สถาบันวิจัยฯ นอร์เวย์ คาดการณ์ขยะพลาสติก 12 พันล้านตันล้นโลกในปี 2050 SINTEF จัดการประชุมระดับภูมิภาค OPTOCE ครั้งแรกในไทยดึงพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ระดมแนวคิดการบริหารขยะพลาสติกทั้งในไทย จีน อินเดีย เมียนมาร์ และเวียดนาม

สถาบันวิจัยฯ นอร์เวย์ คาดการณ์ขยะพลาสติก 12 พันล้านตันล้นโลกในปี 2050 SINTEF จัดการประชุมระดับภูมิภาค OPTOCE ครั้งแรกในไทยดึงพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ระดมแนวคิดการบริหารขยะพลาสติกทั้งในไทย จีน อินเดีย เมียนมาร์ และเวียดนาม

31 ต.ค. 2022
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ หรือ SINTEF ชี้แต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 13 ล้านตันเล็ดลอดลงสู่มหาสมุทร ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้คน และยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะทวีคูณเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี ค.ศ. 2040 และหากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขยะพลาสติกราว 12 พันล้านตันจะทับถมหรือเล็ดลอดสู่ระบบนิเวศทางธรรมชาติในปี 2050  เผยความร่วมมือในระดับนานาชาติ คือ กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแหล่งสร้างขยะพลาสติกสู่ท้องทะเล
การประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ The Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE) Regional Forum”  ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครฯ ในวันที่ 27-28 ตุลาคม 2565 มีจุดประสงค์เพื่อหาโซลูชันการรับมือกับปัญหาดังกล่าวของ 5 ชาติพันธมิตรในเอเชียทั้งไทย จีน อินเดีย เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมถึงค้นหาโอกาสและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมซีเมนต์ในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยและทั่วภูมิภาค ทั้งนี้การประชุม OPTOCE Forum จัดโดยสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Foundation for Scientific and Industrial Research: SINTEF) โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ผ่านทางสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งนอร์เวย์ (The Norwegian Agency for Development Cooperation: NORAD)
โครงการ OPTOCE ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2019 เพื่อมุ่งนำเสนอแนวทางและโซลูชันใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนสำรวจความเป็นไปได้ในการระดมพันธมิตรทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมขยะพลาสติกตามแหล่งมลภาวะ ลุ่มแม่น้ำสายหลัก และพื้นที่ริมชายหาด รวมถึงการแปลงขยะพลาสติกเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงในท้องถิ่น แนวทางเหล่านี้จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะถูกทิ้งลงแหล่งน้ำ เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการขยะ และสร้างทางเลือกใหม่ที่คุ้มค่าและยั่งยืนในระบบการบริการจัดการขยะแบบบูรณาการในกลุ่มประเทศพันธมิตรทั้ง 5 ของเอเชีย
ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน (Dr Kåre Helge Karstensen) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ OPTOCE SINTEF Community Norway วิทยากรหลักของการประชุม กล่าวว่า “ความร่วมมือจากนานาชาติถือเป็นกุญแจสำคัญของการบริหารจัดการแหล่งขยะพลาสติกในท้องทะเล ประมาณการณ์ว่าทั่วโลกมีปริมาณพลาสติกผลิตใหม่ราว 9.3 พันล้านตันในปี 2019 ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 6.3 พันล้านตันจะกลายเป็นขยะพลาสติก ประเมินว่ามีการนำไปรีไซเคิลเพียง 9% ถูกนำไปเผา 12% และถูกทิ้งไปเฉย ๆ ถึง 79% หากแนวโน้มการผลิตและการบริหารจัดการขยะพลาสติกยังคงดำเนินไปเช่นในปัจจุบัน คาดว่าจะเกิดขยะพลาสติกราว 12 พันล้านตันทับถมหรือเล็ดลอดสู่ระบบนิเวศทางธรรมชาติในปี 2050”  
โครงการ OPTOCE ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับมือมลภาวะขยะและไมโครพลาสติกในทะเลของประเทศนอร์เวย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) ข้อที่ 14.1 ซึ่งระบุว่า โลกของเราควรป้องกันและลดปริมาณขยะในท้องทะเลทุกประเภทอย่างจริงจังภายในปี ค.ศ.2025 โครงการนี้เน้นความสำคัญที่แนวทางการบริหารจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเขตเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในประเทศที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับลุ่มแม่น้ำสายหลักของโลก พื้นที่กองขยะ/ฝังกลบ และศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะประเมินว่าขยะบริเวณชายหาดและในทะเลมากกว่า 80% มาจากแหล่งผลิตบนแผ่นดิน ซึ่งประเทศในเอเชียติดอันดับกลุ่มประเทศที่ปล่อยขยะและไมโครพลาสติกลงสู่ท้องทะเลสูงสุดของโลก
การประชุมครั้งนี้จะร่วมค้นหาแนวทางการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ในประเทศเหล่านี้ เพื่อลดปริมาณการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ท้องทะเล
ประเทศเหล่านี้ผลิตขยะพลาสติกราว 217,000 ตันต่อวัน หรือ 79 ล้านตันต่อปี โดยมีการปล่อยพลาสติกสู่ทะเลในปริมาณสูงสุดแต่มีขยะพลาสติกน้อยมากที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศเหล่านี้มีอัตราการผลิตสูงสุดในอุตสาหกรรมประเภทปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า และพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน ดังนั้นจึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน
การจัดการขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ ด้วยกระบวนการเผาร่วมเพื่อทดแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ก่อให้เกิดโอกาสดีกับทุกฝ่าย (win-win) โดยจะได้ช่วยป้องกันไม่ให้พลาสติกรั่วไหลไปยังทะเลและมหาสมุทร ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถ่านหินลงได้เป็นจำนวนมาก และในทางอ้อม ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหลีกเลี่ยงการสร้างเตาเผาขยะใหม่หรือสร้างบ่อขยะเพิ่มขึ้น โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า การเผาร่วม หรือ Co-processing ในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือ การบริหารขยะอย่างบูรณาการ หรือ Integrated Waste Management โดยวัตถุประสงค์เพิ่มเติมและการทำงานร่วมกันในโครงการ OPTOCE จะประกอบด้วย:
ลดปริมาณขยะในทะเลและมหาสมุทร ที่ก่อกำเนิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก
ส่งเสริมการประสานงานและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนร่วมทางธุรกิจต่าง ๆ
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายและการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ตลอดการประชุมระดับภูมิภาคทั้ง 2 วัน ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังเนื้อหาจากผู้บรรยายกว่า 20 ท่านทั้งจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง องค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไร ธุรกิจสตาร์ตอัป สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐบาล และสมาคมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมาร่วมกันประเมินผลลัพธ์การดำเนินโครงการ OPTOCE ในปัจจุบัน รวมถึงการพิจารณางานวิจัยขยะพลาสติกคุณภาพต่ำ มุมมองของผู้ถือประโยชน์ในเรื่องความร่วมมือ แนวทางความร่วมมือในการลดปริมาณขยะริมชายหาดและในท้องทะเล และวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ NET ZERO ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาถึงโอกาสและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านความร่วมมือของชาติพันธมิตรทั้ง 5 ซึ่งครอบคลุมถึงความร่วมมือและการวิจัยของสถาบันการศึกษา เพื่อกำหนดโซลูชันที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ OPTOCE ที่ www.optoce.no
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.