Air New Zealand ประกาศ ชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร ก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อความปลอดภัยของการบิน
1 มิ.ย. 2023
โดยปกติแล้ว การเดินทางด้วยเครื่องบิน ไม่ว่าจะภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศ เราจะเคยชินกับการชั่งน้ำหนักสัมภาระต่าง ๆ ที่ต้องการโหลด เข้าใต้ท้องเครื่องบิน กันเป็นเรื่องปกติ
แต่ล่าสุด สายการบิน Air New Zealand ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติ ของประเทศนิวซีแลนด์ ประกาศว่า จะขอทำการสำรวจน้ำหนักของผู้โดยสารครั้งใหญ่
โดยจะ “ชั่งน้ำหนัก” ผู้โดยสาร ที่เดินทางบนเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากสนามบินนานาชาติโอกแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม จนถึง 2 กรกฎาคม รวมทั้งสิ้นราว ๆ 10,000 คน
Air New Zealand ระบุว่า การชั่งน้ำหนักของผู้โดยสาร จะช่วยให้นักบินสามารถรู้น้ำหนักบรรทุก และสมดุลในแต่ละเที่ยวบินได้
รวมถึงข้อมูลน้ำหนักของผู้โดยสาร ที่ได้จากการทำสำรวจในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการทำการบิน ตามข้อกำหนดของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางการบิน อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Air New Zealand ระบุว่า ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องกังวลกับการชั่งน้ำหนัก และไม่ต้องกลัวว่าผู้โดยสารคนอื่น ๆ จะเห็นน้ำหนักของตัวเอง
เพราะเครื่องชั่งน้ำหนักที่ Air New Zealand ใช้ จะไม่มีหน้าจอ ที่แสดงน้ำหนักให้เห็น รวมถึงข้อมูลน้ำหนักจะถูกเก็บไว้ โดยไม่มีการระบุตัวตนที่เชื่อมโยงถึงผู้โดยสารแต่ละคน
นั่นหมายความว่า แม้แต่ Air New Zealand เอง ก็ไม่รู้ ว่าผู้โดยสารแต่ละคนมีน้ำหนักเท่าใด
แม้การที่ Air New Zealand จะขอชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร มากถึง 10,000 คน เพื่อเก็บเป็นข้อมูล จะฟังดูเป็นเรื่องแปลก แต่ในความจริงแล้ว ในอดีต ก็เคยมีสายการบิน ขอชั่งน้ำหนักผู้โดยสารมาแล้วเช่นเดียวกัน
อย่างสายการบิน Finnair ก็เคยขอชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร ในปี 2017 มาแล้ว
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สายการบิน ต้องมีการทำสำรวจน้ำหนักของผู้โดยสาร ก็เป็นเพราะ “น้ำหนัก” ที่บรรทุกอยู่บนเครื่องบิน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และส่งผลต่อความปลอดภัย
และข้อมูลน้ำหนักของผู้โดยสารนี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
รวมถึงน้ำหนักของสิ่งของอื่น ๆ ที่มีการชั่งน้ำหนัก ก่อนที่จะนำขึ้นมาบนเครื่องบิน เช่น น้ำหนักของสินค้า Cargo สัมภาระทั้งของผู้โดยสาร และลูกเรือ หรือแม้แต่อาหารที่นำมาให้บริการบนเที่ยวบิน
อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ สายการบิน ไม่ได้ทำการสำรวจน้ำหนักของผู้โดยสารด้วยตัวเอง แต่เลือกที่จะใช้ข้อมูล ซึ่งเป็น “ค่าเฉลี่ย” จากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งในบางครั้ง ข้อมูลเหล่านี้ ก็เป็นข้อมูลเก่า ที่เก็บมานานหลายปี
ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เช่นเดียวกัน
สำนักข่าวต่างประเทศ ยกตัวอย่างว่า หลาย ๆ สายการบิน ใช้ข้อมูลจาก องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งน้ำหนักของผู้โดยสารที่ใช้ ถูกเก็บมาตั้งแต่ปี 2009 หรือนานกว่า 14 ปี มาแล้ว