“Sizzler” ปรับตัวอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และสร้างการเติบโตของธุรกิจ

“Sizzler” ปรับตัวอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และสร้างการเติบโตของธุรกิจ

11 มี.ค. 2021
วิกฤติโควิด 19 ที่ส่งสัญญาณดีขึ้น ทำให้ Sizzler กลับมาเติบโตได้อีกครั้งก็จริง
แต่หากต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่อง Sizzler จึงต้องมีถึง​ 3 กลยุทธ์
นอกจากการขยายสาขา Dine in ซึ่งยังเป็น Core Business
ปีนี้ Sizzler ยังตั้งเป้าขยายอีก 4-5 สาขา ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 54 สาขา
พร้อมกันนี้​ยังเดินเกมรุกแบบคู่ขนาน ทั้งดิลิเวอรีและการขยายสาขา Sizzler to go
ซึ่งล่าสุด เพิ่งเปิดสาขาที่ 7 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ
นับเป็นครั้งแรกในการเปิดตลาดใหม่ เพราะที่ผ่านมา Sizzler เน้นขยายตามสถานีรถไฟฟ้า
โดยรูปแบบสาขาใหม่ มีพื้นที่ 200 ตารางเมตร จะประกอบด้วยร้านอาหารและเครื่องดื่มในเครือไมเนอร์ 3 แบรนด์ ได้แก่ Sizzler, Burger King และ The Coffee Club ด้วยกัน
แล้วทำไม Sizzler.. ถึงกระโดดมาขยายสาขาในโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก
คุณกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ Sizzler เฉลยว่า เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้า​ และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่รักสุขภาพ
นอกจากนี้ สาขาใหม่นี้ ยังเป็นการแก้ Pain Point ของลูกค้า ซึ่งมองว่า Sizzler to go ยังขาดเสน่ห์ของแบรนด์ที่โดดเด่น อย่างสลัดบาร์และสเต๊ก
จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว​เมนู​ Salad Bar to Salad Bowl​
โดยลูกค้าเลือกวัตถุดิบในจานสลัดของตัวเองได้ตามใจชอบ เหมือนการเดินตักสลัดเองที่ร้าน
หรืออย่างเมนู​ Steak Box​ นำเสนอเมนูสเต๊กซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ ​มาอยู่ในรูปแบบข้าวกล่องที่สะดวกต่อการพกพา
รวมถึงเมนูจานเดียว อย่าง​ Poke Bowl เมนูข้าวคลุกกับผักนานาชนิดเข้ากันได้อย่างลงตัว กับซอสหลากหลายรสชาติ
โดยทั้ง 3 เมนูดังกล่าว จะนำร่องขายที่ Sizzler to go สาขา รพ. กรุงเทพ เป็นแห่งแรกเท่านั้น
ถามว่าในอนาคตมีแผนขยาย Sizzler to go เวอร์ชันอัปเกรดนี้ไปในที่อื่นหรือไม่
ผู้บริหาร Sizzler ตอบชัดว่ามีโอกาส เพราะเฉพาะเครือรพ. กรุงเทพ เองก็ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งในเครือ
สอดคล้องกับเป้าหมายของแบรนด์ ซึ่งปีนี้มีแผนขยาย Sizzler to go ต่อเนื่อง
โดยจะโฟกัสในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะขยายไปยังหัวเมืองต่างจังหวัด
ส่วนโมเดล Subscription ที่หลายธุรกิจหันมาให้ความสนใจ
คุณกรีฑากร ยอมรับว่า คิดและเตรียมการมาแล้วระดับหนึ่ง เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสม
เพราะโจทย์ของการทำ Subscription คือ นอกจากเมนูต้องมีความหลากหลาย ยังต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการหลังบ้าน
“จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเคยลองสั่งอาหารในรูปแบบ Subscription
ซึ่งทางร้านจะจัดส่งให้เป็นรายสัปดาห์
ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า การที่เราต้องนำอาหารมาฟรีซไว้ในตู้เย็น
ให้ความรู้สึกไม่เหมือนกับการได้กินอาหารที่ปรุงสดใหม่
นี่เลยเป็นโจทย์ที่ทำให้ทีมยังต้องตีให้แตกว่า จะทำอย่างไร ที่จะแก้ช่องว่างตรงนี้ให้ได้
เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการนำเสนอกลยุทธ์อะไรใหม่ ๆ ของ Sizzler ออกมา
เราประเมินจากสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ มากกว่าคู่แข่งทำอะไร”
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.