ถอดความสำเร็จ Love Andaman ผู้ปฏิวัติวงการทัวร์ ที่เคยถูกหัวเราะเยาะมาก่อน จนสร้างรายได้หลัก 100 ล้าน

ถอดความสำเร็จ Love Andaman ผู้ปฏิวัติวงการทัวร์ ที่เคยถูกหัวเราะเยาะมาก่อน จนสร้างรายได้หลัก 100 ล้าน

16 ก.ย. 2022
หากจะพูดถึงการท่องเที่ยวทะเลอันดามัน ในประเทศไทย หลายคนคงนึกถึงความสวยงามของหมู่เกาะพีพี, หินเรือใบที่ตัดกับพื้นน้ำสีฟ้าครามของหมู่เกาะสิมิลัน และโลกใต้ทะเลอันอุดมสมบูรณ์ของหมู่เกาะสุรินทร์
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยในแต่ละปี..
ยกตัวอย่างง่าย ๆ แค่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ภูเก็ตจังหวัดเดียว ก็สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากถึง 60,302 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของเมืองไทยเลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อหน้าเค้กมันใหญ่ขนาดนี้ จึงทำให้ทะเลอันดามันเป็นที่จับจ้องของคนทำ “ธุรกิจทัวร์นำเที่ยว”
จนสุดท้ายตลาดนี้ ในมุมธุรกิจ ไม่ได้มีสีฟ้าสวยงามเหมือนภาพในหัวของนักท่องเที่ยว
แต่เป็น “มหาสมุทรสีแดง (Red Ocean)” ที่ทุกคนต้องงัดทุกไม้เด็ดมาแข่งกันเรียกลูกค้าอย่างดุเดือด..
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ๆ ก็มีทัวร์นำเที่ยวอยู่แบรนด์หนึ่ง ที่สามารถสร้างความแตกต่างท่ามกลางอันดามันสีแดงแห่งนี้ได้อย่างโดดเด่น
ซึ่งแบรนด์นั้นก็คือ “Love Andaman” ทัวร์นำเที่ยวที่ใครหลายคนรู้จักกันดีผ่านรูปทะเลสวย ๆ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ต่อแถวเช็กอินกันอย่างไม่ขาดสาย
โดยถ้าลองไปย้อนดูรายได้ของ Love Andaman (บริษัท เลิฟ ไอแลนด์ จำกัด)
ปี 2562 รายได้ 228 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 127 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 121 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าแม้ช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่การท่องเที่ยวแทบจะเป็นอัมพาตเกือบจะ 100% และนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย
แต่แบรนด์ Love Andaman ก็ยังสามารถสร้างรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะตัวเลขแบบนี้ แสดงให้เห็นว่า Love Andaman มีสัดส่วนรายได้มาจาก “คนไทย” ค่อนข้างเยอะ
โดยบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงเส้นทางของการปั้นแบรนด์ Love Andaman ว่าต้องผ่านมรสุมอะไรมาบ้าง กว่าจะกลายเป็น Top of Mind ของผู้บริโภคคนไทยได้แบบทุกวันนี้
ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน..
วันที่ทะเลยังคงอุดมสมบูรณ์ และเทรนด์การรักษ์สิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนทุกวันนี้
สมัยนั้นกิจกรรมยอดนิยมที่ธุรกิจทัวร์แทบทุกเจ้าต้องหยิบมาใช้ดึงดูดลูกค้าก็คือ “การให้อาหารปลา”
เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการเห็นปลาเยอะ ๆ มารุมกินอาหาร
อย่างไรก็ตาม แม้การให้อาหารปลาจะส่งผลดีกับการท่องเที่ยวสักแค่ไหน แต่มันกลับเป็นการทำลายระบบนิเวศแบบตรง ๆ เพราะจะทำให้ปลาเกิดความเคยชิน และไม่ยอมหาอาหารกินเอง ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงกับห่วงโซ่อาหารในที่สุด
จุดนี้เองที่ “คุณต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย” ผู้ก่อตั้ง Love Andaman มองเห็นถึงความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ที่ถูกทำร้ายจากการท่องเที่ยวแบบผิด ๆ มาตลอด
ดังนั้นถ้าหากเขาสามารถผลักดันให้ทุกคนหันมาใส่ใจธรรมชาติให้สามารถอยู่คู่กับคนไทยได้ไปตลอด ก็คงจะดีไม่น้อย
คุณต่อพงษ์ จึงได้นำโมเดล “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ที่ได้รับความนิยมในประเทศออสเตรเลีย มาปรับใช้กับตลาดประเทศไทย โดยมีการไปขอความร่วมมือกับองค์กรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ให้ช่วยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วย
ซึ่งในช่วงแรกมันก็ยากลำบากพอสมควร เพราะมีข้อครหาจากหลายฝ่ายว่า การจัดทัวร์แบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ และไม่น่าจะมีใครซื้อ ซึ่งบางรายถึงกับหัวเราะเยาะด้วยซ้ำไป..
