รู้จัก Burning Man เทศกาลยูโทเปีย ที่เจ้าของบริษัทเทคระดับโลก คลั่งไคล้

รู้จัก Burning Man เทศกาลยูโทเปีย ที่เจ้าของบริษัทเทคระดับโลก คลั่งไคล้

29 ส.ค. 2023
ชื่อ “Burning Man” อาจไม่คุ้นหูเรากันสักเท่าไร 
แต่ต้องเกริ่นไว้ก่อนว่า มันคืองานเทศกาลที่ไม่ธรรมดา เพราะมีเหล่ามหาเศรษฐีของโลก หลายต่อหลายคน โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ต่างเคยเข้าร่วมกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- คุณ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon
- คุณ Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้ง Google 
- คุณ Mark Zuckerberg ผู้ร่วมก่อตั้ง Meta 
- คุณ Elon Musk ผู้ร่วมก่อตั้ง SpaceX และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Tesla
พอเห็นแบบนี้ คนที่ไม่รู้จัก Burning Man มาก่อน อาจเดาว่า มันน่าจะเป็นเทศกาลเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่ล้ำสมัยแน่ ๆ ชาวเทคถึงได้แห่ไปกัน
แต่ความจริงแล้ว Burning Man เป็นเทศกาลสุดอินดี้ ที่เป็นเหมือนเมืองขนาดย่อม กลางทะเลทราย สำหรับจำลองสังคมในอุดมคติ หรือ “ยูโทเปีย” ที่มีแนวคิดเหนือจินตนาการ
โดยผู้เข้าร่วม สามารถมาปลดปล่อยความเป็นตัวเอง อย่างไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ ผ่านเครื่องแต่งกาย ยานพาหนะ การแสดง หรือชิ้นงานศิลปะต่าง ๆ
แล้ว Burning Man มีความเป็นมาอย่างไร ? 
สงสัยกันไหมว่า ทำไมถึงเป็นที่สนใจของตัวพ่อแห่งวงการเทค ?
MarketThink จะเล่าให้ฟัง
แรกเริ่มเดิมที Burning Man เป็นแค่ปาร์ตีบนชายหาด ช่วงฤดูร้อน ที่คุณ Larry Harvey ชวนเพื่อน ๆ มากินดื่ม นั่งชิลกัน เพื่อปลอบใจ ที่เขาเพิ่งเลิกกับแฟน
และมีไฮไลต์สำคัญตอนท้าย คือ การเผาหุ่นไม้ยักษ์ ขนาดสูง 2.4 เมตร เพื่อเป็นการสื่อว่า คุณ Larry ได้เผาตัวเองคนเก่าทิ้งไป พร้อม ๆ กับความรักที่จากไปแล้ว..
แม้ว่าคุณ Larry จะทำใจจากรักครั้งเก่าได้แล้ว แต่ปาร์ตีเผาหุ่นนี้ ก็ยังถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกฤดูร้อน บนหาดเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่ออิเวนต์ “Burning Man” นั่นเอง
จากปี 1986 ที่มีจำนวนคนร่วมงาน หรือที่คุณ Larry เรียกว่า “Burners” เพียง 35 คน 
พอผ่านไปเพียง 5 ปี ปาร์ตีเผาหุ่นบนชายหาดนี้ ก็ขยายใหญ่ขึ้น 10 เท่า มีคนมาร่วมงานเป็น 350 คน
แต่ปีนั้นเอง.. ที่ทางการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เข้ามาควบคุม และห้ามไม่ให้จัดปาร์ตีบนชายหาดสาธารณะตามใจชอบ
คุณ Larry จึงนำหุ่นไม้ขนาด 12 เมตร ไปเผาในอีกอิเวนต์ ที่จัดกลางทะเลทราย Black Rock ในรัฐเนวาดาแทน 
จึงทำให้ปีถัด ๆ มา Burning Man ได้ย้ายมาจัดที่ทะเลทราย Black Rock จนถึงทุกวันนี้
และล่าสุดปี 2022 ตลอดงานรวม 10 วัน กลางทะเลทรายอันแสนเวิ้งว้างกว่า 9,000 ไร่ 
เทศกาล Burning Man มีคนเข้าร่วมงานมากถึง 75,069 คนเลยทีเดียว
แล้ว Burning Man มีมนตร์เสน่ห์อะไร ทำไมคนถึงมารวมตัวกันมากขนาดนี้ ?
ในปี 2004 คุณ Larry ได้เขียนไกด์ไลน์สำหรับการจัดงาน ขึ้นมา 10 ข้อ จนต่อมามันกลายมาเป็น สิ่งที่ทั้งทีมจัดงาน และเหล่า Burners ยึดเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ
โดยหลักการ 10 ประการนี้เอง ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของงาน Burning Man เช่น
การปลดปล่อยความเป็นตัวเอง ทำให้ทุกคนได้แสดงออกความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ โดยปราศจากการตัดสินใด ๆ
ซึ่ง Burners แต่ละคน จะมีการเตรียมการ เพื่อมาปลดปล่อยโดยเฉพาะ ผ่านเครื่องแต่งกาย การแสดง ดนตรี ยานพาหนะ นิทรรศการ ตลอดจนงานศิลปะหลากหลายแขนง
และนั่นทำให้ ผู้เข้าร่วมงาน กลายเป็นองค์ประกอบหลัก ที่สร้างสีสันให้กับงาน
นอกจากนี้ ภายในงาน ยังห้ามมีกิจการค้าขายใด ๆ โดยมีสินค้าเพียง 2 ชนิดเท่านั้น ที่ต้องใช้เงินซื้อ ก็คือ น้ำแข็งและกาแฟ
นอกนั้น ทุกคนต้องให้, แบ่งปัน, แลกเปลี่ยนกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม งานแสดง 
สินค้าและบริการใด ๆ ในงาน ห้ามใช้เงินซื้อโดยเด็ดขาด เพราะที่ Burning Man แห่งนี้ คือ “สังคมแห่งการให้”
และไฮไลต์ของงาน จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากพิธีกรรมเผาหุ่นในคืนสุดท้ายของงาน 
โดยปี 2014 ทำสถิติเผาหุ่น The Man ที่สูงถึง 32 เมตร หรือราวตึก 10 ชั้นเลยทีเดียว..
อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอจะจินตนาการออกว่า บรรยากาศในงาน ต้องเต็มไปด้วย ความสนุกสุดเหวี่ยง ความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกแหวกขนบธรรมเนียม
แต่ขณะเดียวกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง Burners เอง ก็ยังมีความเป็นมิตร และการแบ่งปัน-แลกเปลี่ยนเมตตาจิตต่อกัน อีกด้วย
แล้วทำไมความเป็น Burning Man เหล่านี้ ถึงได้ดึงดูดผู้บริหารบริษัทเทค และชาวซิลิคอนแวลลีย์มากมาย ให้ไปรวมตัวกัน ?
แถมบางบริษัท ถึงขั้นประกาศให้ช่วงจัดงาน Burning Man เป็นวันหยุดประจำปีเลยทีเดียว..
1. เป็นอิเวนต์ที่สร้างแรงบันดาลใจ สำหรับผลิตภัณฑ์เทคใหม่ ๆ
การคิดนอกกรอบ ไร้ขอบเขตและกฎเกณฑ์ ของ Burning Man ช่วยกระตุ้นจินตนาการ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก ของการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยี ที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์
เช่น SolarCity บริษัทพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ และขายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในเครือ Tesla ที่คุณ Elon Musk ก็ได้ไอเดียมาจากการร่วมงาน Burning Man
2. นำผลิตภัณฑ์ใหม่มาทดสอบตลาด ที่งานอิเวนต์
ด้วยรูปแบบงานของ Burning Man นั้น ได้คัดเลือกคุณลักษณะของผู้เข้าร่วมงาน มาแล้วระดับหนึ่ง
โดยคนที่สนใจงาน Burning Man มักจะเป็นคนที่เปิดใจ ยอมรับสิ่งใหม่ และความแปลกแหวกแนวได้
ทำให้ Burning Man กลายเป็นสนามทดสอบตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีที่ใหม่เอี่ยม ที่มาก่อนกาลได้เป็นอย่างดี
โดยแอปพลิเคชันแผนที่ Google Maps และรถ EV ของ Tesla รุ่นแรก ๆ ก็ได้ถูกนำมาทดสอบในงาน Burning Man ด้วย
3. วิธีการทำงานในบริษัทเทค มีความคล้ายกับการเข้าร่วมงาน Burning Man
ในการเข้าร่วมงาน Burning Man ผู้เข้าร่วมมักจะเตรียมตัว หรือประดิษฐ์ชิ้นงานล้ำ ๆ บางอย่าง เพื่อมาพรีเซนต์ความเป็นตัวตนออกมาอย่างสุดโต่ง
โดยการเตรียมตัวก่อนงาน ไปจนถึงช่วงที่ไปร่วมงาน มีลักษณะการ “ทำงานเป็นทีม” และเป็น “Project-based”
ซึ่งมีกระบวนการทำงานไม่ต่างจากงานด้านเทค ในซิลิคอนแวลลีย์
ต่างแค่เพียงว่า การทำงานเทคนั้น เป็นการเอาชนะตลาด ชนะใจลูกค้า และชนะคู่แข่ง 
แต่ขณะที่ในงาน Burning Man พวกเขาสามารถใช้กระบวนการเดียวกัน สร้างผลงานขึ้นมา เพื่อเติมเต็มตัวตนของตัวเอง
ประกอบกับวัฒนธรรมของเทศกาล ที่ทุกคนต่างเปิดรับในความต่าง แม้จะแปลกประหลาดแค่ไหน
ซึ่งทำให้การมางาน Burning Man เป็นดั่งสถานที่ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจ ค้นหาการยอมรับในตัวตนเนื้อแท้ของตนเอง
รวมถึงเติมพลังให้กับจิตวิญญาณของเหล่าชาวเทค ได้เป็นอย่างดี นั่นเอง..  
References:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.