รู้จัก Elevator Pitching การนำเสนอไอเดียธุรกิจ ให้ได้ใจนักลงทุน ภายใน 2 นาที
11 ก.ค. 2023
118 วินาที คือระยะเวลาเฉลี่ย ที่คนทั่วโลก ใช้ไปกับการขึ้น-ลงลิฟต์ในแต่ละครั้ง
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ในแวดวงคนทำธุรกิจ โดยเฉพาะคนทำสตาร์ตอัป
เวลาเพียงไม่ถึง 2 นาทีที่ว่านี้ กลับเป็นช่วงเวลาอันมีค่า
ที่สามารถใช้ไปกับการนำเสนอไอเดีย และแผนการทำธุรกิจ เพื่อโน้มน้าวให้คนอื่น มาลงทุนกับไอเดียของเราได้
ซึ่งเราเรียกสถานการณ์นี้ว่า “Elevator Pitching”
อย่างไรก็ตาม Elevator Pitching ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการนำเสนอไอเดียธุรกิจ ภายในลิฟต์เท่านั้น
เพราะในบางครั้ง คำคำนี้ ก็ถูกนำไปใช้กับการนำเสนอไอเดีย ในสถานที่อื่น ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่มีระยะเวลาจำกัด พอ ๆ กับการขึ้น-ลงลิฟต์ ก็ได้เช่นกัน
คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วเราจะนำเสนอไอเดีย ด้วยวิธี Elevator Pitching ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ได้อย่างไร ? ท่ามกลางเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด
เพื่อเพิ่มโอกาสให้ไอเดียนั้น ได้รับความสนใจ จนนักลงทุนหรือคนฟัง มีความคิดที่อยากจะเอาเงินมาลงทุนกับไอเดียของเราด้วย
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปเจาะลึก ถึงวิธีการนำเสนอไอเดีย Elevator Pitching ให้มีประสิทธิภาพ มากที่สุด
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า แม้ระยะเวลาเฉลี่ย ในการขึ้น-ลงลิฟต์โดยสารในแต่ละครั้ง จะอยู่ที่ 118 วินาที แต่เราคงไม่สามารถใช้เวลาทั้งหมด ไปกับการนำเสนอไอเดียได้
ทำให้การ “ดึงดูด” ความสนใจ ได้ตั้งแต่วินาทีแรก ที่เปิดบทสนทนานั้น มีความสำคัญมากที่สุด..
และจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า ใน 8 วินาทีแรก คือช่วงเวลา ที่จะดึงดูดความสนใจ จากผู้ร่วมสนทนาได้ดีที่สุด
นั่นหมายความว่า ช่วงเวลา 8 วินาทีแรก มีความสำคัญ ในฐานะช่วงเวลาที่ “ชี้เป็นชี้ตาย” ของ Elevator Pitching เลยทีเดียว
ทำให้การกำหนด “องค์ประกอบ” หรือการเรียบเรียงเนื้อหาที่กำลังจะพูด มีความจำเป็นต่อการนำเสนอไอเดีย Elevator Pitching เป็นอย่างมาก เพราะเหมือนเป็น “บทพูด” ที่ช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ร่วมสนทนา ได้ตั้งแต่วินาทีแรก ไปจนจบการนำเสนอไอเดีย
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว Elevator Pitching ที่ดี จะมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วน ด้วยกัน ได้แก่
1. การแนะนำตัวให้ผู้ร่วมสนทนารู้จัก
เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สุด ของ Elevator Pitching โดยอาจเริ่มจากการแนะนำตัว ด้วยชื่อ โครงการ หรือประสบการณ์ที่เคยทำมาในอดีต
โดยเน้นความเป็นธรรมชาติในการพูดให้มากที่สุด เพื่อสร้างความประทับใจที่ดี แล้วค่อย ๆ เชื่อมโยงเข้าสู่องค์ประกอบถัด ๆ ไป
2. นำเสนอปัญหา (Pain Point) ที่เข้าถึงได้ง่าย และใคร ๆ ก็เคยเจอ
ยิ่งเป็นปัญหาที่เข้าถึงได้ง่ายเท่าไร ยิ่งดี เช่น ปัญหาที่คนส่วนมากเคยพบ หรือเป็นปัญหาที่ผู้รับฟังเคยเจอด้วยตัวเอง ก็จะยิ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วม และช่วยเพิ่มโอกาส ในการดึงดูดความสนใจ ได้ดียิ่งขึ้น
เพราะถ้าหากธุรกิจของเรา ทำออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่เข้าถึงได้ง่าย และใคร ๆ ก็เคยเจอ นั่นหมายความว่า สินค้าหรือบริการของเรานั้น ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก
หรือถ้าธุรกิจของเรา ไม่ได้ตอบโจทย์กลุ่มคนจำนวนมาก แต่เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม หรือที่เรียกว่า Unmet Need ได้ ก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาส ในการดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนหรือผู้ร่วมบทสนทนา ได้เช่นกัน
3. นำเสนอวิธี หรือไอเดีย ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยพุ่งเป้าไปที่ วิธี หรือไอเดีย ที่เรามี จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
และทำไมวิธี หรือไอเดียของเรา จึงสำคัญต่อคนอื่น ๆ
4. นำเสนอความแตกต่าง และแสดงความโดดเด่นของตัวเอง
เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่มีวิธีการ หรือไอเดีย ในการแก้ไขปัญหามากมาย
สิ่งที่สำคัญที่สุด จึงกลายเป็นการสร้างความแตกต่างอย่างไร ให้วิธีการ หรือไอเดีย ในการแก้ปัญหาของเรา “โดดเด่น” กว่าคนอื่น ๆ
และอย่าลืมสร้างเหตุผลที่ช่วยสนับสนุน ให้วิธีการ หรือไอเดีย ในการแก้ไขปัญหาของเรา “ถูกเลือก” ในที่สุดด้วย
5. พยายามสร้างการมีส่วนร่วม ในระหว่างบทสนทนา ให้มากที่สุด
องค์ประกอบสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การพยายามสร้างการมีส่วนร่วม กับผู้ที่กำลังรับฟังการนำเสนอไอเดียของเรา ให้ได้มากที่สุด
โดยพยายามทำให้เกิดการตั้งคำถาม และนึกภาพตาม เพื่อดึงดูดความสนใจ
นำไปสู่โอกาสที่จะได้เวลาในการนำเสนอไอเดียเพิ่มเติม ในโอกาสต่อไป
นอกเหนือจากการนำเสนอไอเดียแบบ Elevator Pitching ในครั้งแรก
และหากพูดถึงตัวอย่าง ของการนำเสนอไอเดีย ด้วยวิธี Elevator Pitching ที่ชัดเจนที่สุด
ก็คงจะหนีไม่พ้น การนำเสนอธุรกิจ ในรายการ Shark Tank เพื่อขอรับเงินลงทุน จากบรรดาคณะกรรมการ (Shark) เพื่อใช้ในการขยายกิจการ โดยมีระยะเวลาในการนำเสนอที่ค่อนข้างจำกัด จนอาจเรียกได้ว่า เป็น Elevator Pitching เช่นเดียวกัน ก็ว่าได้
ตัวอย่างเช่น การนำเสนอธุรกิจ Scrub Daddy ฟองน้ำหน้ายิ้ม สำหรับทำความสะอาดภายในครัวเรือน ของ คุณ Aaron Krause ในรายการ Shark Tank
ที่หลังจาก คุณ Krause แนะนำตัวว่า เขาเป็นพ่อบ้าน และเจ้าของธุรกิจ Scrub Daddy แล้ว เขาก็รีบเปิดประเด็น ถึงธุรกิจที่เขาทำในทันที
โดยเริ่มจากการเล่า คุณสมบัติที่ “แตกต่าง” ของฟองน้ำ Scrub Daddy ว่าจะมีผิวสัมผัสที่แข็ง เมื่อแช่ในน้ำเย็น และอ่อนนุ่ม เมื่อแช่ในน้ำร้อน
ทำให้ฟองน้ำ Scrub Daddy สามารถทำความสะอาดพื้นผิวที่หลากหลายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟองน้ำทำความสะอาดทั่วไป ไม่สามารถทำได้
หลังจากที่สาธิตให้เห็นถึงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์แล้ว คุณ Krause ก็ได้ยกตัวอย่าง “ปัญหา” ในการทำความสะอาดคราบสกปรกต่าง ๆ ภายในห้องครัว
ไม่ว่าจะเป็น คราบสกปรกบนพื้นผิวเตาไฟฟ้า หรือคราบสกปรกที่ก้นกระทะ
และเมื่อ Shark ทุกคน ได้รับฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คุณ Krause ก็ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้ฟองน้ำ Scrub Daddy ขัดลงไปบนพื้นผิวต่าง ๆ จนสะอาดหมดจด โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดใด ๆ เพิ่มเติม
หลังจากนั้น คุณ Krause ยังได้สาธิตให้เห็นกันแบบชัด ๆ ด้วยว่า ฟองน้ำ Scrub Daddy สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เพียงแช่ลงในน้ำเปล่า คราบสกปรกที่ติดอยู่บนตัวฟองน้ำ ก็จะหลุดออกในทันที
แถมในตอนท้ายของการนำเสนอธุรกิจ คุณ Krause ยังได้ใช้คำพูด ที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมกับบรรดา Shark ในรายการด้วยว่า เขาต้องการความช่วยเหลือ จากคณะกรรมการทุกคน ในการนำฟองน้ำ Scrub Daddy นี้ ขยายตลาดออกไปทั่วสหรัฐอเมริกา
จากการนำเสนอธุรกิจข้างต้นของ คุณ Krause นี้ จะเห็นได้ว่า มีองค์ประกอบของการทำ Elevator Pitching อยู่ครบถ้วน ทั้งการแนะนำตัว การนำเสนอปัญหา วิธีการแก้ไขปัญหา ความแตกต่าง และการสร้างการมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการ
จนในที่สุด ธุรกิจฟองน้ำ Scrub Daddy ก็ได้รับความสนใจ และได้รับเงินลงทุน มูลค่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.97 ล้านบาท) แลกกับหุ้นส่วน 20% ให้กับ Shark Lori Greiner
และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ สิ่งที่คุณ Krause นำเสนอกับคณะกรรมการ ของรายการ Shark Tank นี้ ใช้เวลาไปทั้งหมดเพียง 1 นาที 55 วินาที ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเวลาเฉลี่ย ของการขึ้น-ลงลิฟต์โดยสารในแต่ละครั้ง..
--------------------------
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ มากมาย
ให้คุณได้เพลิดเพลินทั้ง ช้อป กิน เที่ยว
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ >> http://www.specialoffers.jcb/th/promotion/japan_contents_of_ASEAN/
ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่
Facebook : JCB Thailand
------------------------------
อ้างอิง: