จริงไหมที่ว่า “แพ็กเกจจิง” และ “แบรนด์” ของสินค้า มีผลต่อรสชาติ ?
7 ก.ค. 2023
หลายคนอาจจะเคยได้ยินชุดความเชื่อที่ว่า “ข้าวมันไก่ใส่ห่อ” จะอร่อยกว่า “ข้าวมันไก่ที่ใส่กล่อง” ?
หรือจะเป็นชุดความเชื่อที่ว่า น้ำดื่มสิงห์ และน้ำดื่มแบรนด์ต่าง ๆ
จะมีรสชาติที่แตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นน้ำเปล่าเหมือนกัน
ถึงอย่างนั้นแล้ว มันจะจริงหรือเปล่าที่ว่า อาหารเมนูเดียวกัน
แต่แค่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ กับเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็นคนละแบรนด์
จะทำให้รสชาติ ไม่เหมือนกันได้จริง ๆ ?
ในบทความนี้ MarketThink จะขอหยิบยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ว่าบางครั้งอาหารชนิดเดียวกัน
แค่นำมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ และเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็นคนละแบรนด์
ก็สามารถทำให้เรารู้สึกว่าอาหาร มีรสชาติไม่เหมือนเดิมได้จริง ๆ..
โดยเรื่องนี้ เคยเกิดขึ้นกับ Coca-Cola แบรนด์น้ำอัดลมสีดำ อันดับ 1 ของโลก มาแล้ว
ที่ครั้งหนึ่ง เคยทำแคมเปญการกุศลเพื่อปกป้องหมีขั้วโลก
ด้วยการออกผลิตภัณฑ์รุ่นพิเศษ ที่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จาก “สีแดง” เป็น “สีขาว”
และสกรีนลายหมีขั้วโลก (Polar Bear) เอาไว้บนบรรจุภัณฑ์
โดยในตอนนั้น ทางโค้กก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนสูตรน้ำอัดลมแต่อย่างใด
แต่กลับมีเสียงบ่นจากลูกค้าหลายคน ว่ารสชาติของเครื่องดื่ม เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
จนสุดท้าย โค้กก็ทนเสียงบ่นไม่ไหว จึงต้องเปลี่ยนกลับมาใช้กระป๋องสีแดง แต่ยังสกรีนลายหมีขั้วโลกเหมือนเดิมแทน..
ซึ่งเรื่องนี้ดันไปเข้าตา ชาร์ล สเปนซ์ นักจิตวิทยาเชิงทดลองของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
โดยเขาเชื่อว่า นี่เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาตัวอย่าง ที่พิสูจน์ได้ว่า บรรจุภัณฑ์นั้นมีผลกับการรับรู้รสชาติของมนุษย์ได้จริง ๆ
เขาเชื่อในสมมติฐานนี้ จึงได้นำกรณีศึกษา การเปลี่ยนสีบรรจุภัณฑ์ของโค้ก มาทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง ว่ารสชาติของอาหารจะเปลี่ยนไป ตามบรรจุภัณฑ์ได้จริงหรือเปล่า ?
ด้วยการใส่พ็อปคอร์นรสเค็มไปในถ้วยสีต่าง ๆ แล้วให้กลุ่มตัวอย่างลองชิม โดยไม่ได้บอกว่าทั้งหมดเป็นพ็อปคอร์นรสชาติเดียวกัน
ผลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมการทดสอบ บอกว่าพ็อปคอร์นในถ้วยสีแดง มีรสชาติหวานกว่าพ็อปคอร์นในถ้วยสีอื่น ๆ
ดังนั้น เรื่องนี้น่าจะพออธิบายได้ว่า บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถส่งผลให้อาหารที่อยู่ข้างใน “อร่อยขึ้น” ได้จริง ๆ แม้จะเป็นอาหารชนิดเดียวกันก็ตาม..
หากนำสมมติฐานนี้ มาใช้กับมุมของแบรนด์ล่ะ
ทีนี้แล้ว แบรนด์ของสินค้า จะสามารถส่งผลกับรสชาติของสินค้าได้เหมือนกับบรรจุภัณฑ์หรือเปล่า ?
ขอยกตัวอย่าง แบรนด์ Coca-Cola เหมือนเดิม
เพราะครั้งหนึ่งในปี 1975 คุณมัลคอล์ม แกลดเวลล์
นักเขียนชื่อดัง ก็เคยสงสัยเรื่องนี้เหมือนกัน
จึงนำมาสู่การทดลอง “Central Location Test” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า CLT
เป็นการวิจัยการตลาดชนิดหนึ่ง ที่ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างแม่นยำ และหลายแบรนด์นิยมใช้
เพื่อหาว่า ถ้าตัดเรื่องแบรนด์ออกไป คนจะชอบ “โค้กหรือเป๊ปซี่” มากกว่ากัน ?
โดยการทดสอบดังกล่าว จะให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบ ลองชิมน้ำอัดลมของทั้งสองแบรนด์ โดยไม่บอกว่าแก้วไหนคือโค้ก และแก้วไหนคือเป๊ปซี่
ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 75% ของผู้เข้าร่วมการทดสอบ ต่างบอกว่า “เป๊ปซี่ อร่อยกว่า โค้ก”
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะอย่างที่หลาย ๆ คนทราบว่า โค้กนั้นเป็นน้ำอัดลม อันดับ 1 ของโลก
เห็นได้จากที่ผ่าน ๆ มา โค้กเป็นแบรนด์ที่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดน้ำอัดลมได้ราว ๆ 44% ในขณะที่เป๊ปซี่ อยู่ที่ประมาณ 24% มาโดยตลอด
ดังนั้น มันจึงไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร ถ้าจะบอกว่ามีคนกว่า 75% ชอบเป๊ปซี่มากกว่าโค้ก..
อย่างไรก็ดี ในภายหลังก็มีคนหยิบการทดสอบนี้ ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง
แต่ว่าครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดสอบจะได้รู้ว่าตัวเองกำลังดื่มอะไรอยู่
และจะมีการใช้เครื่อง MRI สแกนสมองของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ตอบคำถามด้วย
ผลลัพธ์คือ เมื่อกลุ่มตัวอย่างได้รู้ว่ากำลังดื่มอะไรอยู่
ส่วนใหญ่กลับบอกว่า “โค้ก อร่อยกว่า เป๊ปซี่”
ด้วยคะแนน 3 ต่อ 1 เสียอย่างนั้น..
ซึ่งสาเหตุของเรื่องนี้ก็คือ อาการผิดปกติของสมอง ส่วนที่เรียกว่า “มีเดียล พรีฟรอนทัล คอร์เทกซ์ (Medial Prefrontal Cortex)”
หรือก็คือ การที่คนเรา เมื่อเห็นฉลาก เช่น สี หรือโลโกแบรนด์
แล้วสมอง สามารถสื่อความหมายทางอารมณ์ได้
คนเราจะมีแนวโน้มตัดสินใจ เลือกสิ่งที่สื่อถึงอารมณ์ได้ชัดกว่า
หรือในที่นี้ก็คือ แบรนด์
จนอาจมองข้ามคุณภาพไปเลยก็ได้ นั่นเอง..
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะตอบคำถามโลกแตกได้แล้วว่า
ทำไม “ข้าวมันไก่ใส่ห่อ” ถึงอร่อยกว่า “ข้าวมันไก่ที่ใส่กล่อง”
แล้วทำไมน้ำดื่มสิงห์ ถึงมีรสชาติแตกต่างจากน้ำดื่มแบรนด์อื่น ๆ
เพราะสิ่งที่ให้คำตอบกับเราได้ “อาจไม่ใช่ลิ้น”
แต่เป็น “สมองของเรา” ที่สั่งให้เราคิดว่าอะไร อร่อย หรือ ไม่อร่อย นั่นเอง..
--------------------------
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ มากมาย
ให้คุณได้เพลิดเพลินทั้ง ช้อป กิน เที่ยว
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ >> http://www.specialoffers.jcb/th/promotion/japan_contents_of_ASEAN/
ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่
Facebook : JCB Thailand
------------------------------
อ้างอิง: