อธิบายการตลาด Ingredient Branding ทำไมโน้ตบุ๊กเรา ต้องมีสติกเกอร์แปะอยู่ เต็มไปหมด

อธิบายการตลาด Ingredient Branding ทำไมโน้ตบุ๊กเรา ต้องมีสติกเกอร์แปะอยู่ เต็มไปหมด

18 พ.ค. 2024
ใครที่กำลังอ่านโพสต์นี้อยู่บนโน้ตบุ๊กของตัวเอง อยากจะชวนละสายตาจากหน้าจอ แล้วก้มลงไปมองที่โน้ตบุ๊กของตัวเอง ว่ามีสติกเกอร์อะไรติดอยู่บ้าง
เชื่อว่าโน้ตบุ๊กของคนส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่ MacBook ของ Apple น่าจะมีสติกเกอร์ที่ถูกติดมาจากโรงงาน อย่างน้อย 2-3 อัน อย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็น สติกเกอร์ของผู้ผลิตชิปประมวลผล Intel หรือ AMD
สติกเกอร์ของผู้ผลิตการ์ดจอ อย่าง Nvidia
สติกเกอร์ Windows ของ Microsoft
รวมถึงสติกเกอร์ของผู้ผลิตโน้ตบุ๊กเอง
คำถามคือ ทำไมโน้ตบุ๊กที่ได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม ใช้วัสดุคุณภาพดี กลับมีสติกเกอร์เหล่านี้ติดอยู่เต็มไปหมด จนบดบังความสวยงามของตัวเครื่องไปอย่างน่าเสียดาย
ความจริงแล้ว เรื่องนี้มีเหตุผลทางด้านการตลาดซ่อนอยู่..
ก่อนอื่น ต้องอธิบายกันก่อนว่า เบื้องหลังของการติดสติกเกอร์บนโน้ตบุ๊ก คือกลยุทธ์การตลาดรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า Ingredient Branding
ซึ่ง Ingredient Branding ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่แบรนด์ต่าง ๆ ทำกันมานานหลายสิบปี จนถึงปัจจุบัน
โดย Ingredient Branding นี้ หากแปลตรงตัวก็คือ การตลาดส่วนผสม
เป็นกลยุทธ์การตลาด ที่ใช้ “ส่วนผสม” หรือ “วัตถุดิบ” ที่อยู่ภายในตัวสินค้าเป็นตัวชูโรงทางด้านการตลาด แม้ว่าส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่ใช้นั้นจะอยู่ภายใน ไม่มีใครมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็ตาม
แต่ที่สำคัญคือ ส่วนผสมที่อยู่ภายในนั้น จะต้องมีคุณภาพดีมากพอที่จะนำมาเป็นตัวชูโรงทางด้านการตลาดได้
ซึ่งหากอธิบายเพียงแค่นิยาม หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ
เรามาลองดูตัวอย่างกันดีกว่าว่า Ingredient Branding ที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ มีอะไรบ้าง
- แล็กโทบาซิลลัส ที่อยู่ในนมเปรี้ยว
- สารเทฟลอนที่ใช้เคลือบกันติดให้กับกระทะ
- โพรไบโอติก ในโยเกิร์ต
- โอเมกา 3 ในซอสปรุงรส
- เทคโนโลยีภาพและเสียง Dolby ในทีวี
- ระบบภาพและเสียง IMAX ในโรงภาพยนตร์
- ชิปเซต ในโทรศัพท์สมาร์ตโฟน
ซึ่งที่ผ่านมา เรามักเห็นแบรนด์ต่าง ๆ ที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ นำส่วนผสมที่อยู่ภายในมาใช้เป็นจุดขายทางด้านการตลาดให้กับตัวสินค้าแทบทั้งสิ้น
แม้ว่าในความจริงแล้ว ส่วนผสมเหล่านี้จะไม่มีใครมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่กลับเป็นจุดขายสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว
โดยนอกจากการสื่อสารโดยเน้นไปที่ส่วนผสมที่อยู่ภายใน ผ่านโฆษณาต่าง ๆ แล้ว เรายังเห็นแบรนด์ต่าง ๆ ทำโลโก หรือสัญลักษณ์พิเศษ ให้กับส่วนผสมตัวนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ง่ายว่าสินค้าชนิดนี้ มีส่วนผสมนี้อยู่ภายใน
แล้วทีนี้ คำถามต่อมาก็คือ Ingredient Branding เกี่ยวข้องอะไรกับสติกเกอร์ที่ติดอยู่บนโน้ตบุ๊กของเรา ?
เรื่องนี้ต้องอธิบายว่า คอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กทุกเครื่องที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ใช้ชิ้นส่วนจากหลายบริษัท เพราะผู้ผลิตโน้ตบุ๊กไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนทั้งหมดด้วยตัวเองได้
โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญ คือชิปประมวลผล ที่ต้องซื้อจาก Intel หรือ AMD และการ์ดจอ หรือ GPU ที่ต้องซื้อจาก Nvidia หรือ AMD
ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งสองชิ้นส่วนนี้เป็นเหมือนหัวใจสำคัญ ที่ทำให้โน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่งทำงานได้ และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วโลกใช้ในการตัดสินใจซื้อโน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่ง ไม่แพ้การตัดสินใจซื้อจากชื่อชั้นของแบรนด์เองเลย
ทำให้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊ก เลือกนำชิปประมวลผล และการ์ดจอ มาใช้เป็นจุดขายของสินค้า
หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ เป็นการใช้กลยุทธ์ Ingredient Branding ที่หยิบเอาชิ้นส่วนภายใน ที่ไม่มีใครมองเห็น มาใช้เป็นจุดเด่นของตัวสินค้านั่นเอง
ซึ่งการที่แบรนด์ต่าง ๆ นำสติกเกอร์ที่มีสัญลักษณ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในมาติด ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการที่เราเห็นคำว่า “แล็กโทบาซิลลัส” บนขวดนมเปรี้ยว หรือสัญลักษณ์ของ “โอเมกา 3” บนขวดซอสปรุงรสเลย
ในอีกทางหนึ่ง การติดสติกเกอร์ลงบนโน้ตบุ๊ก ยังมองได้ว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดจากฝั่งของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในโน้ตบุ๊ก เช่นเดียวกัน
เพราะสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตจะได้รับ ก็คือ Brand Awareness ที่สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนที่อยู่ภายใน ไม่มีใครมองเห็น ให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น
หรือเรียกได้ง่าย ๆ ว่า เป็นกลยุทธ์การตลาดแบบ Win-Win ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
ซึ่งหากผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ๊กมาแล้วมองว่าสติกเกอร์เหล่านี้ไม่สวย ก็สามารถลอกออกได้ โดยไม่ได้ส่งผลต่อการรับประกันจากผู้ผลิตแต่อย่างใด
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ เราเห็นอะไรจากกลยุทธ์การตลาด Ingredient Branding บ้าง
สิ่งที่เราเห็น คงเป็นเรื่องของความฉลาดในการทำการตลาด ที่เปลี่ยนส่วนผสม หรือวัตถุดิบที่อยู่ภายใน ซึ่งไม่มีใครสังเกตเห็นได้โดยง่าย
ให้กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าจากส่วนนั้น นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.