“GC Circular Living Symposium 2022” แชร์มิติใหม่ทางการเงิน ถนนทุกสายมุ่งเศรษฐกิจสีเขียวหนุนโลกยั่งยืน
7 ก.ย. 2022
ปัจจุบันภาคธุรกิจต่างวางเป้าหมายไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็น Megatrends สำคัญที่ทั่วโลกยอมรับเพื่อที่จะร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์เพื่อปกป้องโลกร้อนโดยหวังที่จะคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในการแก้ไขสภาพภูมิอากาศแปรปรวนไม่ให้เลวร้ายไม่มากกว่าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งมาตรการลดโลกร้อนต่างๆที่หลายประเทศทยอยออกมายังแฝงไปด้วยลักษณะกีดกันทางการค้าพ่วงมาด้วย ดังนั้นหากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับส่งออกนี่จึงเป็นหนทางที่ “ไม่ทำ” ไม่ได้
ท่ามกลางความเสี่ยงนี้หากธุรกิจใดพลิกเกมได้ทันนั่นย่อมหมายถึงโอกาสรออยู่ทั้งการลงทุน และตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียว รักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคอย่างก้าวกระโดด และแน่นอนว่าเส้นเลือดใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามของการทำธุรกิจคือ “การเงิน” ที่ได้หันมาปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนมากขึ้นและปฏิเสธการสนับสนุนธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้คือ Ecosystems ธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นในยุคกู้โลกร้อน
แนวโน้มความร่วมมือด้านการเงินที่ยั่งยืนได้ถูกนำมาแชร์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นล่าสุดในเวที “ GC Circular Living Symposium 2022 “ ซึ่งถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้ธีม “Together To Net Zero” หรือ การประชุมระดับนานาชาติ รวมพลังขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากลเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตจับมือร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้นำทางความคิด กูรู สตาร์ทอัพ คนรุ่นใหม่
“สถาบันการเงิน เองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะภาคธุรกิจให้ความสำคัญเรื่องสีเขียว หรือแนวทางความยั่งยืนที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันนั่นเอง ธุรกรรมทางการเงินเป็นหนึ่งในกลไกการดำเนินงานซึ่งตอบโจทย์ มีการออกโปรแกรมให้สอดรับกับผู้ผลิตที่สถาบันการเงินจะเข้าไปสนับสนัน โดยต้องมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม มีการจัดมาตรฐาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล และจะต้องมีโครงสร้างที่เข้าถึงแรงจูงใจส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคการเงิน ซึ่งจะจูงใจเรื่องต้นทุนที่ถูกลง และการยกระดับการเข้าถึงระบบการเงิน โดยภาคธุรกิจเองต้องมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างความสมดุลทางด้านการเงินมากขึ้นด้วย” คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว
ทั้งนี้บทบาทของ ธปท.และสถาบันการเงินได้นำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร Green Finance จะต้อง From the top คือต้องเห็นเรื่องนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญ ซึ่ง ธปท.นับเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อดูแลนโยบายเรื่องนี้โดยตรง และมีข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยได้ร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อให้การขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในเรื่องการประเมินความเสี่ยง กลยุทธ์การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว ในบริบทการดำเนินงานของสถาบันการเงิน รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้น้ำหนัก ในการวิเคราะห์ และสนับสนุนทางการเงินกับภาคธุรกิจที่เดินหน้าในการมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวให้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับข้อตกลงในระดับสากล รวมถึงการหาเครื่องมือที่จะมาประเมินความเสี่ยงระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ และสิ่งที่สำคัญภาคธุรกิจจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานเรื่องนี้ ที่จะทำให้เกิดการป้องกันการอ้างจนเกินจริง
กลับมามององค์กรอย่าง “บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC” เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีความชัดเจนถึงนโยบายดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนระดับแนวหน้าของไทยผ่านการประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดใช้พลังงาน รวมถึงเฟ้นหาพร้อมพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถสร้าง Eco Systems ในระบบการผลิตเพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Company ในอนาคต และได้รับความไว้ใจจากสถาบันการเงินอย่างดี
โดยคุณภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี ของ GC ได้สะท้อนให้เห็นว่า GC อยากเป็น Role model บนเส้นทางที่ Commit ที่จะเป็น Net Zero ในปี 2050 ทำให้ต้องปรับตัวทั้งด้านประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ใช้พลังงานให้น้อยลง เอาสินค้าใช้แล้วมาผลิตซ้ำ ปรับพอร์ตการลงทุนใหม่โดยเขาได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของ GC ในการเข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH หรือ allnex มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ผลิตเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรม Coating Resins ที่มุ่งมั่นพัฒนาสารเคลือบที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม
“การซื้อกิจการนี้ถือเป็นโมเดลที่สำคัญ ของการบริหารทางการเงินแบบยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนและการตอบรับจากสถาบันการเงินต่างปล่อยสินเชื่อ ผ่านการวิเคราะห์แล้วเห็นว่าการทำธุรกรรมครั้งนี้ เป็นการเข้าลงทุนในธุรกิจ Low carbon ที่สำคัญยังได้รับการสนับสนุนเงินจากผู้ถือหุ้นและนักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นกู้ จนประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน และการที่จะเดินหน้าไปให้ถึง Net Zero นั้น GC ก็มีแผนที่จะแสวงหาการลงทุนในเทคโนโลยีกักเก็บ carbon ที่สามารถนำ carbon ไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้อีกด้วย” คุณภัทรลดากล่าว
พร้อมกันนี้ยังได้ ถ่ายทอดความก้าวหน้าในการพัฒนาการทางธุรกิจที่เดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้นว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี แรกๆ มีการทำโครงการไบโอพลาสติกที่แม้จะมีต้นทุนที่สูง แต่ขณะนี้ผลการดำเนินงานกลับมาทำกำไรที่สูงกว่ามูลค่าลงทุนไปแล้ว และกำลังเข้าสู่แผนการลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 ในประเทศไทย ที่จะนำเอาสินค้าเกษตรมาผลิตไบโอพลาสติก เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ GC เองจึงมีโครงการที่เป็นต้นแบบอยู่หลายโครงการที่เป็นธุรกิจสีเขียว ส่วนทางด้านการเงินของ GC นอกเหนือจากที่ได้มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยรีไฟแนนซ์หนี้ในส่วนเข้าซื้อ กิจการ Allnex แล้วเสร็จนั้น GC มีแผนการพิจารณาการจัดหาเงินทุนในรูปแบบ Sustainable financing ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน
ด้านมุมมองจาก ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า “ เทรนด์การของการตัดสินใจเข้าลงทุนในตลาดทุน จะให้น้ำหนักกับบริษัทที่ทำเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เช่นเดียวกับเด็กรุ่นใหม่ก็ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เน้นความโปร่งใส ดังนั้น นักลงทุนต้องมีข้อมูลเรื่องของการทำความยั่งยืน ซึ่งตลท. ได้ร่วมกับคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) บรรษัทจัดการกองทุน ต้องนำข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืน มาเปิดเผยสู่สาธารณะ เพื่อทำให้เห็นว่าเงินที่ลงทุนไปนั้นไปสู่บริษัทที่ดี มีคุณภาพ พร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกมิติหนึ่งในการผลักดันโดยใช้กลไกของตลาดทุนที่เข้มข้น เพื่อกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเข้าสู่ ระบบ ESG โดยชี้ให้เห็นว่านักลงทุนเริ่มเบนเข็มในการตัดสินใจและให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีผลการดำเนินงานเรื่องของ ESG และความโปร่งใสมากขึ้น
คุณกฤษฎา แพทย์เจริญ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทย HSBC กล่าวย้ำถึงทิศทางว่า “การเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งในส่วนของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และความต้องการของตลาดกลุ่ม sustainability ทั้งในกลุ่ม Investor กองทุนต่าง ๆ ธนาคาร ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง จะคำนึงในการปล่อยกู้นั้น จะพิจารณาเรื่องของ sustainability ประกอบการอนุมัติมากขึ้น และคาดว่า การแก้ไขปัญหาโลกร้อน เมื่อถึงปีค.ศ. 2030 จะมีการใช้เงินสูงถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารจึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
เส้นทางธุรกิจในทุกมิติแม้กระทั่ง “ด้านการเงิน” กำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายลดโลกร้อน เพื่อส่งต่อสภาพภูมิอากาศที่ดีให้กับคนรุ่นถัดไป .... ดังนั้นการลดโลกร้อนทุกคนต้องร่วมมือกัน .....Together To Net Zero เพราะศูนย์ไม่ใช่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยสำหรับทุกคน