“แต่งร้านสวย” ดาบ 2 คม ของธุรกิจคาเฟและร้านกาแฟ

“แต่งร้านสวย” ดาบ 2 คม ของธุรกิจคาเฟและร้านกาแฟ

3 ต.ค. 2021
“ถ้าให้เลือกเป็นเจ้าของธุรกิจสัก 1 อย่าง คุณจะเลือกธุรกิจอะไร ?”
ถ้าคำถามนี้ ถูกถามในช่วง 5-10 ปีก่อน
เชื่อได้เลยว่า จะต้องมีธุรกิจคาเฟและร้านกาแฟ เป็นหนึ่งในคำตอบของใครหลาย ๆ คน
แล้วทำไมธุรกิจคาเฟและร้านกาแฟ จึงเป็นหนึ่งในความฝัน ของคนที่อยากมีธุรกิจส่วนตัว ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
เหตุผลก็อาจมาจากมุมมอง ที่มีต่อการทำธุรกิจคาเฟและร้านกาแฟ ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่จับต้องได้ง่าย เพียงแค่แต่งร้านให้สวยงาม เลือกตั้งอยู่ในทำเลที่ดี และทำการประชาสัมพันธ์ ก็น่าจะเรียกลูกค้าเข้าร้านได้
โดยบางคนอาจชื่นชอบการดื่มกาแฟ หรือไปนั่งชิลในร้านคาเฟบ่อย ๆ จึงนำความชอบนี้ เป็นอีกแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รายละเอียดของการเปิดคาเฟและร้านกาแฟสักหนึ่งร้านนั้น ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มลูกค้าหลักของเราคือใคร, ทำเลควรจะตั้งที่ไหนถึงจะดี, คู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมมีใครบ้าง, แหล่งที่มาของวัตถุดิบ จะรับซื้อมาจากที่ไหน, ชนิดของกาแฟที่ใช้จะเลือกแบบใด
ต้นทุนการเปิดร้านมีอะไรบ้าง, จะทำให้รสชาติถูกปากได้อย่างไร, จะจ้างบาริสตาจากที่ไหน, จะอบรมพนักงานออกมาอย่างไร ให้บริการได้ประทับใจ
และที่สำคัญคือ จะตกแต่งร้านอย่างไร ให้โดดเด่นที่สุด
ทั้งหมดคือองค์ประกอบเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น ที่ทำให้คาเฟหรือร้านกาแฟสักหนึ่งร้านประสบความสำเร็จ
และปฏิเสธไม่ได้ว่า การตกแต่งร้านให้สวยงาม เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ร้านกาแฟมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากร้านอื่น และเป็นที่มัดใจสาวกคอกาแฟ ให้กลายเป็นลูกค้าประจำ
เหตุผลก็เพราะว่า นอกจากการดื่มด่ำรสชาติกาแฟที่อร่อยแล้ว บรรยากาศก็เป็นเหมือนศิลปะที่คอกาแฟใช้เสพ เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในระหว่างที่ลิ้มรสความหอมของกาแฟ นั่นเอง
แต่ในขณะเดียวกัน “การแต่งร้านสวย” ถ้าพิจารณาดี ๆ แล้ว จะเปรียบเสมือนดาบ 2 คม สำหรับเจ้าของธุรกิจ เพราะก่อให้เกิดทั้งข้อดีและข้อด้อย
ข้อดี เช่น
- เป็นจุดดึงดูดสายตาและสร้างเอกลักษณ์ให้กับร้าน
บรรยากาศร้านมีผลต่อธุรกิจอย่างมาก เพราะคอกาแฟหลายคน นอกจากพิจารณาที่รสชาติ และฝีมือการชงกาแฟแล้ว ยังมองไปถึงสไตล์ของร้าน ว่ามีความน่าสนใจและน่าดึงดูดมากแค่ไหน
เพราะฉะนั้นบรรยากาศหรือธีมของร้าน จึงเปรียบเสมือนรักแรกพบ หรือ Love at First Sight เพราะความประทับใจแรกของผู้บริโภค คือ บรรยากาศของร้านที่มีเสน่ห์ นั่นเอง
- ได้พื้นที่สื่อฟรีจากลูกค้า
ร้านที่สวยและมีเอกลักษณ์ จะดึงดูดเหล่า Café Hopping ได้เป็นจำนวนมาก
Café Hopping เป็นคำที่เกิดมาจากการรวมกันระหว่าง คำว่า Café ที่แปลว่า ร้านกาแฟ และ Hopping ที่แปลว่า กระโดด
ดังนั้น Café Hopping จึงหมายถึง คนที่ชอบเข้าคาเฟอยู่เป็นประจำ ไปหลายสถานที่ในหนึ่งวันหรือภายในสัปดาห์ โดยอาจจะชอบดื่มกาแฟหรือไม่ก็ได้
เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้าน ก็มักจะชอบถ่ายรูปบรรยากาศ เครื่องดื่ม และอาหาร เพื่อโพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดีย
เมื่อร้านเป็นที่นิยมและถูกพูดถึงปากต่อปาก บล็อกเกอร์ต่าง ๆ ก็จะมารีวิวที่ร้าน ทำให้ได้พื้นที่สื่อเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ดึงดูดคนมาเข้าร้านอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ
เมื่อมีข้อดีแล้ว ก็ต้องมีข้อด้อยเป็นของคู่กัน
ข้อด้อย เช่น
- ต้นทุนในการตกแต่งร้านอาจสูงเกินกำลัง
การทำร้านให้สวย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคาเฟและร้านกาแฟ
แต่บางครั้งถ้ายึดติดกับเรื่องนี้มากเกินไป อาจทำให้ต้องลงทุนมหาศาล เพื่อตกแต่งร้านให้ออกมาเพอร์เฟกต์ หรือคิดว่าถูกใจเรามากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเรื่องเกินความจำเป็นต่อลูกค้า
และทำให้ธุรกิจถูกกดดัน เพราะต้องเร่งหารายได้มาคืนทุนให้เร็วที่สุด
สุดท้ายแล้ว ร้านอาจส่งผ่านต้นทุนตกแต่งร้าน ไปยังลูกค้าผ่านเมนูต่าง ๆ ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านคิดค่าเครื่องดื่มแพงเกินไป
- อาจเผชิญสถานการณ์รายได้สวนทางกับจำนวนลูกค้า
เมื่อมีลูกค้าเข้าร้านเป็นจำนวนมาก สิ่งที่สะท้อนออกมา น่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น
แต่สำหรับคาเฟและร้านกาแฟ อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เพราะ Basket Size หรือมูลค่าเฉลี่ยในการซื้อสินค้าใน 1 ครั้ง ต่อลูกค้า 1 คนนั้น น้อยกว่าความเป็นจริง
เช่น วันนี้ร้านทำยอดขายได้ 10,000 บาท และมีคนซื้อสินค้าจำนวน 50 คน แสดงว่า Basket Size ของร้านนี้คือ 200 บาท แต่ในความเป็นจริงนั้น มีลูกค้าเข้าร้านในจำนวนที่มากกว่านั้น โดยมีทั้งหมดประมาณ 100 คน
ลูกค้าจำนวนที่เกินมา 50 คน เท่ากับว่าไม่ได้ซื้อสินค้าแต่อย่างใด เพราะเป็นลูกค้าที่มาด้วยกัน แล้วเข้ามาถ่ายรูปในร้าน ซึ่งบางรายก็อาจใช้เวลานาน 2-3 ชั่วโมง
และยิ่งบรรยากาศร้านสวยโดนใจ ลูกค้าก็อาจยิ่งใช้เวลาถ่ายรูปและนั่งนานขึ้น
ซึ่งถ้าร้านมีพื้นที่จำกัด จุดนี้ก็อาจเป็นข้อเสียเปรียบที่ทำให้ร้าน มีต้นทุนค่าเสียโอกาส จากลูกค้าที่รอเข้ามาใช้บริการในร้านด้วยเช่นกัน
จากข้อด้อยดังกล่าว นับว่าเป็นปัญหาที่คาเฟและร้านกาแฟ มักพบเจอ
แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะหาทางออกให้กับธุรกิจได้อย่างไร ?
วิธีสำหรับการป้องกันปัญหา ในกรณีที่ลูกค้านั่งนานและไม่สั่งเครื่องดื่มหรืออาหารเพิ่ม มีตัวอย่างอยู่ 3 วิธีด้วยกัน
1) เลือกใช้เก้าอี้ ที่ไม่สบายเกินไป
การเลือกใช้เก้าอี้ ที่มีลักษณะแข็ง และนั่งได้ไม่สบายจนเกินไป จะเป็นอีกกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้า นั่งได้ไม่นานและลุกออกจากร้านเร็วขึ้น
2) จำกัดเวลา Wi-Fi หรือไม่มีที่เสียบปลั๊กให้บริการ
ควรจำกัดเวลาการใช้งาน Wi-Fi ไว้ในใบเสร็จ เช่น ต่อหนึ่งใบเสร็จสามารถใช้งาน Wi-Fi ได้ไม่เกิน 1.30 ชั่วโมง เมื่อหมดชั่วโมงแล้ว หากอยากนั่งต่อ ต้องสั่งอาหารใหม่ เพื่อใช้งานสัญญาณ Wi-Fi ได้ต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การไม่มีปลั๊กไฟภายในร้าน จะทำให้ลูกค้าไม่มีที่ชาร์จไฟสำหรับแล็ปท็อปและมือถือ ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาการนั่งของลูกค้าให้ไม่นานจนเกินไป
3) ใช้เสียงเพลงสร้างบรรยากาศ ให้ไม่ชิลจนเกินไป
การสร้างบรรยากาศด้วยเสียงเพลงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมีงานวิจัยจากหลากหลายแห่งออกมายืนยันแล้วว่า เสียงเพลงมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และการหลั่งสารเคมีในสมองของมนุษย์
โดยการเลือกใช้เพลงเร็ว เพลงแรป ในระดับที่ค่อนข้างดัง จะทำให้ลูกค้ารู้สึกกระฉับกระเฉง ไม่ชิลจนเกินไป และลุกออกจากร้านได้เร็วขึ้น
อย่างไรตาม วิธีต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างไป ทางร้านต้องชั่งน้ำหนัก ไม่ให้นำไปใช้งานแบบสุดโต่งเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในระยะยาว เช่น การไม่เปิดให้ใช้งาน Wi-Fi ภายในร้าน หรือเปิดเพลงเร็วเกินไป ซึ่งไม่เหมาะกับบรรยากาศ ก็อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกแย่ และไม่อยากกลับมาใช้บริการอีก
ทั้งหมดนี้ คือมุมมองที่มีต่อ การตกแต่งร้านให้สวยงาม ซึ่งเป็นเหมือนดาบ 2 คม ของธุรกิจคาเฟและร้านกาแฟ
ซึ่งหากเราศึกษา และพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทย
เราก็จะหาทางแก้ปัญหา ที่มักเกิดกับธุรกิจคาเฟและร้านกาแฟได้ง่ายขึ้น
การตกแต่งร้านให้สวยงาม เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในธุรกิจที่ใช้ภาพลักษณ์และบรรยากาศในการดึงดูดลูกค้า แต่อย่าลืมว่า รสชาติอาหาร การบริการ และปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ก็สำคัญไม่แพ้กัน..
อ้างอิง :
-https://bit.ly/3z5KKrj
-https://www.matichonacademy.com/content/article_33889
-https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/how-to-build-up-your-coffee-cafe-kingdom?mobile=true
-https://ocha.in.th/blog/post/5-ways-protect-customer-sitting-too-long
-https://www.bltbangkok.com/news/30475/
-https://www.thumbsup.in.th/low-pricing-strategy
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.