กรณีศึกษา เมื่อ กฟผ. นำความเชี่ยวชาญ มาต่อยอดธุรกิจ EV จับเทรนด์อนาคต พร้อมดันไทยเป็น Hub ยานยนต์ไฟฟ้า

กรณีศึกษา เมื่อ กฟผ. นำความเชี่ยวชาญ มาต่อยอดธุรกิจ EV จับเทรนด์อนาคต พร้อมดันไทยเป็น Hub ยานยนต์ไฟฟ้า

4 ต.ค. 2022
อะไรจะทำให้ “ประเทศไทย” สามารถกลายเป็น Hub ยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคได้ ?
นี่คือคำถามสำคัญ ที่ต้องตอบให้ได้ เมื่อโลกถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน และมุ่งสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
โดยอุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การจ้างงาน และผู้บริโภคเป็นวงกว้าง
ดังนั้น บริษัทหรือประเทศไหน สามารถปรับตัวตามเทรนด์ได้ทัน ก็จะคว้าโอกาสต่าง ๆ อันมหาศาลมาได้
รวมถึงมีจุดยืนบนเวทีโลก..
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น Hub ยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคได้ ต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น
- การที่รัฐให้เงินอุดหนุน รวมถึงมาตรการลดภาษียานยนต์ไฟฟ้า
- ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าถึงได้ และมีตัวเลือกที่หลากหลาย
- ค่ายรถยนต์ มาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
- ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และแบตเตอรี่
ซึ่งทุกเรื่องล้วนมีความสำคัญ และช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
แต่ตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน คงหนีไม่พ้น “โครงสร้างพื้นฐาน” เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้า ที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ทั่วถึง นั่นเอง
เพราะถ้าขาด “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่ดีรองรับ ก็คงเป็นเรื่องยาก ที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ลองนึกภาพง่าย ๆ ถึงราคารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกพอ ๆ กับรถยนต์สันดาป
แต่ถ้าติดข้อกำจัดที่ว่า ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ก็ไม่มีสถานีชาร์จไฟฟ้าเลย ก็คงยากที่คนไทยจะมีแรงจูงใจในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาขับ..
นี่จึงนับเป็น “ปัญหาคอขวด” ที่ประเทศไทยต้องจัดการให้ได้ก่อน
ซึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT เล็งเห็นความสำคัญที่มีความท้าทายตรงนี้ดี
และมองว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะเข้าไปช่วยปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทย และข้อจำกัดที่ผู้บริโภคชาวไทยกำลังเผชิญ โดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ เข้าไปช่วยแก้ Pain Point
หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่า กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ดำเนินงานเพื่อคนไทยและประเทศ
โดยทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า และรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าจากเอกชน แล้วส่งพลังงานไฟฟ้าไปยัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าไปยังบ้านเรือน และบริษัทต่าง ๆ ต่อไป
ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำมากว่า 53 ปี..
แต่เมื่อไม่นานมานี้ กฟผ. เลือกที่จะดิสรัปต์ตัวเอง และเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นเทรนด์อนาคต ภายใต้ธุรกิจที่ชื่อว่า “EGAT EV Business Solutions”
ซึ่งจะทำให้ กฟผ. ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญ ในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทย..
โดย EGAT EV Business Solutions มีเป้าหมายหลัก ๆ คือ
ยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทาง ช่วยคนไทยสบายใจที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าไว้ขับ
หรือคนที่อยากจะลงทุนเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่พลาดโอกาสใหม่ ๆ
พร้อมกับเป็นฟันเฟือง ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ให้เติบโตและแข็งแกร่ง
รวมถึงสนับสนุนนโยบายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อย CO2 พร้อมมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050
แล้ว กฟผ. มีแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไร ?
ทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้าเทคโนโลยี และใช้บริการแพลตฟอร์มจากต่างชาติกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น โซเชียลมีเดีย, สตรีมมิง, อีคอมเมิร์ซ รวมถึงในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งหัวชาร์จเจอร์ ตู้อัดประจุไฟฟ้า จนถึงแพลตฟอร์มบริหารจัดการสถานีชาร์จไฟฟ้า
ประเทศไทยก็นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด..
กฟผ. จึงตั้งใจที่จะทำให้ประเทศไทย ลดการพึ่งพาต่างชาติ แล้วหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
เพราะการนำเข้า มีราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงไปด้วย จึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
อีกทั้งไทยจะไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ เป็นของตัวเอง..
โดย กฟผ. จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิต และเป็นพันธมิตรกับบริษัททั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) ให้มากที่สุด
เพื่อทำให้หัวชาร์จเจอร์, ตู้อัดประจุไฟฟ้า และการวางระบบบริหารจัดการ มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีในราคาที่ถูกลง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น พร้อมตั้งเป้าให้อนาคต มีสถานีชาร์จไฟฟ้าครอบคลุมทุกพื้นที่
แล้ว EGAT EV Business Solutions มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ?
1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT”
สถานีชาร์จไฟฟ้าแห่งใหม่ของไทย ซึ่งบริหารงานโดย กฟผ.
