KKP คาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปีหน้า ฟื้นตัวช้า โตได้เพียง 2.8% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย
30 พ.ย. 2022
เกียรตินาคินภัทร (KKP) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตได้เพียง 2.8% ปรับลดลงจาก 3.6% ในการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า และถือว่าเติบโตช้ากว่าในปีนี้
แม้ตัวเลขดังกล่าวจะคาดการณ์บนพื้นฐานว่าในปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็น 19.2 ล้านคน จาก 10 ล้านคนในปีนี้
โดยมี 5 ปัจจัย ซึ่งเป็นความเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่
1. ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
KKP ประเมินว่าในปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างไม่รุนแรง ในช่วงไตรมาส 1 - 3 ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลง 1.8% จากการที่เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาต่างชาติสูง โดยเฉพาะจากอุปสงค์ของโลกที่จะปรับตัวลดลง จากสมมติฐานว่าสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นปี ถึงกลางปีหน้า
และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการสะสมสินค้าคงคลังไว้เป็นปริมาณมาก จนทำให้ความต้องการซื้อสินค้าใหม่ในช่วงหลังจากนี้ลดลง
ในขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อาจทำให้อุปสงค์ของการท่องเที่ยวลดลงไปด้วย
2. ราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้น
แม้จะมีการคาดการณ์ว่าในปี 2023 แรงกดดันจากเงินเฟ้อจะลดลงตามราคาน้ำมันที่อาจลดลง ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
แต่ KKP ประเมินว่า คงมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นอีกได้ เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการนำน้ำมันสำรองออกมาใช้
นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีน ที่คาดว่าจะทยอยเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ของน้ำมันเป็นอย่างมาก และสร้างแรงกดดันต่องเงินเฟ้อไทย
และเงินเฟ้ออาจไม่สามารถปรับตัวลดลงได้รวดเร็วอย่างที่คาด ซึ่งจะเป็นประเด็นกดดันค่าครองชีพ และดุลการค้าของไทยได้
3. สถานการณ์เงินเฟ้อไทย ยังมีความไม่แน่นอนสูง
KKP คาดการณ์ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อไทย ในปี 2566 จะทยอยปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือมากกว่า 3%
แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินเฟ้อในปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อ ได้แก่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับค่าไฟฟ้า การชดเชยการอุดหนุนน้ำมันดีเซล
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อโลก ที่ยังอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงเงินบาทที่ยังคงมีโอกาสอ่อนค่า และราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้น
4. ค่าเงินบาทในปีหน้ายังคงมีแนวโน้มผันผวน
KKP ประเมินว่า ในปีหน้า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลได้เล็กน้อย ที่ระดับ 2% ของ GDP หลังจากที่ขาดดุลต่อเนื่อง 3 ไตรมาสในปีนี้ โดยมีสาเหตุจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น การลดลงของราคาน้ำมัน และการลดลงของต้นทุนค่าขนส่งสินค้า
แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในปีหน้ายังคงมีแนวโน้มผันผวน และยังคงมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้ จาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีโอกาสติดลบ ในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า จากปัจจัยด้านฤดูกาล ทั้งการท่องเที่ยว และการค้า ที่สร้างความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของตลาด
- เงินลงทุนอาจไหลออกจากไทย จากการคาดการณ์ผลตอบแทนตลาดหุ้นต่างประเทศจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากปัญหาเงินเฟ้อจบลง
- สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อ (Stagflation) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทย กับต่างประเทศค้างอยู่ในระดับสูง และกดดันค่าเงินบาทต่อเนื่อง
5. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
KKP คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นหากมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ
เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ยังคงอยู่ในแดนติดลบมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ KKP ยังประเมินด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า โดยเป็นการขึ้นต่อเนื่องครั้งละ 0.25% จนถึงระดับ 2.25% ในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายสำคัญ ในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดี และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมาก
- เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเงินเฟ้อค้าง หรือถดถอยรุนแรง
นอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยแล้ว KKP ยังได้ให้มุมมองถึงภาวะเศรษฐกิจโลกด้วยว่า กำลังเจอปัญหาใน 2 ทาง
หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไม่ถึงขั้นถดถอยรุนแรง โลกจะเผชิญกับความเสี่ยงเงินเฟ้อค้างในระดับสูง เป็นระยะเวลานาน หรือหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด ที่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
เช่น เสถียรภาพในตลาดอสังหาฯ ปัญหาในตลาดเกิดใหม่ ปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ในภาคธุรกิจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงได้ทันที ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม KKP ประเมินว่า โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่ยังค้างอยู่ในระดับสูงกว่าปกติมาก
และหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้นจริง เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ ๆ จะถูกนำกลับมาใช้เพื่อสนับสนุนตลาดได้ โดยธนาคารกลางมีแนวโน้มเลือกป้องกันความเสี่ยง ในการเกิดวิกฤติหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อ (Stagflation) มากกว่า