ศูนย์วิจัยกรุงไทย คาดการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในไทย ปี 2566 โตอีกเกือบเท่าตัว ยอดขาย 24,000 คัน

ศูนย์วิจัยกรุงไทย คาดการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในไทย ปี 2566 โตอีกเกือบเท่าตัว ยอดขาย 24,000 คัน

23 พ.ย. 2022
ศูนย์วิจัยกรุงไทย คาดการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle หรือ BEV) ในไทย ปี 2565 - 2566 จะมียอดขายอยู่ที่ 12,500 คัน และ 24,000 คัน ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 1.3% และ 2.4% ของยอดขายรถยนต์ทุกประเภท
แม้รถยนต์ไฟฟ้า จะยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรถยนต์ทุกประเภท แต่ในปีหน้านี้ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คาดการณ์ว่า รถยนต์ไฟฟ้าในไทย จะเติบโตมากถึง 92% โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
-การสนับสนุนจากภาครัฐ
นโยบายภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นสำคัญของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาขายภายในประเทศ ระหว่างปี 2565 - 2566
โดยค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชย ให้ได้เท่ากับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาทั้งคันจากต่างประเทศ ในปี 2565 - 2568
ทำให้ค่ายรถยนต์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีน เข้าร่วมโครงการลงทุน และผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคึกคักมากขึ้น
โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติการส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 26 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 80,208 ล้านบาท (เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า 100% มูลค่า 27,745 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ในด้านของผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลยังได้มีการอนุมัติ ลดค่าภาษีให้กับรถยนต์ไฟฟ้า 80% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนระหว่าง 9 พฤศจิกายน 2565 - 8 พฤศจิกายน 2568 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน
ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐนี้เอง ทำให้ในปี 2565 - 2566 นี้ รถยนต์ไฟฟ้า จะเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยมากขึ้น
-การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปีหน้า เติบโตมากขึ้น เป็นเพราะการเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้า มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน จากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
โดยเฉพาะในด้านระยะทางวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) พบว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เพิ่มขึ้นจาก 243 กิโลเมตร ในปี 2560 เป็น 349 กิโลเมตร ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 44% ในระยะเวลาเพียง 5 ปี
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกรุงไทย พบว่า มีระยะทางวิ่งที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของ IEA เช่นกัน
โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทย ในปี 2561 มีระยะทางวิ่งได้สูงสุดเฉลี่ย 280 กิโลเมตร แต่ในปีนี้ ระยะทางวิ่งสูงสุดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 395 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้นกว่า 41%
และในอนาคต ระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการพัฒนาของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งระยะทางวิ่งที่เพิ่มขึ้นนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางไกลลดลง ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากระยะทางวิ่งแล้ว สถานีชาร์จไฟ ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน ที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโต
ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน พบว่า ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทย มีจำนวน 944 แห่ง กระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศ
ในขณะที่ ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พบว่า ประเทศไทย มีจำนวนหัวจ่ายไฟรวม 2,572 หัว เพิ่มขึ้น 13% โดยแบ่งเป็น
- หัวจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (DC) 46% เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 53%
- หัวจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) 54% ลดลงในสัดส่วน 8%
โดยหัวจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (DC) นี้ เป็นหัวจ่ายในระบบ Fast Charge สามารถชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
ส่วนในอนาคต คาดการณ์ว่า ฟัวจ่ายในระบบ Fast Charge จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 - 4,400 หัวจ่ายในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 หัวจ่าย ในปี 2573
-การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่า
ศูนย์วิจัยกรุงไทย ประเมินว่า การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.85 บาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ทั่วไป มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.47 บาทต่อกิโลเมตร นั่นหมายความว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนการใช้งานที่ถูกกว่า 18%
โดยต้นทุนนี้ ประเมินจากค่าเชื้อเพลิง ทั้งไฟฟ้า และน้ำมัน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย และภาษีประจำปี
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าต่ำกว่าอย่างชัดเจน เป็นเพราะการใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงอยู่ที่ 0.73 - 0.83 บาทต่อกิโลเมตร
ในขณะที่รถยนต์ทั่วไป มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงอยู่ที่ราว 1.29 - 1.63 บาทต่อกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้น จะส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโต แต่ในระยะยาว รถยนต์ไฟฟ้ายังคงมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาในระยะยาว ทั้งในด้านราคาขายต่อมือสอง จะทำอย่างไรให้ราคาขายต่อมือสองของรถยนต์ไฟฟ้านั้น ไม่ตำ่ไปกว่ารถยนต์ทั่วไป
เช่นเดียวกันกับราคาอะไหล่ชิ้นสำคัญ อย่างแบตเตอรี่ ที่หากเสียหลังหมดการรับประกัน อาจทำให้ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ 50 - 60% ของราคารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน
-ตลาดชิ้นส่วนรถยนต์ ยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกรุงไทย ยังได้คาดการณ์ถึงผลกระทบต่อตลาดชิ้นส่วนรถยนต์ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยว่า จะยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น
เพราะแม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโต ทั้งในระดับโลก และในประเทศไทย แต่จากการคาดการณ์ของ Bloomberg New Energy Finance คาดการณ์ว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของรถยนต์ทุกประเภท ต้องใช้เวลานานถึงปี 2585
เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโต แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2565 - 2566 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% และ 2.4% ของยอดขายรถยนต์ทุกประเภทเท่านั้น
และตลาดรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ คาดว่าจะยังคงเป็นรถยนต์ไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งก็จะยังต้องใช้ชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์แบบสันดาปภายในควบคู่กับระบบไฟฟ้า
แต่แน่นอนว่าในอนาคต จะมีชิ้นส่วนบางประเภท โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลัง ซึ่งได้แก่ ระบบระบายความร้อน ระบบเครื่องยนต์ ระบบควบคุมไอเสีย และระบบเชื้อเพลิง ที่จะได้รับผลกระทบ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.