แต่สุดท้ายแล้ว คุณต่อพงษ์ก็ได้นำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองจนได้
และทำให้ Love Andaman กลายเป็นบริษัททัวร์แรก ๆ ที่เริ่มงดการให้อาหารปลาจากโปรแกรม
อย่างไรก็ตาม แม้จะดูสวยหรู แต่การฝืนนำโมเดลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคยมาทำตลาดในเส้นทางเดินเรือยอดฮิตทั้งหลาย ไปสู้กับคู่แข่งตรง ๆ ก็ดูจะเป็นการเดิมพันที่เสี่ยงเกินไปหน่อย
ดังนั้น “เกาะตาชัย” ที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในช่วงนั้น จึงกลายมาเป็นเส้นทางแรก ๆ ของ Love Andaman ในการเริ่มนำโมเดลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มาทดลอง
โดยเกาะตาชัยนั้น เป็นเกาะที่สวยก็จริง แต่ค่อนข้างไกลจากฝั่ง
อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ ยังไม่มีเกาะอื่นเลย จึงทำให้ไม่ค่อยมีผู้เล่นคนไหนกล้าลงทุนกับเส้นทางนี้
ดังนั้น การมาเปิดเส้นทางที่เกาะตาชัย จึงทำให้ Love Andaman ไม่ต้องไปแข่งขันกับคนอื่นเยอะ และสามารถสร้างจุดเด่นท่ามกลางอันดามันสีแดงในช่วงแรกได้ไม่ยาก..
โดยวิธีที่ Love Andaman ใช้สร้างคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็น่าสนใจไม่น้อย
เพราะในทุกโปรแกรมของ Love Andaman จะมีวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับข้อห้ามต่าง ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนเริ่มโปรแกรมเสมอ
รวมไปถึงยังมีการใส่ใจในทุกองค์ประกอบของโปรแกรมทัวร์
ตั้งแต่การเลือกเครื่องยนต์ของเรือ ที่จะต้องไม่ทิ้งคราบน้ำมันลงทะเล มาให้บริการ
ไปจนถึงลดการใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด ระหว่างโปรแกรมทัวร์อีกด้วย
จากทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ Core Value ของ Love Andaman ไม่ใช่แค่ความสนุกและความประทับใจ ที่ได้จากประสบการณ์การท่องเที่ยวเท่านั้น
แต่ยังมีความรู้สึกภาคภูมิใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สามารถส่งต่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย
และอีกอย่าง ถ้าลองวิเคราะห์ดี ๆ จะเห็นได้ว่า Love Andaman เป็นแบรนด์ที่ทำ Customer Journey ได้ดีมาก ๆ แบรนด์หนึ่ง
เริ่มตั้งแต่ช่วงการสร้าง Awareness (สร้างการรับรู้) ที่แบรนด์มีการใช้คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ มาสื่อสารกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย
อย่างการใช้รูปที่สวยงามกว่าคู่แข่ง, CI มีคู่สีที่ชัดเจน และไลฟ์สดบรรยากาศสวย ๆ จากสถานที่จริงอยู่เสมอ
จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายบางคนนั้นรู้จัก Love Andaman ก่อนมีแผนจะไปเที่ยวทะเลเสียอีก..
และหลังจากที่กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงแบรนด์ และเริ่มหาข้อมูลของ Love Andaman เพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในช่วงขั้นตอน Consideration (พิจารณา) ของ Customer Journey
Love Andaman ก็ได้มีการทำ Influencer Marketing ตามช่องทางต่าง ๆ เช่น YouTube, Facebook เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจง่ายขึ้น และอยากลองไปท่องเที่ยวตามรอยบ้าง
เพราะในสมัยนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเชื่อการโปรโมตจากแบรนด์แบบตรง ๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่จะมีแนวโน้มเชื่อสิ่งที่ อินฟลูเอนเซอร์ หรือคนใกล้ชิดบอกมากกว่านั่นเอง..
ส่วนขั้นตอนต่อมาคือ Decision (การตัดสินใจซื้อ)
ในขั้นตอนนี้ Love Andaman จะมีการพ่วงแพ็กเกจพิเศษที่เป็นการแก้ Pain Point ของนักท่องเที่ยวด้วยเสมอ
ไม่ว่าจะเป็น รถรับ-ส่ง ระหว่างที่พัก, เสิร์ฟอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ หรือแม้กระทั่งมีการไปจับมือกับโรงแรมชื่อดังต่าง ๆ ให้ทำแพ็กเกจที่พักพร้อมทัวร์ดำน้ำ เพื่อสร้างความรู้สึกคุ้มค่าให้กับลูกค้า
ขั้นตอนต่อมาคือ บริการหลังการขาย (Loyalty)
จริงอยู่ที่ธุรกิจแบบทัวร์นั้น อาจจะไม่เหมาะกับการทำบริการหลังการขายเท่าไรนัก แต่ Love Andaman ก็ยังสามารถทำได้อย่างชาญฉลาด..
เพราะหลังจากที่ลูกค้าทุกคนเสร็จสิ้นโปรแกรมทัวร์ จะมีการเสิร์ฟอาหารให้แขกทุกคนอีกครั้ง
ตั้งแต่นำขนมเปี๊ยะชื่อดังอย่าง Madam Yu มาเสิร์ฟตั้งแต่อยู่บนเรือ ไปจนถึงตอนกลับเข้าฝั่ง ก็จะมีอาหารบุฟเฟต์เบา ๆ อย่างกระเพาะปลา, ผัดหมี่ และไอศกรีมกะทิ ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
ซึ่งแม้จะดูไม่มากมาย แต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ก็เป็นตัวช่วยชั้นดีที่จะทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ดี ๆ กับแบรนด์มากขึ้น..
และขั้นตอนสุดท้ายของ Customer Journey ก็คือ ทำให้เกิดการบอกต่อ (Advocacy) ที่ทางแบรนด์ได้ใช้ประโยชน์จากพลังของโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์
เพราะคนที่มาท่องเที่ยวอย่างไรก็ต้อง “ถ่ายรูป” อยู่แล้ว ดังนั้น Love Andaman จึงมีการทำให้ทุกองค์
ประกอบของทัวร์สามารถถ่ายรูปออกมาแล้วสวย..
ตั้งแต่เลานจ์อาหารบุฟเฟต์, โซนนั่งรอ ไปจนถึงการจัดไลน์อาหารกลางวันให้สวยงาม
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถูกออกแบบมาอย่างดี แถมแบรนด์ยังมีบริการให้เช่ากล้อง GoPro ไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปสวย ๆ ใต้น้ำได้อีกต่างหาก..
พอเป็นแบบนี้ เหล่าผู้ที่เคยใช้บริการของ Love Andaman จึงมักมีรูปสวย ๆ ไปแชร์บนโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ
ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นการโปรโมตแบรนด์และประสบการณ์ที่ได้จากแบรนด์ แบบฟรี ๆ แถมมีประสิทธิภาพสูง โดยที่แบรนด์ไม่ต้องเสียเงินยิงแอด..
โดยในครึ่งปีแรกของปี 2565 Love Andaman ก็ได้รับรางวัลจาก Zocial Awards ในหัวข้อแบรนด์ที่สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคบนโลกออนไลน์มากที่สุดในสายท่องเที่ยวอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ถ้าจะถามว่า “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ของ Love Andaman เปลี่ยนแปลงวงการทัวร์ในบ้านเราได้มากแค่ไหน ก็คงไม่มีใครตอบได้
แต่ที่แน่ ๆ นักท่องเที่ยวนับแสนคนที่เคยใช้บริการของ Love Andaman จะนำเอาความรู้และความเข้าใจถึงข้อห้ามต่าง ๆ ในการเที่ยวทะเล พกไปใช้กับการเที่ยวทะเลครั้งต่อไปด้วยแน่นอน
จากวลีฮิตที่ไกด์ของ Love Andaman ได้พูดกับลูกค้าก่อนเริ่มโปรแกรมทัวร์เสมอว่า
“การให้อาหารปลา คือสิ่งต้องห้ามของท้องทะเล”
—--------------------------
Sponsored by JCB
JCB แฮปปี้ทุกไลฟ์สไตล์ มากกว่าส่วนลดและสิทธิประโยชน์ แต่เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ในการใช้บัตรเครดิต JCB อย่างคุ้มค่าตลอดทั้งปี
รวบรวมทั้งร้านอาหารชั้นนำ ปั๊มน้ำมัน ซูเปอร์มาเก็ต แพลตฟอร์มการสั่งอาหาร ส่วนลดการจองที่พัก ร้านค้าชั้นนำอีกมากมายทั้งหน้าร้านและแพลตฟอร์มออนไลน์อีกกว่า 100 ร้านค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ติดตามได้ที่ www.facebook.com/JCBCardThailandTH และ LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.