MBK วางแผน จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ Spin-Off บริษัทย่อยตามกลุ่มธุรกิจ ดัน MBK เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี
24 ม.ค. 2023
คุณวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกลยุทธ์สำคัญ ว่าในขณะนี้ เอ็ม บี เค อยู่ระหว่างการวางแผนปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ โดยจะจัดตั้งบริษัทย่อยตามกลุ่มธุรกิจ และให้บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และความคล่องตัว รองรับการขยายธุรกิจในอนาคต..
โดยในปัจจุบัน เอ็ม บี เค มีธุรกิจทั้งหมด 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.) ธุรกิจศูนย์การค้า 2.) ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว 3.) ธุรกิจกอล์ฟ 4.) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5.) ธุรกิจอาหาร 6.) ธุรกิจการเงิน 7.) ธุรกิจการประมูล และ 8.) ศูนย์สนับสนุนองค์กร
ในปี 2566 นี้ คุณวิจักษณ์ ให้ข้อมูลว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทย และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มีสัญญาณบวกจากลูกค้าชาวต่างชาติ ที่กลับเข้ามาใช้บริการในธุรกิจของเครือ เอ็ม บี เค เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ คุณวิจักษณ์ ยังได้กล่าวถึงภาพรวมการทำธุรกิจ ของ เอ็ม บี เค ด้วยว่า ในปีนี้ เอ็ม บี เค มีโครงการใหญ่ ที่ชื่อว่า Riverdale District เป็นโครงการ Mixed Use บนพื้นที่ 1,500 ไร่ ในจังหวัดปทุมธานี เป็นโครงการที่เชื่อมโยงธุรกิจในเครือเอ็ม บี เค ไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร
ซึ่ง Riverdale District นี้ จะประกอบไปด้วย ที่พักอาศัยระดับ Luxury สนามกอล์ฟ โรงแรม และศูนย์การค้า
รวมถึงยังมี “Riverdale Marina” ท่าเทียบเรือเกรด A และศูนย์กลางผู้ให้บริการกิจกรรมทางน้ำแบบครบวงจรแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ ให้กับ เอ็ม บี เค ในสัดส่วนราว 30% ของรายได้ทั้งหมด
นับเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ที่ในวันนี้ คุณวิจักษณ์ ยืนยันว่ามีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการ ราว 80,000 คน ต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนผู้ใช้บริการที่กลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดระบาด ในปี 2019 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือ สัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ลดลงเล็กน้อย..
ในขณะลูกค้าชาวไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 15% จากการปรับปรุงพื้นที่ และเพิ่มร้านค้าใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์กับลูกค้าชาวไทยมากยิ่งขึ้น เช่น สุกี้ตี๋น้อย และซูเปอร์มาร์เก็ตดอง ดอง ดองกิ
รวมถึงการเพิ่มสถาบันกวดวิชา และโซน Night Vibe ซึ่งดึงดูดพนักงานออฟฟิศ ให้เข้ามายังศูนย์การค้า เอ็ม บี เค ในช่วงเวลากลางคืน และหลังเลิกงาน
ส่วนศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ในขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 13 ปี หลังการต่อสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัท เอส.เอส.เรียล (สวนหลวง) จำกัด เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
โดยจะเน้นไปที่การเติมเต็มร้านค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ และความงามอย่างครบวงจร เช่น ร้านอาหารประเภท Vegan ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ศูนย์รวมจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ และคลินิกเฉพาะทาง เป็นต้น
เพื่อจับกลุ่มลูกค้าของศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ที่เป็นผู้สูงอายุ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ ที่ให้ความสนใจกับการรักษาสุขภาพ
สำหรับธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยว ในปีนี้ เอ็ม บี เค มีแผนปรับปรุง โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ในระยะที่ 3 ต่อเนื่อง จากที่เคยดำเนินการไป 2 ระยะ ในช่วงที่โควิดระบาดอย่างรุนแรง จนไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้
โดยจะปรับปรุงโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ในแนวคิด Comfort Luxury เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แขกผู้เข้าพัก
ในด้านจำนวนผู้เข้าพัก พบว่าในขณะนี้ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส มีอัตราการเข้าพักที่ราว 90% แล้ว โดยมีลูกค้ากลุ่มหลัก คือลูกค้าชาวอินเดีย รวมถึงตะวันออกกลาง
และคาดว่าในช่วงกลางปีนี้ ธุรกิจโรงแรม น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งในด้านอัตราการเข้าพัก และระดับราคา
นอกจากนี้ เอ็ม บี เค ยังมีโรงแรมทินิดี โฮเต็ล บางกอก กอล์ฟ คลับ และโรงแรมทินิดี กอล์ฟ รีสอร์ท ภูเก็ต ที่เอ็ม บี เค ให้ข้อมูลว่า อยู่ในระหว่างการศึกษาตลาดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติที่เกษียณอายุการทำงาน
ด้านธุรกิจสนามกอล์ฟ ก็มีการฟื้นตัวที่ดี โดยเฉพาะสนามริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ ปทุมธานี และสนามบางกอก กอล์ฟ คลับ ซึ่งมีฐานลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นลูกค้าชาวไทย
ในขณะที่สนามกอล์ฟ เรด เมาท์เทิน กอล์ฟ คอร์ส ในจังหวัดภูเก็ต ที่มีฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัว เป็นที่เรียบร้อย
ธุรกิจอาหาร ซึ่งรวมถึงธุรกิจ “ข้าวถุงมาบุญครอง” ที่มีอายุมายาวนานกว่า 45 ปี แล้ว จำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวเพื่อสุขภาพ โดยคุณวิจักษณ์ ให้ข้อมูลว่า ข้าวถุงมาบุญครอง วางตำแหน่งไว้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม จึงไม่ได้มีการลดราคา เพื่อแข่งขันกับข้าวถุงรายอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง
โดยธุรกิจ “ข้าวถุงมาบุญครอง” นี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับ เอ็ม บี เค ในสัดส่วนมากถึง 30% ของรายได้ทั้งหมดเลยทีเดียว..
นอกจากนี้ เอ็ม บี เค ยังมีธุรกิจด้านการเงิน และธุรกิจด้านการประมูล อีกด้วย
ในส่วนของธุรกิจการเงิน ของเอ็ม บี เค นั้น มี “ที ลีสซิ่ง” เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ อยู่ในเครือของ เอ็ม บี เค ที่ในปีนี้ ตั้งเป้าขยายตลาดไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มเติมจากที่ได้เข้าไปทำตลาดในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี ในช่วงก่อนหน้านี้
โดยจะให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ และมีกำลังซื้อสูง รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที ลีสซิ่ง ของเอ็ม บี เค เผชิญกับความท้าทายในการทำธุรกิจ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ย ไว้ที่ 23% ทำให้ ที ลีสซิ่ง จำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ให้กับลูกค้า
ส่วนธุรกิจด้านการประมูลนั้น เอ็ม บี เค มีบริษัทในเครือ คือ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้นำด้านธุรกิจประมูลรถยนต์มือสองครบวงจร โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเต็นท์ขายรถยนต์มือสอง โดยในปีนี้ จะมีการขยายผลิตภัณฑ์ในการให้บริการที่มีความหลากหลาย รวมถึงแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจการประมูล
โดยล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่ออสังหาริมทรัยพ์ ในกลุ่มธุรกิจด้านการเงิน ของเอ็ม บี เค เพื่อให้บริการประมูลอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์