ทำไม Buy Now Pay Later ถึงตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ อย่างชาว Gen Z มากที่สุด

ทำไม Buy Now Pay Later ถึงตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ อย่างชาว Gen Z มากที่สุด

22 ม.ค. 2022
เชื่อว่าหลายคนอาจเจอปัญหาในการช็อปปิง เช่น การช็อปปิงออนไลน์ที่บางครั้งมีความยุ่งยากในการที่จะต้องผูกบัตรเครดิต หรือเดบิต เพื่อชำระเงิน
หรือแม้กระทั่งการออกไปเดินซื้อของ แต่พบว่า ในกระเป๋าสตางค์มีเงินไม่เพียงพอ และไม่มีบัตรเครดิต
แต่ปัญหาเหล่านี้ ได้หมดไปด้วยเครื่องมือทางการเงินอย่าง “Buy Now Pay Later” หรือ BNPL ที่กำลังได้รับความนิยม และหลายคนน่าจะรู้จักกันดีแล้ว
ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ BNPL คือการซื้อก่อน แล้วจ่ายทีหลัง
หรือการให้ลูกค้าได้ใช้ผลิตภัณฑ์ และบริการนั้น ๆ ก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินในภายหลัง
ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มที่ให้บริการทางการเงิน ก็จะมีการเรียกเก็บเงินที่แตกต่างกัน
บางที่ต้องจ่ายรวดเดียว บางที่สามารถผ่อนจ่ายได้ หรือบางที่อาจจะมีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มเติมด้วย
ปัจจุบัน มีเจ้าตลาดที่ให้บริการ BNPL อยู่หลายบริษัท เช่น Klarna จากประเทศสวีเดน, Affirm จากประเทศสหรัฐอเมริกา, Afterpay จากประเทศออสเตรเลีย
รวมถึง Visa, Mastercard และ PayPal ผู้ให้บริการบัตรเครดิต และ e-Wallet ก็หันเข้ามาเล่นตลาดนี้เช่นกัน
ขณะที่ในไทย ก็มีผู้เล่นบางรายที่เปิดให้ชำระเงินแบบ BNPL แล้ว เช่น
Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดัง ที่เราสามารถซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม โดยใช้บริการ SPayLater แล้วค่อยชำระเงินทีหลังได้
หรือ กสิกรไทย ธนาคารที่โดดลงมาเล่นตลาดนี้ด้วยตัวเอง ได้เปิดตัวบริการชื่อว่า K Pay Later เช่นกัน
โดยข้อมูลจากทั่วโลก ในปี 2019 พบว่า บริการ BNPL มีมูลค่าคิดเป็น 97,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี
แล้วรู้หรือไม่ว่า กลุ่มคนที่ใช้บริการ BNPL มากที่สุด คือกลุ่มอายุเท่าไร ?
จากการสำรวจของ eMarketer พบว่า ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มอายุที่ใช้บริการ BNPL มากที่สุด คือ Gen Z หรืออายุ 10-25 ปี (เกิดระหว่างปี 1997-2012)
ซึ่งพบว่า ในปี 2020 มีสัดส่วนการใช้ BNPL อยู่ที่ 21.6% เมื่อเทียบกับ Gen Z ทั้งหมดที่เคยทำธุรกรรมออนไลน์ และคาดว่าในปี 2025 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 47.4% เลยทีเดียว..
ขณะที่รองลงมาคือ กลุ่ม Millennials หรืออายุ 26-41 ปี (เกิดระหว่างปี 1981-1996)
โดยในปี 2020 มีสัดส่วนการใช้ BNPL อยู่ที่ 18.0% และคาดว่าในปี 2025 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40.6%
แล้วทำไม BNPL ถึงตอบโจทย์โดนใจกลุ่ม Gen Z มากที่สุด
อย่างแรกก็ต้องดูที่พื้นฐานของช่วงวัย โดยกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคดิจิทัล และเป็นกลุ่มที่เข้าใจดิจิทัลมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเป็นกลุ่มที่ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี หรือบริการใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วที่สุด
กลับกันในขณะที่ ชาว Baby Boomers หรืออายุ 58-76 ปี (เกิดระหว่างปี 1946-1964) เป็นกลุ่มคนที่ผู้ให้บริการ BNPL มองว่า ยากที่จะชนะนิสัยการชำระเงินแบบเดิม ๆ ได้ โดยกลุ่มคนวัยนี้บางส่วนบอกว่า ชอบใช้เงินสด และชอบการใช้บัตร (เครดิตหรือเดบิต) ในการชำระเงินมากกว่า
อย่างที่สอง สำหรับบริการ BNPL หลาย ๆ ผู้ให้บริการ ต่างดึงดูดลูกค้าด้วยการบอกว่า “สมัครง่าย อนุมัติไว”
เช่น Shopee ชูจุดเด่น ไม่มีค่าธรรมเนียมในการสมัคร ไม่มีขั้นต่ำในการใช้งาน อนุมัติไวใน 1 วัน และผ่อนชำระสูงสุด 6 เดือน (แต่มีการคิดดอกเบี้ย ไม่เกิน 15% ต่อปี)
หรือ กสิกรไทย ที่บอกว่า แม้จะไม่มีบัตรเครดิต ก็สมัครได้ ไม่ต้องใช้สลิปเงินเดือน ไม่ต้องยื่นเอกสาร และอนุมัติไวสุดใน 3 นาที
ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งดึงดูดชาว Gen Z ที่มีพฤติกรรมชอบความสะดวก ความรวดเร็ว ไม่ชอบรอคอย ดังนั้น การอนุมัติง่ายและไว จึงตอบโจทย์ชาว Gen Z อย่างมาก
ประกอบกับ ด้วยช่วงวัยที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีรายได้เป็นหลักแหล่ง บางช่วงอายุยังอยู่ในวัยเรียน ไม่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ แต่มีความต้องการที่จะซื้อของทั้งชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ และผ่อนจ่ายทีหลัง เพราะไม่อยากเสียเงินเก็บก้อนใหญ่ไปทีเดียว หรือยังไม่มีเงินมากพอ แต่จำเป็นต้องได้ของในตอนนี้
ดังนั้น บริการ BNPL จึงตอบโจทย์ในจุดนี้เช่นกัน แม้ว่าผู้ให้บริการจะกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมัครที่อายุ 18 ปีขึ้นไปก็ตาม
และอย่างสุดท้าย ไม่ใช่แค่พฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z ที่สอดคล้องไปกับบริการ BNPL เท่านั้น แต่ด้านแบรนด์ต่างประเทศที่จับมือกับผู้ให้บริการ BNPL ต่างก็เป็นแบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นอยู่แล้ว เช่น
- Forever 21 จับมือกับ Afterpay
- H&M และ Charlotte Tilbury จับมือกับ Klarna
- The RealReal ธุรกิจแบรนด์เนมมือสองออนไลน์ จับมือกับ Affirm
และอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยการร่วมมือกันนี้ ทางฝั่งของแบรนด์ก็ถือว่า เป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระเงินของลูกค้าให้มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งพอลูกค้าเห็นว่ามีบริการชำระแบบ BNPL จากแบรนด์ที่พวกเขาใช้เป็นประจำหรือชื่นชอบ ก็อยากลองใช้บริการนี้ดูบ้าง และพอเห็นว่าสะดวกดี ตอบโจทย์ชีวิต ก็จะใช้บริการอีกเรื่อย ๆ และเกิดการบอกต่อ
ขณะที่ด้านผู้ให้บริการ BNPL เอง ก็จะได้ค่าบริการแพลตฟอร์มกับทางร้านค้า เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริการ BNPL จะมีข้อดีหลาย ๆ อย่าง ทั้งสร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริการ และกระตุ้นการขายให้กับร้านค้าได้
แต่ข้อเสียก็คือ หากผู้ใช้บริการใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจทำให้เกิดการเป็น “หนี้” ที่เกินตัวได้
โดยหากผู้ใช้บริการไม่ชำระเงินตามเวลาที่กำหนด ก็จะมีการคิดค่าปรับ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละผู้ให้บริการ
นอกจากนี้ ประวัติการชำระเงินที่ล่าช้าไม่ตรงเวลา อาจถูกรายงานไปยังเครดิตบูโร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อประวัติเครดิตในอนาคตอีกด้วย..
อ้างอิง :
-https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/29-tsi-buy-now-pay-later-new-payment-trend
-https://www.cnbc.com/2021/09/21/how-buy-now-pay-later-became-a-100-billion-industry.html
-https://www.insiderintelligence.com/insights/buy-now-pay-later-gen-z-millennials/
-https://payflex.co.za/merchant-hub/merchant-services/why-gen-z-shopping-habits-are-driving-buy-now-pay-later/
-https://www.netguru.com/blog/bnpl-winning-millennials-genz
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.