกลับสนุกกับการเล่นต่อได้ นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนของการปล่อยให้เด็กสำรวจความคิดและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
ในโฆษณาเรื่อง “กีตาร์ไม้แบด” พ่อที่ขายก๋วยเตี๋ยวเห็นลูกสาวหยิบตะกร้อลวกก๋วยเตี๋ยวไปเล่นเป็นกีตาร์ แทนที่จะดุหรือตำหนิ พ่อกลับหาไม้แบดที่ลูกเล่นได้มาแทน สิ่งนี้แสดงถึงการส่งเสริมการเล่นโดยไม่ห้ามหรือดุ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กค้นพบความชอบของตนเอง ซึ่งอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในอนาคต
และอีกเรื่องที่ชื่อว่า “ลำดวน” พ่อแม่สังเกตว่าลูกทำตัวเหมือนหุ่นยนต์ ไม่มีความสดใส ไม่สนุกสนานเหมือนเด็กทั่วไป เมื่อถามอุปกรณ์อัจฉริยะว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนี้ คำตอบคือ 'พฤติกรรมของเด็กอาจเกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่' และสะท้อนให้เห็นว่า หลายครั้งพ่อแม่เผลอห้ามหรือชี้นำลูกโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เด็กเสียโอกาสในการเล่นอิสระ ส่งผลต่อการขาดความมั่นใจและความเป็นตัวของตัวเอง จนเมื่อพ่อแม่เปิดพื้นที่ให้ลูกได้เล่นอิสระ และปล่อยให้ลูกผจญภัยในจินตนาการของตัวเอง ก็ช่วยให้เด็กกล้าคิด กล้าลอง มีความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมั่นในตัวเองได้อย่างเต็มที่
สุพัฒนุชอธิบายเพิ่มเติมว่า สสส. ยังต้องการสื่อให้เห็นว่า ของเล่นราคาแพงหรือสื่อเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเสมอไปในการทำให้เด็กมีความสุขหรือคิดสร้างสรรค์ได้ สิ่งของธรรมดารอบตัว เช่น กล่องกระดาษหรือก้อนหิน สามารถกลายเป็นอะไรก็ได้ในจินตนาการของเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ธรรมดาแต่มีพลังในสายตาของเด็กได้ โดยเธอยกตัวอย่างการเล่นอย่างอิสระที่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่า การให้เด็กมีโอกาสเล่นโดยปราศจากการชี้นำ ไม่เพียงช่วยลดความเครียด แต่ยังเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และสำรวจโลกด้วยตนเอง
ขณะที่งานวิจัยจากเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกเผยว่า การเล่นอิสระช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากออสเตรเลียที่ติดตามเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 2-3 ปี จนถึง 4-5 ปี พบว่าเด็กที่ได้เล่นอิสระจะมีพัฒนาการด้านการควบคุมตนเองที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับโอกาสเล่นในรูปแบบนี้ ซึ่งทักษะการควบคุมตนเองนี้มีความสำคัญอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจัดการอารมณ์ การแก้ปัญหา และการมีส่วนร่วมในสังคม
สุพัฒนุชกล่าวถึงเป้าหมายของแคมเปญ “เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” ว่า แคมเปญนี้ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างสรรค์ทางการตลาดเพื่อสังคม แต่ยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในครอบครัวผ่านการเล่นอิสระที่เต็มไปด้วยความหมาย เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้เด็กในประเทศไทยพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นและมีฐานทางใจที่ดีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคต
หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ “เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” ติดตามได้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/microsite/healthyfamily/children/freeplay