ปัจจุบันให้บริการทั้งหมด กว่า 68 สถานี และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เป็น 120 สถานีภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นของประเทศไทย
ซึ่ง กฟผ. เปิดรับบริษัทเอกชนและพาร์ตเนอร์ มาร่วมลงทุนทำธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้มีกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล, สถานีบริการน้ำมัน, ร้านอาหาร ฯลฯ เข้าร่วม
เหมาะสำหรับพาร์ตเนอร์ที่ต้องการดึงดูด และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ เช่น ร้านค้าต่าง ๆ
รวมถึงมองหาแหล่งรายได้ใหม่ในระยะยาว ที่มีศักยภาพ เช่น ค่าบริการชาร์จไฟฟ้า, รายได้จากการโฆษณา
เพราะในอนาคต จำนวนคนใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ที่น่าสนใจคือ EleX by EGAT ยังมีโมเดลธุรกิจหลากหลายรูปแบบ สำหรับการลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า ในแต่ละพื้นที่
จึงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจได้อย่างหลากหลาย ให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับงบประมาณของพาร์ตเนอร์แต่ละราย
2. แพลตฟอร์มดิจิทัล “EleXA”
แพลตฟอร์มที่ให้ดาวน์โหลดบน App Store และ Play Store ซึ่งจะทำให้ผู้ขับรถยนต์ไฟฟ้า สะดวกสบายยิ่งขึ้น เสมือนมีผู้ช่วยในทุกการเดินทาง ตั้งแต่ช่วยค้นหาสถานีชาร์จไฟฟ้า, วางแผนการเดินทาง, จองเวลาชาร์จล่วงหน้า, มอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้รถ
รวมถึงมีฟีเชอร์เด่นอื่น ๆ เช่น การบูรณาการข้อมูลการชาร์จจากสถานีชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ, สถิติการใช้งาน, ระบบการจ่ายเงินที่หลากหลาย
เปิดรับการเชื่อมต่อ EleXA กับแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการรายอื่น ๆ รวมถึงสร้างความร่วมมือทางการตลาดกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน
เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจดูแลรถยนต์ ฯลฯ เพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชัน
3. EGAT Wallbox
ตู้ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานสากล ปลอดภัย และมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย
โดย กฟผ. เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายของตู้ชาร์จไฟฟ้าจากบริษัท Wallbox (Wallbox Charger SL.) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตตู้ชาร์จไฟฟ้า จากประเทศสเปน
นอกจากนี้ ยังมีตู้ชาร์จไฟฟ้าความเร็วสูง “EGAT DC Quick Charger” ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยฝ่ายบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าของ กฟผ. เอง
ซึ่ง กฟผ. เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เช่น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์, เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม, ห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหารและกาแฟ เข้ามาลงทุนเป็นพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจตู้ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกัน โดย กฟผ. มีบริการติดตั้งตู้ชาร์จไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมกับบำรุงรักษาและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
4. ระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN
ระบบที่เชื่อมต่อทั้งผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า, สถานีชาร์จไฟฟ้า จนถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ารวมกัน สำหรับภาคธุรกิจ
เพื่อให้ภาพรวมของการทำงานและการจัดการในระบบมีประสิทธิภาพ และมีความเสถียรสูง
โดยมีฟีเชอร์เด่น ๆ เช่น การติดตามสถานะแบบเรียลไทม์, การควบคุมระบบแบบออนไลน์, ระบบการจัดการราคา, ระบบวิเคราะห์สถิติการใช้งานสถานีชาร์จไฟฟ้า, ระบบตรวจสอบความผิดปกติของตู้ชาร์จไฟฟ้า, ระบบการจัดการพลังงาน
ทั้งหมดนี้คือผลิตภัณฑ์ของ EGAT EV Business Solutions ในปัจจุบัน
คำถามสุดท้ายคือ ทำไม กฟผ. ต้องลงมาเล่นในอุตสาหกรรมนี้ ?
ทำไมผู้ประกอบการต่าง ๆ เลือกเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจด้วย ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าพูดถึงองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้ามากสุดของประเทศ คือใคร ?
คำตอบก็คือ “กฟผ.”
ซึ่ง กฟผ. มีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ที่สามารถต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
รวมถึงมีพลังและความแข็งแกร่งมากพอ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยได้..
สรุปแล้ว กฟผ. กำลังพยายามทลายกำแพงด้านโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ
ส่งเสริม EV Ecosystem ให้แข็งแกร่ง ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น Hub ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ได้เต็มศักยภาพ
ซึ่งในอนาคต คนไทยอาจได้เห็นภาพ รถยนต์ไฟฟ้ากำลังแล่นเต็มท้องถนน
โดยถนนเมืองไทย จะไร้ควันพิษ และเสียงดังจากเครื่องยนต์มากวนใจ.. เป็นสังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริงที่เป็นไปได้
แม้ว่า กฟผ. จะไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
แต่ กฟผ. เลือกที่จะสร้างถนนเส้นใหญ่ ที่รถยนต์ไฟฟ้าทุกค่าย ทุกคันของคนไทย สามารถวิ่งผ่าน และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ นั่นเอง
พร้อมกับชวนพันธมิตรทางธุรกิจ มาร่วมสร้างถนนสายนี้ของประเทศ ร่วมกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.