ทำไมแบรนด์ในยุคนี้ ต้องจับมือ “X” กับแบรนด์อื่น
25 เม.ย. 2023
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นแบรนด์ต่าง ๆ หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า Collaboration Marketing กันบ่อยขึ้น
กลยุทธ์นี้อธิบายง่าย ๆ คือ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 2 แบรนด์ ในการทำการตลาดร่วมกัน
แม้ว่าแบรนด์เหล่านั้น อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ขายสินค้าคนละชนิดกัน มีลูกค้าคนละกลุ่มเป้าหมายกัน หรือแม้แต่เป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ต่างกันอย่าง “สุดขั้ว”
เรื่องนี้ทำให้คนทำธุรกิจหรือสร้างแบรนด์ ต้องตระหนักแล้วว่า
การตลาดแบบ “ต่างคนต่างอยู่” อาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ยุคนี้อีกต่อไปแล้ว
ซึ่งหากจะยกตัวอย่างแบรนด์ที่เก่งเรื่องการ Collaboration ร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ ก็คงต้องพูดถึง Nike แบรนด์แฟชั่นกีฬาระดับโลก ที่ถูกยกให้เป็นกรณีศึกษา เรื่องการ Collaboration อยู่บ่อยครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการ Collaboration กับ Hello Kitty ในการออกแบบสินค้าแฟชั่นกีฬาต่าง ๆ ร่วมกัน
หรือการ Collaboration กับ Supreme แบรนด์แฟชั่นสตรีต หรือแม้แต่กับศิลปินที่มีชื่อเสียง อย่าง Billie Eilish
ส่วนในกรณีของแบรนด์ไทย ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อย่าง Bar B Q Plaza ก็เคย Collaboration ร่วมกับแบรนด์ที่มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว อย่าง “ห่านคู่” ในการจับมือกันเป็น Licensing Partnership กลายเป็นเสื้อยืดห่านคู่ ลาย Bar B Q Plaza
รวมถึงจับมือกับแบรนด์ร้านแฟชั่น CARNIVAL เปิดตัวเสื้อผ้าคอลเล็กชันพิเศษ
หรืออย่างกรณีล่าสุดของ “โรซ่า” ที่ทำการจับมือกับ ภาพยนตร์เรื่อง Hunger คนหิว เกมกระหาย ออกสินค้าเป็นซอสปรุงรส สำหรับทำ “ผัดงอแง” ตามรอยเมนูดัง “ก๋วยเตี๋ยวผัดงอแง” ในภาพยนตร์
ซึ่งจากตัวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ ทำให้เห็นว่า กลยุทธ์ Collaboration Marketing นี้ สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
- แบรนด์ x แบรนด์
- แบรนด์ x ศิลปิน
- แบรนด์ x อินฟลูเอนเซอร์
แต่คำถามสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประโยชน์ที่แบรนด์ต่าง ๆ จะได้รับ จากการใช้กลยุทธ์ Collaboration Marketing คืออะไร
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า ประโยชน์ที่แบรนด์จะได้รับจากการใช้กลยุทธ์ Collaboration Marketing นั้น มีอยู่ด้วยกันหลากหลายด้าน แต่ที่เด่นชัดที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น
- เข้าถึงฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น และมากขึ้น
เพราะแน่นอนว่าแต่ละแบรนด์ ย่อมมี “กลุ่มเป้าหมาย” และฐานลูกค้า ที่แตกต่างกัน
ดังนั้นการ Collaboration ย่อมเป็นการช่วยให้ทั้ง 2 แบรนด์ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของกันและกันได้
ตัวอย่างเช่น แบรนด์ LEGO ของเล่นเด็กที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ที่ในวันนี้ LEGO พยายามขยายฐานลูกค้าของตัวเอง ให้ไปได้ไกลกว่าการเป็นของเล่น ที่มีฐานลูกค้าเป็นเด็ก เพียงอย่างเดียว
เพราะ LEGO ได้ทำการ Collaboration กับแบรนด์ในธุรกิจอื่น ๆ มากมาย โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น Harry Potter, Batman และ The Simpsons รวมถึงแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อย่าง IKEA
เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ LEGO ไปสู่กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เด็ก แต่เป็นได้ทั้งคนในทุกช่วงวัย ที่เป็นแฟน ๆ ของภาพยนตร์ หรือการ์ตูนชื่อดัง ที่ต้องการสะสมไอเทม ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ
- เสริมจุดแข็ง และแก้ไขจุดอ่อนให้กันและกัน
อีกประโยชน์ที่สำคัญ ก็คือ การเสริมจุดแข็ง และแก้ไขจุดอ่อนให้กันและกัน เพราะอย่าลืมว่าแต่ละแบรนด์ ต่างมี “ความถนัด” ที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างที่ได้รับการยกให้เป็นกรณีศึกษา ก็คือแบรนด์ Louis Vuitton ที่มักถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ยาก
ทำให้ Louis Vuitton ตัดสินใจ Collaboration กับ Supreme ซึ่งเป็นแบรนด์ “สตรีต” แฟชั่น ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ได้ดีกว่ามาก
ซึ่งการ Collaboration ในครั้งนี้ ทำให้ Louis Vuitton กลายเป็นแบรนด์ที่ “ทันสมัย” และเข้าถึงง่ายในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาในทันที โดยอาศัยการดึงจุดแข็งของ Supreme มาใช้งานนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน Supreme ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย นั่นก็คือ ได้รับภาพลักษณ์ของแบรนด์ ที่ดู “หรูหรา” ขึ้น จาก Louis Vuitton นั่นเอง
- สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งอย่าง ที่ทำให้กลยุทธ์ Collaboration Marketing มีความสำคัญ นั่นคือ การสร้างประสบการณ์ และความแปลกใหม่ ให้กับลูกค้า
ผ่านการ Collaboration ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ “กระแส” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน ทำให้เกิดเป็นแคมเปญ สินค้า หรือแม้แต่คอนเทนต์ใหม่ ๆ ของทั้ง 2 แบรนด์
กลายเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใด ให้กับลูกค้าของทั้ง 2 แบรนด์ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ มีมุมมองต่อแบรนด์ ว่าเป็นแบรนด์ที่มีความทันต่อเหตุการณ์ ด้วยเช่นกัน
ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ของการใช้กลยุทธ์ Collaboration Marketing ทั้ง 3 ข้อนี้แล้ว ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่แบรนด์จะได้รับอีกเช่นเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็น การประหยัดต้นทุนทางด้านการตลาด โอกาสในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการขาย ซึ่งทำให้แบรนด์ มียอดขายที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงยังเป็นการ “สร้างกระแส” ให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จัก หรือถูกพูดถึงในวงกว้างมากยิ่งขึ้น อีกด้วย
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไม Collaboration Marketing จึงกลายเป็นกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่ นิยมทำกันในช่วงเวลานี้
หากใครมีเวลา ลองสังเกตไปยังสินค้ารอบตัว อาจจะเจอได้ว่า แบรนด์ต่าง ๆ มีการใช้กลยุทธ์ Collaboration Marketing มากกว่าที่เราคิดก็ได้..
อ้างอิง: